บุกสำรวจ 'เมืองศรีเทพ' มรดกโลกป้ายแดง กับปัญหาการพัฒนาที่ยังโตไม่ทันรับการท่องเที่ยว...

หลังจาก คณะกรรมการมรดกโลก หรือ ยูเนสโก ประกาศให้ 'เมืองโบราณศรีเทพ' และแหล่งต่อเนื่อง ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้เดินทางไปสำรวจ "เมืองศรีเทพ" จังหวัดเพชรบูรณ์

ค่าเข้าชมเมืองศรีเทพ : 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับเข้าชม ชาวไทย คนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท และยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ สามเณร ในพระพุทธศาสนา หรือนักบวชในศาสนาอื่นๆ และหากนำยานพาหนะมาเอง จะต้องเสียค่าจอดรถยนต์ คันละ 50 บาท

...

เศรษฐกิจคึกคัก :

บริเวณทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโต๊ะขายของจากชาวบ้าน ที่พากันมาหารายได้ 'พี่ศักดา' ชาวบ้านที่มานั่งขายของตรงทางเข้า บอกกับเราว่า ช่วงหลังจากประกาศ คนมาเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้ขายของได้ดีขึ้น รายได้เริ่มกระจายสู่ชุมชน

ทางด้าน 'ครูต๊ะ' หนึ่งในครูที่พานักเรียนมาออกบูธที่เขาคลังนอก เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า "แต่ก่อนที่นี่จะเงียบมาก ตอนมาบรรจุใหม่ๆ ไม่มีอะไรเลย หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็มีคนทยอยเดินทางมามากขึ้น ทางองค์การบริหารได้จัดทำถนน และดูแลความสะอาดเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น และชาวบ้านก็หันมาดูแลรักษาโบราณสถานมากขึ้น"

ปัญหาที่จอดรถ ห้องน้ำ และการจัดการพื้นที่ :

แน่นอนว่าพอมีคนมาท่องเที่ยวเยอะขึ้น ปริมาณรถและผู้คนก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้วันที่เราเดินทางไปศรีเทพ ดูเหมือนว่า พื้นที่จอดรถของอุทยานฯ จะไม่เพียงพอต่อการรองรับรถยนต์

นอกจากนั้นห้องน้ำของอุทยานฯ ที่อยู่หน้าทางเข้า ก็ยังมีน้อย และอาจจะไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นกัน แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะอาดของห้องน้ำอยู่ตลอด แต่ น้ำที่ใช้ในการกดชักโครกมีสีออกไปทางน้ำตาล ซึ่งทีมข่าวฯ มองว่า นี่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข

...

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจที่ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า 'ดีขึ้น' ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่ง และสิ่งที่ต้องชื่นชม คือ พ่อค้าแม่ขายทุกคนรักษาความสะอาดของบริเวณนั้นได้ดีทีเดียว แต่ อาจจะต้องมีการจัดระเบียบแผงขายของหน้าอุทยานฯ ให้เรียบร้อยมากขึ้น เพื่อป้องกันการกีดขวางการจราจร

หลังจากสังเกตพื้นที่ด้านหน้าอุทยานฯ เรียบร้อยแล้ว ทีมข่าวฯ ได้ไปขึ้นรถรางเพื่อเข้ามาในเขต อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ด้านในนั้นเต็มไปด้วยผู้คน ที่กำลังชื่นชมร่องรอยอารยธรรมโบราณเหล่านี้

ภายในพื้นที่อุทยานฯ จะมีโบราณสถานหลัก 3 แห่งติดๆ กัน ได้แก่ เขาคลังใน, ปรางค์สองพี่น้อง และ ปรางค์ศรีเทพ โบราณสถานที่สำคัญเหล่านั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากอุทยานฯ 

...

ปัญหาเรื่องการป้องกันโบราณสถาน :

'กนกวรรณ' และ 'ลุงวินัย' สองคนพื้นที่ อ.ศรีเทพ บอกกับทีมข่าวฯ ว่า หลังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมืองนี้ครึกครื้นกว่าเดิม และนักท่องเที่ยวมาเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องบางอย่างที่ทำให้ทั้งคู่เป็นกังวล...

กนกวรรณ กล่าวว่า เมื่อสักครู่ตอนที่เธอเดินตรงขอบโบราณสถาน ก่อนจะลงมาบนพื้น เธอเผลอเหยียบหินก้อนหนึ่ง แล้วเหมือนหินนั้นจะหลุดออกมา เธอจึงคิดว่าในอนาคตอาจจะต้องไม่ให้คนเดินบนนั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย

ด้าน ลุงวินัย พูดถึงเรื่องการดูแลว่า เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ที่จะทำอย่างไรต่อไปกับงานชิ้นนี้ ชาวบ้านไม่มีอำนาจในการดูแลได้ และยังไม่รู้ข้อกำหนดต่างๆ ด้านคนดูแลหรือพนักงานอาจจะยังน้อย จึงทำให้ยังดูแลไม่ทั่วถึง ถึงอย่างนั้นก็ อยากให้ดูแลโบราณสถานให้ดีอยู่เสมอ ไม่อยากให้สูญเสียก่อนแล้วค่อยจัดการ

...

เหตุการณ์หินหลุดนั้น ดูเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะ 'พี่หนึ่ง' ที่กำลังยืนเฝ้าอุปกรณ์ของทีมงาน ที่มาถ่ายวิดีโอ ณ ศรีเทพ ก็ได้บอกเล่าเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกนกวรรณว่า...

"เท่าที่พี่เห็นตั้งแต่เช้าที่มาถึง คนเดินขึ้นไปเหยียบย่ำกันเยอะมาก เราเห็นกับตาว่ามีคนหนึ่งเหยียบหินแล้วมันเคลื่อนจะหลุดออกมา แต่เขาก็ขยับกลับเข้าที่เดิมนะ

ทางที่ดีไม่ควรจะให้ขึ้นไปเดิน ที่นี่เหมือนยังไม่มีกฎบังคับเรื่องนี้ ยังไม่มีคนคอยดูถึงขนาดนั้น การที่เขาได้เดินดูด้านบนมันก็ดี แต่พี่ว่าอีกหน่อยพัง เพราะว่าคนเหยียบไปย่ำมา" เธอกล่าวกับเราด้วยความกังวล"

พี่หนึ่ง พูดเชิงเป็นข้อเสนอว่า ควรจะมีกฎกติกาการดูแลให้ชัดเจน คนเห็นว่าเป็นพื้นหิน คงคิดว่าเดินได้เลยขึ้นไป แต่ควรตั้งกฎป้องกันว่าให้ดูแค่ข้างนอกดีกว่า…

ส่วน 'ครูต๊ะ' ก็แสดงความห่วงใยต่อโบราณสถานผ่านทีมข่าวฯ ว่า "ไม่ค่อยโอเคที่คนขึ้นไปเดิน หรือไปเหยียบสักเท่าไร เพราะว่าของมันเก่า มันอาจจะพังตอนไหนก็ได้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง และดูแลไปตลอด กลัวแค่จะดูแลกันไม่เต็มที่เท่านั้นแหละครับ ไม่อยากให้ฉาบฉวย"

ปัญหาเรื่องการรับมือนักท่องเที่ยว :

'คุณเปิ้ล' และ 'คุณอ๊อฟ' นักท่องเที่ยวชาวไทยจาก จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่งลงเครื่องกลับจากประเทศอินเดีย และได้เดินทางมาที่ศรีเทพเป็นครั้งแรก

"พอได้มาจริงๆ ก็รู้สึกว่าพื้นที่กว้าง แต่ว่าแต่ละจุดเรายังไม่ค่อยเข้าใจถึงความสำคัญได้มากพอ" คุณอ๊อฟเอ่ย

