นักวิทยาศาสตร์กังวลใจ! เหตุ 'ดอกไม้บานในแอนตาร์กติกา' โลกอาจหายนะ หากมนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม...

ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ชวนตามติดข่าววิทย์ทุกวันเสาร์ สัปดาห์นี้แวดวงวิทยาศาสตร์มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อภาพดอกไม้สีสันสดใส เบ่งบานท่ามกลางหินในแอนตาร์กติกา ถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์ จนเกิดข้อสงสัยว่า "ดอกไม้เติบโตในทวีปที่หนาวสุดขั้วแบบนั้นได้อย่างไร" เพราะปกติแล้วจะมีพืชอยู่เพียงบริเวณหมู่เกาะเซาท์ออร์กนีย์ หมู่เกาะเซาท์เชตแลนด์ และแนวคาบสมุทรแอนตาร์กติกตะวันตก แต่ตอนนี้กลับมีพืชขึ้นในที่ที่เคยถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและหิมะ

ทวีปแอนตาร์กติกบริเวณขั้วโลก ถือเป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพืชและสัตว์มากที่สุด ในภูมิภาคนี้ชีวิตเหล่านั้น ต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายประการ เช่น อุณหภูมิต่ำ ลมแรง และชีวิตจะยากลำบากยิ่งขึ้น เมื่อทวีปแอนตาร์กติกเข้าสู่ความมืดมิดในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอุณหภูมิสามารถดิ่งลงได้ถึง -60°C หรือต่ำกว่านั้น

ด้วยสภาพอากาศที่สุดขั้วขนาดนี้ การเกิดขึ้นของ ดอกของหญ้าขนแอนตาร์กติก (Deschampsia Antarctica) และ เพิร์ลเวิร์ตแอนตาร์กติก (Antarctic Pearlwort) ที่เป็นประเด็นอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แถมยังสร้างความไม่สบายใจให้นักวิทยาศาสตร์ เพราะมันทำให้เห็นว่า 'น้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว' และ 'ระบบนิเวศกำลังเปลี่ยนไป'

...

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปเข้าใจถึงความกังวลใจ และสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดคะเน ผ่านการพูดคุยกับ 'ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์' รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์
ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์

การเปลี่ยนแปลงของแอนตาร์กติกา :

อาจารย์สุชนา เป็นนักวิจัยไทยที่เคยมีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และภาวะโลกร้อน ที่ขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกาถึง 2 ครั้ง เมื่อ ค.ศ. 2009 และ ค.ศ. 2014 ทำให้พบสิ่งผิดปกติ 2 อย่าง คือ (1) พฤติกรรมการกินของปลาเปลี่ยนไป (2) พบปรสิตภายนอกบนตัวปลา 

ค.ศ. 2009 พบว่าพฤติกรรมการกินของปลาเปลี่ยนไป เนื่องจาก ค.ศ. 2004 หรือ 5 ปีก่อนการเดินทางครั้งแรกของอาจารย์สุชนา ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานสถาบันเดียวกัน ทำการศึกษาและพบว่า ปลาขั้วโลกใต้จะกินแต่ 'กุ้งเคย' ที่คล้ายบ้านเรา (แค่ตัวใหญ่กว่า) แต่ ค.ศ. 2009 ปลาเริ่มกินปลาด้วยกันเอง จึงเก็บตัวอย่างปลาแช่แข็งรักษาสภาพ เพื่อนำกลับมาผ่าท้องพิสูจน์ใต้กล้องจุลทรรศน์ ทำให้พบเศษซากสัตว์ทะเลอื่นๆ และพบอาหารอยู่ในทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ลักษณะนี้คล้ายกับพวกมันกินทุกอย่างที่ขวางหน้า เนื่องจากปริมาณกุ้งเคยลดลง จึงคงต้องทำเช่นนี้เพื่อปรับพฤติกรรมให้มีชีวิตรอด และเพื่อสะสมพลังงาน 

ค.ศ. 2014 พบพยาธิกลุ่มพวก Ectoparasite จำนวนมากเกาะอยู่ด้านนอกของตัวปลา พวกมันเปรียบเสมือนปรสิตที่กำลังโจมตีทวีปแอนตาร์กติก เพราะปกติแล้วพยาธิเหล่านี้จะเจริญได้ดีเฉพาะในน้ำอุ่น แต่ถึงอย่างนั้นในทะเลน้ำอุ่นก็ยังมีโอกาสพบพยาธิได้น้อย และที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติการค้นพบพยาธิภายนอกตัวปลาทะเลเขตหนาว  

ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด คือ มี 'ดอกไม้บาน' ที่แอนตาร์กติกา อาจารย์ให้ความเห็นว่า เนื่องจากตอนนี้อุณหภูมิขั้วโลกใต้ (รวมถึงขั้วโลกเหนือ) สูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ฉะนั้นที่มนุษย์เคยกังวลว่า อุณหภูมิจะสูงขึ้นหลังสิ้นศตวรรษนี้ คงไม่ต้องรอให้ถึงเวลานั้น เพราะมัน 'เกิดขึ้นแล้ว' จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ดอกไม้จะโตเร็วและมากขึ้นกว่าเดิม

ทวีปนี้ถือเป็นทวีปที่หนาวที่สุดของโลก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีพืชเกิดขึ้นเลย แค่มัน 'มีน้อยมาก' มีพืชประจำถิ่น เช่น มอส เฟิร์น ฯลฯ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกังวลก็คือ 'พืชดอก' เหล่านี้กำลังเติบโตเร็ว และจะทำให้มอสหรือไลเคน ไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้ สุดท้ายจะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงและเสียหาย ราวกับว่าเป็นความสวยงามที่แฝงไปด้วยหายนะ

...

การคาดคะเนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง : 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ณ แอนตาร์กติกา นอกจากจะทำให้เห็น 'ดอกไม้บานในที่ที่ไม่ควรอยู่' ยังเป็นสัญญาณบอกว่า 'น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น' อ่านมาตรงนี้หลายคนอาจจะยังสงสัย และตั้งคำถามในใจว่า "แล้วเกี่ยวกับเรายังไง?" ซึ่งมันเกี่ยวอย่างแน่นอน เพราะเมื่อน้ำแข็งละลายก็จะกลายเป็นน้ำ และน้ำก็จะไหลสู่ทะเล

อาจารย์สุชนา ระบุว่า สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เป็นห่วงก็คือ น้ำแข็งที่ละลายจะหนุนให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันน้ำทะเลของประเทศไทยก็สูงขึ้นในทุกๆ ปี ปีละประมาณ 2-3 มิลลิเมตร อาจดูเหมือนเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ถ้าคิดต่อว่า หากเป็นเช่นนี้สัก 10 ปี เท่ากับว่าน้ำจะสูงขึ้น 2-3 เซนติเมตร ถือว่าเป็นปริมาณที่เยอะพอจะกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้วบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี 

นอกจาก 'ดอกไม้บาน' และ 'น้ำแข็งละลาย' อาจารย์ยังแสดงความกังวลว่า ในอนาคตเราอาจจะไม่ได้เห็น 'เพนกวิน' หรือ 'แมวน้ำ' ที่ขั้วโลกเหนืออีก เพราะแหล่งอาหารของพวกมันกำลังลดน้อยลง...

...

ครั้งล่าสุดที่อาจารย์สุชนาได้ไปเยือนแอนตาร์กติกา (ค.ศ. 2014) พบว่าจำนวนลูกเพนกวินลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากที่ผ่านมา อัตราการรอดอยู่ที่ประมาณ 50% แต่ครั้งนั้นอยู่ที่ประมาณ 10% "เราเห็นมันนอนตายกันเยอะมากจนน่าสงสาร เป็นภาพที่หดหู่มาก"

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพฤติกรรมสัตว์เปลี่ยนไป เมื่อก่อนถ้าพ่อเพนกวินไปหาอาหาร จะไปเพียง 3-4 วัน และปล่อยให้แม่เพนกวินดูแลลูก เมื่อพ่อกลับมา แม่ก็จะออกไป วนเวียนอยู่แบบนี้ แต่ตอนนี้โลกร้อนทำให้อาหารลดลง พ่อเพนกวินออกไปหาอาหารนานขึ้น เนื่องจากต้องเดินทางไกล บางครั้งอาจจะไปมากกว่า 1 อาทิตย์ ทำให้แม่เพนกวินต้านความหิวไม่ไหว จึงต้องออกไปหาอาหารและทิ้งลูกน้อยให้อยู่เพียงลำพัง ผลสุดท้ายลูกเพนกวินก็ต้องนอนแข็งตายเพราะไร้พ่อแม่คอยดูแล 

...

