'POP MART' โกลาหลวันเปิดตัว โลกโซเชียลตำหนิวุ่นวายไร้ระเบียบ รีเซล จ้างต่อคิว ทำสินค้าราคาพุ่ง!...

POP MART ร้านขายอาร์ตทอยสุดฮิตจากแดนมังกร เปิดสาขาแรกในไทย ที่ชั้น 1 ของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ท่ามกลางความตื่นเต้นของนักสะสมอาร์ตทอย แม้ว่าวันเปิดตัวทุกอย่างควรจะเรียบร้อย ราบรื่น และสวยงาม แต่ความวุ่นวายของ POP MART ก็เกิดขึ้นจนได้ 

ในโซเชียลมีเดียมีการส่งต่อคลิปความวุ่นวายบริเวณหน้าห้างจนเกิดเป็นกระแส ผู้คนจำนวนมากที่ไปเข้าคิวรอซื้อของร้าน POP MART ต่างแย่งชิงคิวเข้าร้าน จนทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าชมสักเท่าไร 

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

โลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับความวุ่นวายนี้ นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงเรื่อง 'การจ้างต่อคิว' และ 'รีเซล' ที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของเรื่องวุ่นๆ ณ POP MART 

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เดินทางลงพื้นที่ ณ จุดเกิดเหตุ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อสืบเสาะหาความจริงของเหตุความวุ่นวายนี้ พร้อมทั้งพูดคุยกับคนที่รับจ้างต่อคิว และความคิดเห็นของคนที่นำสินค้าไปรีเซล ความจริงนั้นจะมีเพียงหนึ่งเดียวหรือไม่ และเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไปร่วมค้นหาคำตอบกันได้เลย!!!

ภาพ ธนกร จิณณ์เมธา
ภาพ ธนกร จิณณ์เมธา

Organizer : ผู้จัด

ประมาณ 09.00 น. วันนี้ (21ก.ย.66) ทีมออร์แกไนซ์ และ รปภ. ได้เริ่มมาดูแลความเรียบร้อยด้านหน้าห้าง มีการยกที่กั้นออก เพื่อให้คนที่จองคิวสำหรับวันนี้เดินเข้ามาได้ หนึ่งในทีมงานผู้ดูแล เผยกับทีมข่าวฯ ว่า 

"ที่จริงเมื่อวานนี้เรามีมาตรการป้องกัน และเรื่องลำดับคิวไว้แล้ว แต่สถานการณ์ช่วงเช้าตามที่เห็นในคลิปติ๊กต่อก มีกลุ่มคนปีนข้ามรั้วมาจากฝั่งนู้น (ฝั่งศาลพระพิฆเนศ) ทำให้คนที่เขาต่อคิวอยู่บริเวณตีนสะพานลอยไม่พอใจ เลยพยายามเบียดกันเข้ามา หลังจากนั้นทุกคนก็กรูกันเข้ามาเพื่อจะไปต่อคิวหน้าร้านด้านนอก

ตอนแรกเราทำคิวไว้หมดแล้ว ถ้าทำตามที่เราแจ้ง ก็น่าไม่มีภาพแบบเมื่อวานเกิดขึ้น พอปีนรั้วปุ๊บ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย พอเกิดความวุ่นวายแบบนั้น ทีมเลยประชุมกับ POP MART ว่าขอปรับรูปแบบการซื้อ เพราะตอนนี้คนมาแล้ว เราให้คนกลับบ้านไม่ได้ 

ภาพ ธนกร จิณณ์เมธา
ภาพ ธนกร จิณณ์เมธา

ทีมเลยทำกูเกิลฟอร์มขึ้นมา ให้มีชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน หรือเลขพาสปอร์ตเพื่อยืนยันตัวตน และให้เวลาลงทะเบียนแค่ 10 นาที โดยที่เราปรินต์คิวอาร์โค้ด แล้วให้สแกนเข้ามา หลังจากนั้นทำการสุ่มคิว พอปิดลงทะเบียนก็ได้คนมาประมาณ 1,115 คน 

วันนี้มีการปรับรูปแบบ โดยให้ลงทะเบียนออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้มีทั้งหมด 10 รอบ รอบละ 30 คน และรอบละ 30 นาที รวมทั้งหมด 300 คน ตอนนี้คิวก็เต็มไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม จะเป็นการจองคิวทั้งหมด เดินเข้ามาซื้อหน้าร้านโดยไม่ลงทะเบียนไม่ได้ ใครอยากจะมาก็สามารถติดตามการจองคิวได้ที่เพจ POP MART Thailand"

...

ทีมงาน กล่าวว่า "จากที่เราสังเกตกัน เมื่อวานมีคนที่ถูกจ้างต่อคิวมาเยอะเหมือนกัน มีคนในทีมแคปโพสต์มาให้ดูว่า มีการจ้างต่อคิวหัวละ 400 ถ้าสามารถเข้าไปซื้อของได้ จะให้เงินเพิ่มอีกเป็นหลักพัน หรืออาจจะถึงหลักหมื่น คนก็เลยแห่กันมา เราก็รู้แหละว่ามีการจ้างต่อคิวกันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีทุนกันขนาดนี้ 

เมื่อวานพ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อก็ค่อนข้างหัวร้อนกัน เพราะเขาคงเสียประโยชน์ คนที่มาซื้อก็มีทั้งคนที่อยากสะสมจริงๆ และคนที่เอาไป รีเซล (Resell: ขายต่อ)" ทีมงานพูดพร้อมโชว์รูปโพสต์ที่อ้างถึงให้ทีมข่าวฯ ดู

ทีมงานเปิดอีกรูปที่ถ่ายไว้ให้ดู เป็น รูปถุง POP MART จำนวนมาก และมีสินค้าอยู่ด้านใน วางกองอยู่หน้าห้างแห่งนี้ "ลองดูภาพนี้สิ เมื่อวานมีคนที่พูดภาษาจีน ให้คนเอาของที่ซื้อได้มากองไว้ แล้วก็ยืนแจกเงินจ่ายเงินกันตรงนั้นเลย ส่วนใหญ่คนจีนไม่เข้าไปข้างในหรอก มีแต่คนไทยที่พวกเขาจ้างได้เข้าไป วิธีการชำระเงินของ POP MART คือ บัตรเครดิต หรือเงินสดเท่านั้น พวกนี้ถ้าเขาอยากได้ตัวไหน เขาก็จะลิสต์ไว้ในรายการหมดแล้ว และไปกดเงินสดมาให้พวกคนที่เขาจ้างต่อคิว เมื่อวานบางคนมียอดการซื้อเป็นแสน"

...

เรื่องเล่า ณ จุดเกิดเหตุ :

'คุณฮิปโป' ผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ความวุ่นวายวันเปิดตัว POP MART ลงติ๊กต่อกจนเป็นกระแส (คุณฮิปโปแจงว่า ในคลิปที่ตะโกนว่าเริดๆๆๆ เพราะชมทีม รปภ.ที่เข้ามาจัดการกับคนที่กำลังจะปีนรั้ว) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวานเดินทางมาถึงหน้าห้างประมาณ 06.15 น. คนยืนรอกันเต็มด้านนอก กระทั่งเวลาประมาณ 06.41 น. ตามในคลิป ความวุ่นวายก็เริ่มขึ้นจากคนที่พยายามปีนรั้ว เมื่อทีมงานจัดแจงทุกอย่างจนลงตัว ตนก็ได้ไปนั่งต่อแถวรอซื้อของ (แม้สุดท้ายจะไม่ได้ซื้อ เพราะสุ่มคิวไม่ได้) 

ในขณะที่นั่งรอการจัดระเบียบใหม่ บังเอิญว่า คุณฮิปโป ได้นั่งคุยกับ 'คนที่มีสายรัดข้อมือสีแดง' ทำให้รู้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับ การจ้างต่อคิว คุณฮิปโป บอกว่า คิดอยู่แล้วว่าตนนั้นคงไม่ได้คิว แต่ด้วยความอยากรู้ว่าลึกๆ แล้วในวงการนี้เป็นยังไง ตนจึงลองสอบถามคนที่รับจ้างต่อคิวดู

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

...