"จริงๆ ควรจะมีเหมือนป้ายบอกแต่ละจุดว่าคืออะไร เพื่อให้รู้ถึงรายละเอียดที่เพียงพอ แล้วก็อยากให้มีไกด์อธิบายที่โปรมากพอ เหมือนถ้ามีนักท่องเที่ยวหรือต่างชาติเข้ามา การพูดคุยต้องละเอียดหรือสื่อสารกับต่างชาติได้" คุณเปิ้ลกล่าวเสริม

(ปกติแล้วหากได้ไปเที่ยวตามสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ทางอุทยานฯ จะมีการเตรียมแผ่นพับ และคิวอาร์โค้ดไว้ให้ เผื่อนักท่องเที่ยวต้องการข้อมูลที่อาจจะตกหล่นจากไกด์ แต่สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทีมข่าวฯ ไม่พบการแจกแผ่นพับ มีเพียงคิวร์อาโค้ดของแผ่นพับให้แสกนอยู่หน้าทางเข้า - ทีมข่าวฯ)

คุณอ๊อฟ บอกว่า "ไม่อยากให้แตะต้อง หรือเหยียบโบราณสถานนะ เรามองว่ามันสำคัญทุกจุด น่าจะมีการกั้นที่เป็นสัดส่วน" 

ความคิดเห็นของทั้งสอง สอดคล้องกับข้อมูลจาก 'คุณเบน' นักท่องเที่ยวจาก จ.สระบุรี เขากล่าวความรู้สึกชื่นชมต่อเมืองศรีเทพให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เป็นสถานที่ที่แปลกตาจากที่อื่น การปรับภูมิทัศน์ค่อนข้างดี

แต่ยังมี ข้อควรปรับปรุง คือ ความชัดเจนของป้ายบอกทาง หรือป้ายข้ามเข้า ห้ามขึ้น ที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ และการให้ข้อมูลของไกด์กับนักท่องเที่ยว ที่เขาเองมองว่ายังไม่เพียงพอ และน่าจะมีข้อมูลที่ลึกว่านี้ 

นอกจากนั้น คุณเบนยังอยากให้มีการกั้นเขตที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครเหยียบ "ผมก็ไม่รู้ว่ายูเนสโกให้เหยียบไหม แต่จริงๆ มองว่าก็ไม่ควรนะ อุทยานฯ ก็น่าจะต้องดูแลมากกว่านี้ ตรงนั้นยังล้อมไม่ให้เข้าได้เลย ผมมองว่าบริเวณอื่นก็ทำได้ ถ้าเราจะจริงจังกับมัน ก็จัดการไปให้หมดเลย"

สำหรับ ความกังวลของนักท่องเที่ยว และชาวบ้าน อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า "เร็วไปหรือไม่" แต่ทีมข่าวฯ กลับคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี นี่แสดงถึงการตื่นรู้และตระหนักต่อมรดกโลกแห่งนี้ เพราะแม้ว่ายูเนสโกจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้ศรีเทพได้ แต่หากเราดูแลกันไม่ดี เขาก็สามารถถอด 'ศรีเทพ' ออกจากรายชื่อมรดกโลกได้เช่นกัน โดยเริ่มต้นจาก "การขึ้นบัญชีรายชื่อในภาวะอันตราย" 

อ้างอิงข้อมูลจาก The Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention หรือแนวทางการดำเนินงานเพื่อการดำเนินการตามอนุสัญญามรดกโลก ที่จัดทำขึ้นโดย ยูเนสโก ในหัวข้อ IV.B The List of World Heritage in Danger กล่าวว่า

"ทรัพย์สินที่เป็นมรดกโลกตามกำหนดไว้ในมาตราที่ 1 และมาตราที่ 2 ของอนุสัญญา สามารถขึ้นบัญชีรายชื่อภาวะอันตรายได้ เมื่อพบว่าสภาพทรัพย์สินสอดคล้องกับเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ใน 2 กรณีที่อธิบายไว้ด้านล่าง" โดยทีมข่าวฯ ขอยกเกณฑ์จากข้อ (a) ซึ่งถือเป็นกรณีที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการกระทำของมนุษย์ มาให้ผู้อ่านได้รับทราบในเบื้องต้น

a) อันตรายที่อาจตรวจพบ - ทรัพย์สินต้องเผชิญกับอันตรายเฉพาะเจาะจง และพิสูจน์แล้วว่าอันตรายนั้นใกล้จะเกิดขึ้น ตัวอย่าง:

1) การเสื่อมสภาพอย่างรุนแรงของวัสดุ

2) การเสื่อมสภาพอย่างร้ายแรงของโครงสร้าง และ/หรือ ลักษณะการตกแต่ง

3) การเสื่อมสภาพอย่างร้ายแรงของการเชื่อมโยงทางสถาปัตยกรรม หรือการวางผังเมือง

4) การสูญเสียความถูกต้องทางประวัติศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาด้านกำลังคนและการคมนาคม :

คำบอกเล่าจากหนึ่งในเจ้าหน้าที่ ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทำให้ทีมข่าวฯ ทราบว่า หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนเจ้าหน้าที่และวิทยากรนำชมที่มีเพียงน้อยนิด

สาเหตุที่เจ้าหน้าที่บางคนทำหน้าที่มัคคุเทศก์ แต่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ไม่เพียงพอ เพราะว่าเดิมนั้นไม่ได้ทำหน้าที่นี้โดยตรง แต่เนื่องจากคนขาด จึงต้องดึงฝ่ายอื่นเข้ามาช่วยแทน เจ้าหน้าที่ผู้เล่าสถานการณ์ที่พบอยู่ กล่าวเพิ่มกับทีมข่าวฯ ด้วยน้ำเสียงที่เป็นกังวลว่า "หากมีงบประมาณรอบใหม่เกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่กลับไปทำงานเดิม แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ใหม่มาเพิ่ม ก็จะยิ่งทำไม่ทันเข้าไปอีก"

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในอุทยานฯ เคยโดนนักท่องเที่ยว 'เหวี่ยง' ใส่มาแล้ว เพราะรถรางมีไม่พอ บวกกับช่วงฝนตกหนัก ทำให้ต้องใช้เวลารอรถนาน พนักงานขับรถรางก็ยังเต็มแบบฝืนๆ ส่วน ลานจอดรถก็ยังไม่พอต่อปริมาณผู้มาเยือน ทำให้เริ่มมีการจอดริมถนน คนโบกรถและยามรักษาการก็ยังไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวมองว่าอุทยานฯ ยังจัดการได้ไม่ดี 

แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายกับมรดกโลกน้องใหม่ป้ายแดง แต่เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า "ตอนนี้บางเรื่องยังไม่มีแผนออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีการประชุมพูดคุยกันเป็นระยะ ซึ่งต้องรอการสรุปแนวทางต่อไป"

สะพานเดินผ่านโบราณสถานไม่พอ และพื้นดินเละเมื่อฝนตก :

ทีมข่าวฯ เล่าให้เจ้าหน้าที่ฟัง ถึงเหตุการณ์ "หินทางเดินของโบราณสถานจะหลุดออกมา" เจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่า "มันก็แย่เหมือนกัน เพราะเป็นโบราณสถาน แต่เราก็อาจจะต้องแก้ไขโดยการสร้างสะพานให้เขาเดินข้าม"

ไม่ใช่ว่าบริเวณโบราณสถานจะไม่มีสะพานเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินข้าม เพียงแต่สะพานนั้น อาจจะตั้งห่างกันจนทำให้นักท่องเที่ยวไม่สะดวกที่จะเดินไป เห็นได้จากระหว่างที่ทีมข่าวฯ รอรถรางออกตัว…

เจ้าหน้าที่พยายามบอกนักท่องเที่ยวให้เดินลงทางบันไดที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ด้วยความรีบและบันไดอยู่ห่างจากจุดที่ยืนอยู่ จึงทำให้นักท่องเที่ยวพยายามจะลงตรงอื่น

หากใครได้เดินทางไปอุทยานฯ ช่วงที่ฝนตก จะเห็นว่า 'พื้นถนนในอุทยานฯ ค่อนข้างเละ' สาเหตุมาจากเป็นพื้นดินปกติ ไม่ได้มีการเทปูนหรือทำถนนแต่อย่างใด แม้หลายคนจะมองว่าไม่ค่อยสวยงาม แต่เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า

"พื้นที่ถนนอยู่ใจกลางเมืองศรีเทพ ยังมีความสำคัญ และในอนาคตก็อาจจะมีการขุดค้นเพิ่มเติม หากทำถนนก็อาจจะเสียพื้นที่ตรงนั้นไป ตอนนี้หลายคนเลยอาจจะงงว่าทำไมมันเละแบบนั้น แต่ในอนาคตก็ต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น"

การเดินทางสาธารณะที่ยังไม่สะดวก :

วันและช่วงเวลาที่ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ เราไม่พบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแม้แต่คนเดียว เหตุการณ์นี้ทางเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่า

"ไม่ค่อยมีชาวต่างชาติเดินทางมา อาจจะเพราะว่าไม่มีรถสาธารณะมาถึงตัวอุทยานฯ จะมีเพียงแต่รถโดยสารกรุงเทพฯ-ภูเรือ หรือกรุงเทพฯ-วิเชียรบุรี จะแวะจอดที่ตลาดบ้านกลาง ส่วนรถจากตลาดมาที่อุทยานฯ เห็นมีแต่จักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งราคาก็อาจจะแพงหน่อย ไม่มีรถตู้ หรือรถสองแถวผ่าน"

เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า อยากให้มีรถสาธารณะเพิ่ม เพราะคนก็เรียกร้องกันมาเยอะ ที่ผ่านมาคนเดินทางมาที่นี่น้อย จึงอาจจะไม่คุ้มต่อผู้ลงทุน แต่ตอนนี้คนเดินทางมาเยอะขึ้น คิดว่าทางจังหวัด อำเภอ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็คงจะศึกษาและพัฒนากันต่อไป

ทีมข่าวฯ ได้ลองตรวจสอบราคาของยานพาหนะเพียงอย่างเดียว ที่มีให้บริการตามคำบอกเล่า พบว่าจากตลาดบ้านกลางสู่อุทยานฯ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีค่าบริการประมาณ 150 บาท ซึ่งราคาถูกหรือแพงนั้น คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่าน...

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากการคุยกับเจ้าที่หน้าที่ของอุทยานฯ แต่ทีมข่าวฯ เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนและทุกฝ่ายกำลังทำงานหนัก เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง และกำลังหาแนวทางพัฒนา เพื่อปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นต่อไป...

นายอำเภอเร่งดำเนินการรถรางและมัคคุเทศก์ :

ทีมข่าวฯ ต่อสายตรงหา 'นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์' นายอำเภอศรีเทพ และเล่าความกังวลใจเรื่องโบราณสถานจากนักท่องเที่ยวให้ฟัง นายอำเภอบอกว่า "ในส่วนนี้ เราจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการบูรณะ"

'นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์' นายอำเภอศรีเทพ
'นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์' นายอำเภอศรีเทพ

ปัญหารถรางและมัคคุเทศก์ ที่ได้พบภายในอุทยานฯ ทางอำเภอทราบเรื่อง และประสานงานทำเรื่องของบกับกรมศิลปากรเรียบร้อย แต่การแก้ปัญหาเบื้องต้นตอนนี้ อาจจะต้องยืมรถรางของอยุธยามาแก้ขัดไปก่อน 

ตอนนี้ได้ทำการอบรมมัคคุเทศก์น้อย จำนวน 1,565 คน จากนักเรียน 9 โรงเรียน ซึ่งอาจจะต้องให้อุทยานฯ เปิดการอบรมเพิ่มเติม ให้โรงเรียนส่งนักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้ เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวแล้วไปปรับให้เข้ากับตัวเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อาจจะเดินทางเข้ามาในอนาคต