อย่างที่บอกไปว่าแอนตาร์กติกา มีแต่หญ้าหรือพืชเตี้ยๆ ครั้นจะให้หาต้นไม้ใหญ่คล้ายพื้นที่ทั่วไปก็คงไม่มี แต่ถ้าสถานการณ์โลกร้อนไม่ดีขึ้น อาจารย์สุชนากังวลว่า "ในอนาคตอาจจะมีต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้น แต่ถ้ามีจริงๆ ก็คงไม่ได้งอกขึ้นมาจากตรงนั้น แต่เกิดจากการอพยพมาของสัตว์ต่างถิ่น ที่เข้าสู่ขั้วโลกมากขึ้น เช่น เกสรพืชอาจจะติดมากับสัตว์ปีกหรือแมลง หรือเมล็ดพืชต่างๆ ที่มาจากการขับถ่ายของสัตว์ปีก เมื่อทุกอย่างได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะเติบโตได้ และระบบนิเวศก็จะเปลี่ยนไป"

อาจารย์ยกตัวอย่าง จากการเดินทางไปขั้วโลกเหนือครั้งล่าสุด (ค.ศ. 2018) พบ 'แมงกะพรุน' จำนวนมาก ซึ่งนั่นไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ของพวกมัน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิน้ำและบกสูงขึ้น โอกาสที่สัตว์ต่างถิ่นจะอพยพมาก็มีมากขึ้นด้วย

ปัจจัยหลักแห่งการเปลี่ยนแปลง :

ปรากฏการณ์และการคาดคะเนที่กล่าวมานั้น เป็นผลสืบเนื่องจาก 'การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' และ 'ภาวะโลกร้อน' 

ก๊าซเรือนกระจก (GHGs) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกิจกรรมของมนุษย์ ถือเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน เมื่อก๊าซเหล่านี้ถูกปล่อย ไม่ว่าจะจากแห่งใดในโลก แต่ เมื่อโลกหมุนและลมพัด พวกมันจะลอยไปตกที่ ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทั้งสองขั้วโลกจึงเปรียบเสมือน 'ภาชนะรองรับของเสียของโลก' พอทุกอย่างไปสุมตรงนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงเห็นได้ชัดกว่าจุดอื่น

"ปกตินักวิทยาศาสตร์อย่างพวกเราจะบอกกันเสมอว่า หลายครั้งที่คนชอบคิดว่า โลกร้อนจริงหรือเปล่า สภาพอากาศเปลี่ยนจริงไหม ก็เพราะว่าเราอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้หลายครั้งไม่เห็นความแตกต่าง แต่ที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เหมือนเป็นปราการด่านแรก ที่เป็นตัวชี้วัดได้ว่าโลกได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แม้ประเทศไทยจะห่างจากขั้วโลกเป็นหมื่นกิโลเมตร แต่ถ้าจุดนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบก็จะค่อยๆ ส่งผลกับเราแน่นอน เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์" อาจารย์สุชนากล่าว

ภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาเป็น 10 ปีแล้ว แค่ตอนนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก ทำให้ภาพความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลง ถูกถ่ายทอดให้เห็นได้ชัดขึ้น สิ่งเดียวที่มนุษย์ต้องทำต่อจากนี้ คือ 'คิดและวางแผน' ว่า จะชะลอสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร ไม่ใช่ว่า 'เปลี่ยนแปลงแต่ไม่ทำอะไร'

อาจารย์สุชนา ฝากข้อความทิ้งท้ายถึงทุกคนว่า "อย่างน้อยเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ควรจะเกิดขึ้นอีกสัก 100 ปี ข้างหน้า แต่กิจกรรมของมนุษย์ก็เป็นตัวเร่งทุกอย่าง ตอนนี้เราไม่สามารถหยุดทุกอย่างได้ แต่ไม่สายเกินไปที่จะชะลอ มนุษย์คงจะเห็นชัดแล้วว่า โลกได้รับผลกระทบจากโลกร้อนจริงๆ คงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกันให้ได้มากที่สุด ตอนเกิดโควิด-19 ยังมีวัคซีนป้องกันให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าโลกร้อนและน้ำแข็งละลายจนน้ำท่วม คงไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ทำให้โลกกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :