กรมสรรพากร จะเริ่มเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ รูปแบบใหม่ 1 ม.ค. 2567 สร้างความวิตกให้กับคนที่มีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ และคนที่มีแฟนชาวต่างชาติ ที่วางแผนมาเกษียณอายุในไทย เพราะจะถูกเรียกเก็บภาษี หากอยู่ในไทยเกิน 180 วัน ขณะเดียวกันยังมีคำถามถึงข้อยกเว้นที่ยังคาใจ ทำให้คนไทยไม่กล้านำเงินต่างชาติเข้ามา

จากประกาศ กรมสรรพากร ได้ปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ โดยกำหนดว่า คนที่อยู่ไทยเกิน 180 วัน มีรายได้จากต่างประเทศ ต้องเสียภาษี เช่น มีค่าจ้างงานทำงานในต่างประเทศ กำไรจากการขายทรัพย์สินในต่างประเทศ เงินปันผลจากหุ้นต่างประเทศ ดอกเบี้ยจากการลงทุนต่างประเทศ ค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เป็นต้น

อีก 3 เดือนจะเริ่มบังคับใช้ แต่รายละเอียดปลีกย่อยยังไม่ถูกเผยแพร่ออกมา ทำให้นักลงทุนไทยมีความวิตกกังวล โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์กฎหมายภาษีอากร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ต้นปีหน้าจะเริ่มเก็บภาษีจากแหล่งเงินได้นอกประเทศ แต่สิ่งที่นักลงทุนกังวลคือ การไปลงทุนในต่างประเทศแล้วได้เงินปันผล หรือได้กำไรจากการขายหน่วยลงทุน จะถูกเรียกเก็บภาษี

...

เช่นเดียวกับ คนไทยไปทำงานต่างประเทศ นำเงินที่ได้กลับมาไทย ก็เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี เพราะถ้ากลับมาอยู่ไทยเกิน 180 วัน ส่วนคนไทยที่มีแฟนต่างชาติ ต้องตรวจสอบว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นของใคร ถ้าเป็นบุคคลอยู่ต่างประเทศ แล้วกลับไทยไม่เกิน 180 วัน สามารถนำเงินเข้ามาได้ แต่ถ้าอยู่นานกว่านั้นต้องจ่ายภาษี

“ภาษีนี้เก็บเฉพาะคนที่มีรายได้จากต่างประเทศ แล้วอยู่ในไทย ถ้าอยู่ไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นคนที่อยู่ต่างประเทศ และไม่กลับมาตั้งรกรากที่ไทย ก็ไม่น่ากังวล แต่กระทบกลุ่มที่เกษียณอายุ แล้วตัดสินใจกลับมาอยู่ไทย เช่น ทำงานต่างประเทศมา 10-20 ปี เก็บเงินมาทั้งชีวิต ขนเงินหลังเกษียณมาไทย มีความเสี่ยงต้องจ่ายภาษี เพราะเข้าเกณฑ์อยู่ไทยเกิน 180 วัน กรณีนี้เป็นประเด็นที่กรมสรรพากรต้องมีรายละเอียด บางประเทศมีอนุสัญญาภาษีซ่อนกับไทย คือจ่ายภาษีประเทศต้นทางแล้ว มีการยกเว้น เมื่อนำเงินเข้ามาไทย ทำให้ต้องมีภาระการพิสูจน์ตามมา”

เช่นเดียวกับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ หรือกลุ่มที่ประกอบอาชีพนวด เมื่อมีรายได้นำกลับเข้ามาไทย แล้วอยู่เกิน 180 วัน ถือว่าเข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่มีบางกรณีที่หลุดรอดไปบ้าง อย่างกลุ่มที่เป็นรายย่อยนำเงินเข้ามาไม่มาก หรือกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศยังมีช่องทางเลี่ยงภาษีอยู่

นักลงทุนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมา ดังนั้นเมื่อมาตรการนี้บังคับใช้ต้องมีการปรับตัวของผู้เสียภาษี ซึ่งกรมสรรพากรรับทราบถึงปัญหา ได้ออกมายืนยันว่าต้องไปคุยกับผู้มีส่วนได้เสียถึงแนวทางชัดเจน

เหลือเวลาอีก 3 เดือน จะเริ่มใช้มาตรการนี้ รัฐบาลชุดใหม่ควรมีการวางกรอบบังคับใช้ชัดเจน เพราะถ้าเริ่มใช้แล้วมาแก้ไข จะทำให้ไม่เกิดความมั่นใจ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่นักลงทุนไทยก็ไม่อยากไปลงทุนในต่างประเทศ

“อัตราการเก็บภาษีจะนำมารวมกับรายได้ทั้งหมด นั่นแสดงว่าถ้ามีงานประจำที่ไทย และมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามา ต้องเสียภาษีแบบทบยอดขึ้นไปจากเดิม สิ่งนี้ทำให้คนที่อยากจะกลับมาอยู่ไทย ไม่อยากกลับ โดยตัดสินใจใช้ชีวิตในต่างประเทศไปตลอดชีวิต ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาส แทนที่จะได้ความรู้คนเหล่านี้มาช่วยพัฒนาประเทศ หรือเงินรายได้ที่นำมาลงทุนในประเทศหายไป ส่งผลกระทบต่อไทยระยะยาว”

แนวทางการจัดการของภาครัฐ ควรมีการเลื่อนบังคับใช้การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศไปในปี 2568 เพื่อให้นักลงทุนไทยได้เตรียมตัว และกรมสรรพากรจะได้ออกรายละเอียดชัดเจนครอบคลุมที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตามมา.

...