สำหรับเรื่องการเดินทางสู่อุทยานฯ ตอนนี้ได้ปรับปรุง 2 เส้นทางที่เข้าอุทยานให้เดินทางสะดวกขึ้น ทั้งเรื่องไฟส่องสว่าง และไฟจราจร ในอนาคตอาจจะเพิ่มรถจากตลาดบ้านกลางไปอุทยานฯ เพราะบางคนไม่ได้มาด้วยรถยนต์ส่วนตัว และจะให้หน่วยต่างๆ ร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ เพิ่มที่จอดรถ โดยต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมดูแลตรงนี้ด้วย

ทางด้านการรับมือการท่องเที่ยว นายวีระวัฒน์ เห็นว่า สิ่งสำคัญคือต้องสร้างเอกลักษณ์แต่ละส่วน เช่น ที่พักรูปแบบเดียวกัน ของที่ระลึก หรือลายผ้าประจำอำเภอ ซึ่งตอนนี้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ร่วมสร้างสรรค์ออกแบบ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว

ท่านวีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากให้ประตูด่านแรกของการท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ให้นึกถึงศรีเทพ หรือจะเป็นปราการสุดท้ายหลังจากเที่ยวเพชรบูรณ์เสร็จก็ได้ เราพร้อมรองรับทุกคนอยู่แล้วครับ อยากให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกด้วยกัน" 

ผู้ว่าฯ วอนสนับสนุนงบประมาณ :

ด้าน 'นายกฤษณ์ คงเมือง' ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุว่า ทางจังหวัดเคยของบประมาณในการทำพิพิธภัณฑ์ และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไป แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ "ถึงอย่างนั้นเราก็จะผลักดันของบประมาณต่อไป" ผู้ว่ากล่าวสั้น ๆ

'นายกฤษณ์ คงเมือง' ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์
'นายกฤษณ์ คงเมือง' ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเข้ามา เบื้องต้น ได้สั่งให้นายอำเภอ และรองผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบดูแล พูดคุย และสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้าน เพื่อสรุปผล และประชุมในระดับจังหวัดต่อไป ส่วนตอนนี้ได้ให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินเขียนผังพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวแล้ว

ส่วนความกังวลของประชาชน ที่มีต่อความสมบูรณ์ของโบราณสถาน ผู้ว่าฯ ให้ความเห็นว่า เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร ที่ทางจังหวัดเข้าไปยุ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความกังวลนี้ และกล่าวรับเรื่องว่า "ความเสียหายต่อโบราณสถานเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทางเราจะนำหารือกับกรมศิลปากรต่อไป แต่ในระยะยาวก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของกรมศิลปากร ที่จะหาจุดลงตัวให้ได้"

จากความกังวลต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวและคนพื้นที่มีต่อ 'ศรีเทพ' แสดงให้เห็นว่า การตระหนักห่วงใยต่อมรดกโลกเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อรักษาและธำรงคุณค่าจากความพยายามของทุกคนทุกฝ่าย ให้ยังโดดเด่นเป็นสง่าสมชื่อ ศรีเทพ

ทีมข่าวฯ เชื่อว่า ความร่วมมือของหน่วยงานทุกฝ่าย และความพยายามของเจ้าหน้าที่ทุกคน จะทำให้ศรีเทพกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และผู้คนต่างอยากมาท่องเที่ยว แม้ว่าจากเนื้อข่าว ศรีเทพ ยังมีหลายเรื่องที่รอการปรับปรุง

ถึงอย่างนั้น ก็ยังอยากชวนคนไทยให้ลองไปเยี่ยมเยือน ศรีเทพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนให้ประเทศ และไปให้เห็นความยิ่งใหญ่ของมรดกโลกแห่งนี้กับตาของตัวเอง...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

อ่านบทความที่น่าสนใจ :