อ้างอิงข้อมูลจากที่คุณฮิปโปเล่า ได้ความว่า "คนที่ถูกจ้างมาต่อคิวของแต่ละกลุ่ม จะมีเทคนิคและสัญลักษณ์ไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มนี้ผูกข้อมือสีแดง กลุ่มนี้ผูกข้อมือสีเขียว บางคนมีป้ายห้อยคอใส่เลย ส่วนเรื่องรายได้ที่เรามีโอกาสคุยมาเนี่ย คือ ต้องมาต่อคิวก่อน แล้วให้หัวละ 500 บาท แต่ถ้าได้ของชิ้นที่คนจ้างกำหนดมา จาก 500 บาท จะกลายเป็น 2,000 บาท ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้ถามต่อว่าชิ้นเดียว หรือรวมถึงจะได้ 2,000 บาท 

คนที่เข้ามาต่อคิว เขาจะทำกันเป็นอาชีพ ร้านแต่ละร้าน เขาก็จะมีกลุ่มคนที่จ้างประจำในทุกๆ งาน เขาก็มีเครือข่ายของเขา บางคนอาจจะกลายเป็นหัวคิวเอง ไปหาคนมารอคิวต่อแทน ฮิปโปโชคดีที่ได้นั่งคุยกับคนที่ทำเป็นอาชีพ แต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เขาทำตามกฎ เขาบอกเราว่าทีมของเขาจะทำตามกฎในทุกงาน เพราะถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น อาจจะทำให้ถูกสืบสาวราวเรื่องไปถึงเจ้านายของเขา และนั่นอาจทำให้เกิดปัญหา

แต่เขาก็บอกว่า ทีมที่เน้นปริมาณก็มี คือ ไปเอาคนจากหัวลำโพง เราเลยคิดว่าเขาอาจจะไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยี แต่ผิดคาดมาก พวกนี้เขาทำงานกันเป็นระบบ มีคนช่วยเหลือตลอด มีหัวหน้า มีหัวคิว 

มีกลุ่มข้างๆ ที่เราไม่ได้คุย แต่เป็น ผู้สูงอายุคนไทย ที่ดูเหมือนคนจีน เรารู้สึกว่าเขาน่าจะดีลกับคนจีนโดยตรง เพราะคนจีนเข้ามาพูดภาษาจีนกับผู้สูงอายุเหล่านั้น เราคิดว่าแรงจูงใจของเขาคงเป็น เงิน ที่ถูกว่าจ้าง ในมุมมองของเรานี่ก็ไม่ใช่งานที่ยาก ถ้ามารอคิวก็ได้เงิน แล้วได้ของกลับไปก็ได้เงินอีก เราก็เข้าใจแหละว่าต้องใช้เงิน ซึ่งรู้สึกว่ามันก็เป็นมุมดาร์กๆ ของวงการรีเซลเหมือนกัน เพราะถ้าคนที่ได้ของออกมา แล้วเอาของมารีเซล เขาก็ได้เพิ่มขึ้นเยอะเหมือนกัน"

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

รับจ้างต่อคิว :

'ป้าแมว' (นามสมมติ) หญิงสูงวัยคนหนึ่ง นั่งกลางร่มหลบแดดอยู่หน้าห้าง ใกล้กับผู้คนที่กำลังรอคิวเข้าร้าน POP MART คุณป้าบอกว่า "เมื่อวาน (20 กันยายน 2566) มารอคิวตรงนี้ (POP MART) ไปแล้ว แต่วันนี้มารอคิวนาฬิกา"

ทีมข่าวฯ จึงขอให้ป้าแมวเล่าเรื่องของเมื่อวานให้ฟัง "มานั่งรอคิว เพราะคนรู้จักเขาจ้างให้มา เราก็ได้เงินด้วย เมื่อวานคนก็เยอะมาก เขาต่อสู้เข้าคิวกันเยอะแยะ วันนี้ถือว่าเบามากแล้ว แต่เมื่อวานป้าก็ไม่ได้ล้มอะไร เพราะไม่ได้วิ่ง เดินตามไปเข้าคิวเอา ป้าก็ได้ของไปนะ

พอได้ของไปก็มีคนมารับซื้อ ก็อย่างที่บอกนั่นแหละว่าเขาจ้าง ของดีก็ได้เงินเยอะ ของไม่ดีก็ได้น้อย อย่างไอ้ตุ๊กตาดีๆ เขาเอาไปบวกเพิ่มได้ตั้ง 5-6 พัน มารอตั้งแต่ตีห้า"

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

แล้วแบบนี้คุ้มไหม ทีมข่าวฯ ถาม "ไม่คุ้มอะ แต่ที่ยังทำเพราะเขาขอมา" คุณป้าตอบ

"เมื่อวานมีคนมาต่อคิวเยอะมาก มันหลายคณะ เจ้านึงก็ 10 กว่าคน 20 กว่าคน เขาอยากได้ของกัน ถ้ามายืนแล้วไม่ได้ของ เขาก็ให้ค่ายืน 100 ที่มันได้น้อยเพราะหัวคิวกินเยอะ อย่างเราอาจจะได้ 500 เยอะกว่าคนอื่น เพราะรู้จักกัน อันนี้บอกตามตรง

ความคุ้มค่าไม่มีเลย อย่างที่บอกไปว่าเขาเอาไปขายต่อได้ 5-6 พัน แต่เราอาจจะได้แค่ 1-2 พัน แต่เมื่อวานป้าได้สูงสุดห้าพัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้แบบนี้ตลอด เมื่อวานคงโชคดีได้ตุ๊กตาดีๆ ไปให้เขา"

ป้าบอกต่อว่า "จะเรียกว่าโดนเอาเปรียบได้ไหมก็ไม่รู้ คนที่เขาจ้างเรามา เขาก็ต้องไปหานายทุน อาจจะมาซื้อของ 30,000 นายหน้าพวกนี้ต้องออกเงินก่อน พอได้ของมาแล้วถึงจะเอาไปขายได้ พวกนี้ต้องมีเงินสำรองเป็นแสน อย่างน้องจะเอากี่อย่างล่ะ เขาก็พยายามซื้อให้ได้ เพราะเขาค่อยมาบวกจากน้อง แล้วมาแบ่งกำไรกัน มันทำงานเป็นทีม มีความคุ้มค่าไม่คุ้มค่าเกิดขึ้นอยู่แล้ว

ป้าไม่ได้ดูถูกนะ พวกคนที่เขาจ้างมาต่อแถว ก็เป็นพวกหาเช้ากินค่ำ มันก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจด้วยแหละที่ทำให้คนต้องวิ่งตามหาเงิน วันนี้ยังไม่มีอะไร ถ้ามาสัมภาษณ์เมื่อวานทำไม่ได้หรอก ทุกคนวิ่งกันอย่างเดียว" คุณป้าชี้นิ้วหาผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังเดินเข้าแถวรอซื้อนาฬิกา และอ้างว่านี่มาจากสนามหลวง เขาก็อยากได้เงิน

