เหตุระทึกกลางกรุงคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อเวลาประมาณ 4 โมงเย็นวันที่ 3 ต.ค. ทำให้ผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีตายอลหม่าน และตำรวจได้เข้าปิดล้อม กระทั่งสามารถจับกุมคนร้ายได้เป็นเยาวชนชายวัย 14 ปี ยอมมอบตัวกับตำรวจแต่โดยดี พร้อมกับปืนก่อเหตุยี่ห้อกล็อก กึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. 

เคสต่างประเทศส่วนใหญ่ เกิดจากความกดดันต้องการระบาย

ส่วนแรงจูงใจในการก่อเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ “ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา กล่าวว่าขณะนี้เรายังไม่สามารถรู้ว่าผู้ก่อเหตุยิงใคร มีความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ และมีเหตุจูงใจอะไรในใจ ต้องมีการสอบสวนให้ได้ข้อมูลมากขึ้น แต่การเข้าถึงปืนของเยาวชนรายนี้ เป็นประเด็นสำคัญ เพราะผู้ปกครองเก็บปืนไว้ไม่ดี หรืออาจซื้อทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่ระบบรักษาความปลอดภัยในห้าง ต้องยอมรับว่าไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง และเยาวชนผู้ก่อเหตุแต่งชุดอำพรางรัดกุม

“ปกติแล้วผู้อยู่ในภาวะอย่างนี้ในเคสต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กมีความกดดัน ต้องการระบายความคั่งแค้นออกมา แต่สิ่งสำคัญทำไมเด็กเข้าถึงปืนได้ เพราะปกติการเก็บปืนจะต้องไม่ให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย อาจต้องทบทวนในเรื่องนี้ อย่างในญี่ปุ่น การจัดเก็บปืนไว้ที่ไหน มีความปลอดภัยหรือไม่ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ”

...

จี้ห้างออกแบบพื้นที่หลบภัย จุดซ่อนตัว กรณีเกิดเหตุร้าย

ขณะที่ห้างต่างๆ ในไทย ไม่มีจุดหลบภัยหรือบังเกอร์ หากคนวิ่งหนีแตกตื่นอย่างกระจัดกระจายจะมีโอกาสถูกยิงได้ง่าย และอาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ หากผู้ก่อเหตุยิงไปทั่ว ไม่ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรมีการออกแบบพื้นที่หลบภัยหรือจุดพักซ่อนตัวกรณีเกิดเหตุร้าย และสร้างเส้นทางลำเลียงระบายคนออกจากห้าง ซึ่งในต่างประเทศให้ความตระหนักในเรื่องนี้

จากบทเรียนในต่างประเทศในโลกสมัยใหม่ พบว่าเรื่องความกดดันเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอ ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำ ยิ่งเหลื่อมล้ำต่อไป โดยเฉพาะความเก็บกดของคน อย่างเหตุกราดยิงในโรงเรียนในสหรัฐฯ เคยมีกรณีเด็กผู้ก่อเหตุได้โพสต์ลงโซเชียลว่าจะกราดยิงก่อนจะก่อเหตุ เป็นพฤติกรรมที่มักจะทำอะไรไม่ค่อยแคร์ และในกรณีนี้ต้องไปไล่ดูไทม์ไลน์ อาจมีการโพสต์แปลกๆ ก็ได้ ก่อนเกิดเหตุ.