วันนี้ 11 ก.ย. 66 พบร่างผู้เสียชีวิตคือ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล. หรือ ผู้กำกับเบิ้ม ในบ้านพักย่านปทุมธานี คาดมีความเครียดจากกรณีที่พาผู้ใต้บังคับบัญชาคือ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. ถูกนายหน่องลูกน้องกำนันนก ยิงเสียชีวิตในบ้านพัก จ.นครปฐม จนมีการตรวจสอบทางวินัย ขณะที่สังคมตั้งคำถามกับผู้ตาย ทำให้เกิดความเครียดสะสม เผยภาพวงจรปิดก่อนตาย ปีนเข้าบ้าน และออกจากกลุ่มไลน์ ท่ามกลางปริศนา
วันนี้ช่วงบ่าย เพื่อนผู้ตายเป็นผู้พบร่าง หลังบุกเข้ามาในบ้านพักย่านคูคต จ.ปทุมธานี โดยช่วงค่ำก่อนเกิดเหตุ ผู้กำกับเบิ้ม ได้ไปทานข้าวกับเพื่อนย่านเมืองทองธานี ก่อนจะนอนในโรงแรมย่านเดียวกัน ซึ่งระหว่างทานข้าว เพื่อนได้พูดคุยให้กำลังใจอยู่ตลอด กรณีที่ไปเกี่ยวโยงกับการกินเลี้ยงโต๊ะจีนที่บ้านกำนันนก โดยมีผู้ใต้บังคับบัญชาคือ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. เดินทางไปด้วย แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น หลายคนจึงมุ่งเป้าโทษผู้บังคับบัญชา สิ่งนี้ทำให้เกิดความเครียด
ภาพจากกล้องวงจรทำให้เห็นว่า ผู้กำกับเบิ้ม ออกจากโรงแรมในย่านเมืองทองธานี ราว 04.00 น. ขึ้นรถแท็กซี่สีชมพู แม้ก่อนหน้านี้นัดพลขับให้มารับเวลา 09.00 น. เมื่อแท็กซี่พาผู้กำกับเบิ้มมาถึงบ้านพักย่านคูคต เวลา 04.51 น. เจ้าตัวปีนรั้วเข้าบ้าน แต่ไม่มีอาการมึนเมาให้เห็น ก่อนออกจากกลุ่มไลน์ของเพื่อนๆ เวลา 10.00 น. คาดว่า ทำการปลิดชีพตัวเองในเวลา 13.50 น.
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ถึงมูลเหตุว่า การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล. หรือ ผู้กำกับเบิ้ม ต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นความตั้งใจปลิดชีพตัวเอง หรือมีสาเหตุอื่น โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่น่าจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด
หากเป็นการปลิดชีพตัวเองจริง มีเหตุมาจากความเครียดกดดันที่เกิดขึ้นขณะนี้เกี่ยวโยงกับคดีกำนันนก เพราะประเด็นนี้ทำให้สังคมมีการตั้งคำถามไปยังผู้บังคับบัญชา ประกอบกับช่วงเกิดเหตุในบ้านกำนันนกทำไมไม่มีการหยุดยั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน หากเป็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้กำกับเบิ้ม ดังที่มีรายงานว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีผลต่อการตัดสินใจ เนื่องจากมีการหลั่งของสารในสมองผิดปกติ ทำให้ความคิดการตัดสินใจแตกต่างจากบุคคลปกติ
นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจ โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยตำรวจถูกปลูกฝังว่า รุ่นพี่ต้องดูแลรุ่นน้อง หรือแม้แต่การจับกุมคนร้าย รุ่นพี่รุ่นน้องต้องช่วยกันควบคุมสถานการณ์ ถ้าเป็นการต่อสู้กับคนร้าย พี่ต้องไม่ทิ้งน้อง แต่กรณีเหตุที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงของกำนันนกทำให้เกิดความเครียด
ประกอบกับผู้กำกับเบิ้มผ่านการฝึกหลักสูตรที่ส่งเสริมสมรรถภาพด้านร่างกาย เช่น หลักสูตรต่อต้านก่อการร้ายที่ค่ายนเรศวร 261 สิ่งนี้ทำให้เกิดความกดดันมากขึ้นในด้านจิตสำนึกความรับผิดชอบ ตำรวจที่ไม่ผ่านการฝึกหลักสูตรอาจมีความคิดว่าจับกุมคนร้ายเพียงอย่างเดียว ด้วยแนวคิดการฝึกหลักสูตรเหล่านี้ทำให้ผู้ผ่านการฝึกเกิดความเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“การปลิดชีวิตตัวเองอาจมีเหตุผลมาจากความกดดันของสังคม และคนในแวดวงวิชาชีพเดียวกันเป็น 2-3 เท่า แต่ถึงอย่างไรต้องรอผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง”
พฤติกรรมก่อนปลิดชีพเพียงลำพัง
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ถึง พฤติกรรมก่อนการเสียชีวิตจากภาพวงจรปิดหน้าบ้านพัก เห็นภาพผู้กำกับเบิ้มปีนรั้วเข้าบ้าน เป็นอีกพฤติกรรมทางกายที่แสดงออกถึงความเครียด มีความสับสนทางความคิด โดยเฉพาะการออกจากกลุ่มไลน์ เพราะไม่อยากรู้เรื่องความเคลื่อนไหวใดๆ
แนวทางแก้ไขของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีการป้องกันการปลิดชีพตัวเองของตำรวจ ควรมีการแก้ไข แม้มีจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษา แต่ยังมีไม่เพียงพอ เพราะตำรวจมีสองแสนกว่านาย แต่ผู้ให้คำปรึกษามีแค่สิบกว่าคน ดังนั้นผู้บังคับบัญชาควรมีการทำงานเชิงรุกเพื่อดูแลผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่านี้.