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

Collector : นักสะสม

'คุณจูเนียร์' กำลังต่อแถวหลังเสาหน้าห้าง เพื่อหลบแดดช่วงเช้าที่ร้อนเหมือนแดดตอนบ่าย เขาเล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า "ตั้งใจมาวันนี้ เพราะค่อนข้างเป็นระบบมากขึ้นแล้ว ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อวานสักเท่าไร เพราะเห็นคลิปแล้วรู้สึกวินาศสันตะโรไปหมด มันไม่ควรเกิดขึ้น รู้ว่าอยากได้ของ แต่ภาพที่ออกมามันไม่ดี วันนี้เรามาในฐานะคนที่อยากสะสมจริงๆ" 

ถ้ากล่าวเช่นนั้น แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคนที่มาซื้อแล้วนำไปขายต่อ "ความรู้สึกส่วนตัว ขอวางตัวเป็นกลางแล้วกัน เราเห็นใจคนที่เขาทำ เพราะเขาก็คงเหนื่อย ส่วนในมุมคนสะสม มองว่าจะบวกราคาก็บวกได้ แต่ไม่ใช่บวกเยอะขนาดนั้น บางครั้งบวกเยอะจนเกินไป จนรู้สึกว่าไม่น่าสนุก เก็บไว้เล่นเองไหม"

ภาพ ธนกร จิณณ์เมธา
ภาพ ธนกร จิณณ์เมธา

ส่วน 'คุณแพรว' ที่เพิ่งเดินออกมาจากร้าน POP MART หลังจากเป็น 30 คิวแรกของช่วงเช้า เธอบอกว่า "วันนี้มาซื้อไปสะสมเอง ไม่ได้เอาไปรีเซล จะมาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ดุเดือดไปนิดนึง ส่วนคนที่ซื้อไปรีเซล มันเป็นสิทธิ์ของเขา เราเป็นผู้บริโภค เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อ หรือไม่เลือกซื้อก็ได้ แต่ถ้าเป็นหนู หนูจะไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ มารอต่อแถวเองดีกว่า บางคนที่รีเซลก็ขึ้นราคามากเกินไป"

Collector & Reseller : นักสะสมที่ขอแบ่งขาย (บ้าง)

ทีมข่าวฯ เห็น 'คุณบิ๊ก' (นามสมมติ) ถือถุงจากร้าน POP MART หลายถุง รวมถึงเพื่อนเขาอีก 2 คนก็มีถุงของร้านในมืออย่างน้อย 3 ถุง เราจึงเข้าไปขอสัมภาษณ์ได้ความว่า ตัวคุณบิ๊กเองทั้งสะสมแล้วก็ขาย หากตัวไหนที่มีของแล้วก็เอาไปขาย ตัวไหนไม่มีก็สะสม คุณบิ๊กต้องตามกระแสอยู่ตลอด เพราะบางอันเป็นของ Limited Collection (จำนวนจำกัด) จะมาเป็นรอบๆ 

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

"ถ้าถามว่าเงินที่ได้รับคุ้มค่ากับความเหนื่อย และการต่อคิวไหม ผมมองว่าก็พอๆ ตัว ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น บางทีเรามีตัวที่ชอบแล้วอยากได้ ก็เอาของบางชิ้นไปรีเซล มันเหมือนเป็นการลดต้นทุน เอาของไปขายเพื่อนำกำไรไปซื้อตัวอื่น เช่น ตัวลิมิเต็ด ถ้าเราซื้อไม่ทัน เราก็ไปซื้อในกลุ่ม มันก็คือเอากำไรไปลดค่าของที่อยากได้ 

คือถ้าคนจะมองว่าพวกรีเซลแย่ ก็อยากให้มองว่าการรีเซลมีอยู่ทุกอาชีพ เอาง่ายๆ เด็กซื้อขนม 5 บาท ไปขาย 10 บาท แสดงว่าได้กำไร 5 บาท อันนี้ก็เรียกรีเซลแล้ว หรือพวกนักธุรกิจที่จองคอนโดฯ แล้วมาขายต่อก็มี พวกนี้มันมีทั่วอยู่แล้ว 

