เปิดสถิติการก่ออาชญากรรมของเยาวชน การคงอยู่ของอาวุธปืน และผลการจับกุมของตำรวจ ก่อนเหตุเศร้าสลดใจกลางกรุงที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว...

เหตุการณ์กราดยิงอันแสนเศร้าสลดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย กลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง ด้วยน้ำมือของเยาวชนอายุเพียง 14 ปี ภายในห้างสรรพสินค้าสุดหรูหราใจกลางกรุง ที่กำลังคลาคล่ำไปด้วยประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวนมากที่กำลังใช้ชีวิตกับคนที่รักด้วยความปรกติสุข หนำซ้ำยังอยู่ห่างจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น!

“อาวุธปืน” และ “การก่ออาชญากรรมของเยาวชน” ถือเป็นภัยคุกคามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์มากน้อยเพียงใด วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกันสำรวจข้อมูลเหล่านั้นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในประเด็นนี้กันดู

สถิติการก่ออาชญากรรมของเยาวชนในประเทศไทย : 

จากรายงานของกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ระบุว่าในปี 2565 จากจำนวนคดีเด็กและเยาวชนซึ่งถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯทั่วประเทศ ทั้งหมด 12,192 คดี ในจำนวนนี้ มากถึง 6,306 คดี หรือคิดเป็น 51.72% นั้น ผู้ที่กระทำความผิด มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา 

...

ขณะที่เมื่อมีการจำแนกตามฐานความผิด พบว่า คดีที่มีฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย นั้นมีจำนวนมากถึง 1,695 คดี หรือคิดเป็น 13.90% ซึ่งสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ส่วนลำดับที่ 1 คือ คดีที่มีฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 1,828 คดี หรือ 14.99%

ด้านคดีเด็กและเยาวชนที่ศาลพิพากษาตัดสินในปีงบประมาณ 2565 จำแนกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลนั้น พบว่า จากจำนวนทั้งหมด 12,192 คดี นั้น แยกย่อยได้ดังต่อไปนี้ 

1.การคุมประพฤติ 176 คดี (1.44%) 

2.จำคุก 24 คดี (0.20%) 

3.ใช้วิธีการอื่นแทน 343 คดี (2.81%)

4.ปรับ 33 คดี (0.27%)

5.ควบคุมตัวเพื่อฝึกและอบรม 2,594 คดี (21.28%)

6.ไม่ต้องรับโทษ แต่ใช้วิธีอื่นสำหรับเด็ก 715 คดี (5.86%)

7.ไม่มีความผิด แต่ใช้วิธีอื่นสำหรับเด็ก 130 คดี (1.07%)

8.ไม่มีความผิด ให้ยกฟ้อง 31 คดี (0.25%)

9.ว่ากล่าวตักเตือน 216 คดี (1.77%)

10.โอนคดีไปศาลอื่น 3 คดี (0.02%)

11.อื่นๆ 25 คดี (0.21%)

12.ไม่ระบุ 7,902 คดี (64.81%)

จำนวนอาวุธปืนทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายในประเทศไทย : 

เว็บไซต์ Gunpolicy.org ซึ่งเก็บรวบรวมสถิติการครอบครองอาวุธปืนในประเทศต่างๆทั่วโลก ประเมินว่า ประเทศไทยมีจำนวนปืน (ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) ที่พลเรือนถือครอง ณ สิ้นสุดปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 7,223,455 กระบอก 

โดยแยกเป็นอาวุธปืนที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ประมาณ 6,019,546 กระบอก และอาวุธปืนผิดกฎหมายประมาณ 1,203,909 กระบอก  

ขณะที่การประเมินอัตราการถือครองอาวุธปืนต่ออัตราส่วนประชากร 100 คน อยู่ที่สัดส่วน 10.47 กระบอกต่อประชากร 100 คน ด้านการประเมินอัตราการถือครองอาวุธปืนผิดกฎหมายต่ออัตราส่วนประชากร 100 คน อยู่ที่สัดส่วน 1.7 กระบอกต่อประชากร 100 คน

ส่วนจำนวนปืนพก ที่อยู่ในความครอบครองของพลเรือนในประเทศไทย ในปี 2012 (ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) อยู่ที่ประมาณ 3,744,877 กระบอก 

...

สถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในประเทศไทย : 

อ้างอิงจากเว็บไซต์ World population review ระบุว่า ปี 2019 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน 2,804 ศพ หรือ มีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน

ขณะที่เว็บไซต์ Smallarmssurvey.org ระบุว่า ปี 2020 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน 1,512 ศพ หรือ มีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเฉลี่ย 2.17 ศพ ต่อประชากร 100,000 คน

สถิติคดีและการจับกุมฐานความผิดอาวุธปืนในประเทศไทย : 

จากสถิติคดีอาญา (คดี 4 กลุ่ม) ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า...สำหรับ กลุ่มที่ 1.ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและเพศ นั้น คดีฆ่าผู้อื่น จากจำนวนคดีที่รับแจ้ง 1,168 คดี สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ 1,092 คดี และจับกุมผู้ต้องหา ได้ 1,471 คน 

...

ลำดับถัดมา คดีทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากจำนวนคดีที่รับแจ้ง 400 คดี สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ 388 คดี และจับกุมผู้ต้องหา ได้ 524 คน ส่วนคดีพยายามฆ่า จากจำนวนคดีที่รับแจ้ง 1,638 คดี สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ 1,550 คดี และจับกุมผู้ต้องหา ได้ 2,029 คน

ส่วนกลุ่มที่ 4. คดีความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย นั้น ในคดีอาวุธปืนธรรมดา (ไม่มีทะเบียน) สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ 25,255 คดี และจับกุมคนร้ายได้ 23,153 คน

คดีอาวุธปืนสงคราม (ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้) สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ 694 คดี และจับกุมคนร้ายได้ 609 คน 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

...