บางคนที่ แอนตี้ (Anti: ต่อต้าน) รีเซล ก็เป็นมุมมองของเขา มันมองได้ 2 มุม สำหรับคนที่แอนตี้ คงจะเป็นคนที่เขาอยากได้สินค้านี้จริงๆ แล้วยากลำบากตอนซื้อ เพราะต้องมาสู้กับพวกรีเซล อันนี้ก็เห็นใจครับ 

แต่ว่ารีเซลก็ไม่ใช่อาชีพที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ก็ต่างคนต่างมุมมอง ถ้าเขาจะรณรงค์กันว่าไม่ซื้อของรีเซล เพื่อให้รีเซลขายของไม่ได้ แล้วจะได้เลิกขาย ถ้าเขาทำได้ก็คงโอเคสำหรับเขา แต่ถ้าดูกลไกตลาด ผมว่ามันทำไม่ได้

อย่าไปคิดว่ารีเซลได้กำไรจากการขายทุกครั้ง อย่างเรามาซื้อ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะขายได้กำไรไหม ผมอาจจะขายขาดทุนก็ได้นะ (หัวเราะ) ไม่อยากให้มองว่าการรีเซลได้เงินตลอด บางทีขายได้กำไร 1,000 ต่อชิ้น แต่พอไปหักรวมของที่ซื้อทั้งหมด อาจจะขาดทุนไป 1,500 ก็ได้ 

รายได้พวกผมมันไม่แน่นอนอยู่แล้ว มันอยู่ที่กลไกตลาดว่าของชิ้นนี้ในประเทศไทยผลิตเท่าไร และคนต้องการเท่าไร ถ้าผลิต 100 ชิ้น แล้วคนต้องการ 10,000 คน ยังไงของมันก็แพง แต่ถ้าผลิต 10,000 ชิ้น คนต้องการ 2,000 ราคาก็ต้องลงเป็นปกติ เลยอยากย้ำว่าอย่าไปคิดว่าได้กำไรตลอด ขาดทุนก็เยอะแยะ"

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

ด้าน 'คุณภูมิ' (นามสมมติ) ก็มีถุงร้าน POP MART ในมืออย่างน้อย 3 ถุงเช่นกัน แต่ปริมาณของในถุงนั้นจะมีกี่ชิ้น เรื่องนี้คุณภูมิก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล ทีมข่าวฯ ถามคุณภูมิว่า ของที่มาซื้อวันนี้นำไปสะสม หรือขายต่อ เขาตอบว่า "ทั้งสองอย่างครับ"

"ตอนนี้ถ้าใครจะรีเซล เขาก็เอาไปขายในกลุ่มเฟซบุ๊ก จะมีคนรับซื้อ และขายกันอยู่ตลอด เราต้องพยายามตามกระแสให้ทัน อาจจะเคยเห็นเขาต่อแถวกันยาวๆ แต่สำหรับผมแล้วถ้าอันไหนยาก หรือลำบาก ก็ไม่ไป วันนี้ที่มาที่นี่เพราะว่าเขาจัดระบบดีขึ้นแล้วจากเมื่อวาน (20 กันยายน 2566) 

ในวงการอาร์ตทอยก็มีการขายรีเซลกันเยอะ พวกขนมาขายตามร้านที่กว้านซื้อไปได้ เขาก็จะเอาไปบวกราคาเพิ่มเพื่อขายหน้าร้านอีก มันเป็นวิธีการของเขา"

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า กำไรในการขายแต่ละครั้งได้มากน้อยเพียงใด "แล้วแต่ครั้งครับ อย่างรอบนี้ก็จะได้เฉลี่ยประมาณ 10% ในแต่ละชิ้นจากราคาปกติ ผมมาเองไม่ได้ถูกจ้างมา เลยรู้สึกว่ากำไรที่ได้จากของตรงนี้มันก็คุ้ม มาทีนึงก็ได้เยอะอยู่ ถ้าจะซื้อไปเก็งกำไรจริงๆ" คุณภูมิตอบ

20 กันยายน 2566
20 กันยายน 2566

ทาง 'คุณแก๊ป' (นามสมมติ) วันนี้ไม่ได้มาซื้อของที่ POP MART แต่ปกติเขาอยู่ในวงการอาร์ตทอยอยู่แล้ว วันนี้บังเอิญมาเจอคนรู้จักที่มาต่อแถวซื้อสินค้า POP MART พอดี ทำให้ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุย

คุณแก๊ป เล่าอ้างถึงเพื่อนของตนที่นำไปรีเซลว่า "เพื่อนผมเมื่อวานได้คิว ถ้าให้คิดโดยเฉลี่ยจากของที่เขาซื้อไปแล้วขายหมด รวมๆ กำไรแล้วก็คงได้ประมาณ 4-5 หมื่น แต่ต้องขายของให้หมดนะ ถึงจะได้เงินแบบนั้น"

เขาเล่าถึงตัวเองต่อว่า "อาจจะรีเซล แต่ก็ไม่ได้เป็นคนที่รีเซลเต็มตัว คือซื้อของทั้งหมดมา แต่เก็บเฉพาะบางอย่าง บางชิ้นก็ขายไป เอากำไรจากตรงนั้นมาเป็นค่าของที่อยากได้ 

อย่างผมถ้าได้คิว ก็จะซื้อตัวอื่นที่ไม่อยากได้ด้วย เพื่อจะนำไปขาย ถ้าจะถามว่าคุ้มค่าไหม ก็ถือว่าคุ้มค่านะ เหมือนกับว่าเราได้ของในราคาที่ถูกลง เพราะมีกำไรจากรีเซล คล้ายการแลกเปลี่ยน ส่วนคนที่ซื้อมาเพื่อรีเซลอย่างเดียว ยังไงก็ได้กำไรแน่นอน แต่พวกนั้นจะเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการสะสม เน้นขาย ไม่เน้นเก็บ

ผมมองว่าคนที่สะสมจริงๆ แล้วไม่ขายเลยน้อยมาก บางคนที่สะสมจนเริ่มเบื่อ พอมีของใหม่ออกมา ก็เอาอันเดิมไปขาย แล้วก็ไปซื้อตัวใหม่ ที่เขาขายกันแพงก็เพราะบางชิ้นเป็นไปตามกลไกตลาด ซื้อราคาป้าย 5,000 แต่พอมันโดดขึ้น 2-3 หมื่นบาท จะไม่อยากขายเหรอ มันก็แล้วแต่คนมากกว่า 

คนที่สะสมแล้วไม่คิดจะขายเลย มีน้อยมากๆ น้อยจริงๆ เงินมันต้องหมุน สินค้าพวกนี้ออกตลอด แล้วเราก็อยากได้ตลอด ส่วนเรื่องคุ้มค่าไหม ก็แล้วแต่ว่าเราได้ตัวไหน ถ้าซื้อกล่องสุ่ม 300-400 แต่ได้ตัวไม่ดี อาจจะขายได้แค่ 200 เท่ากับว่าขาดทุนนะ 

แล้วก็มีในกรณีที่เราได้คิว แล้วไปกว้านซื้อของมาหมดเลย แต่ของตรงนั้นขายไม่หมด ทำให้กำไรที่จะได้ไปจมอยู่ที่ของ ซึ่งเป็นของที่เราไม่อยากได้ ก็ต้องแบกรับไป ถ้าถามว่ากำไรไหม มันก็กำไร แต่มีขาดทุนด้วยแน่นอน".

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ 20 กันยายน 2566 : ธนัท ชยพัทธฤทธี #ThairathPhoto

อ่านบทความที่น่าสนใจ :