คดียิงสารวัตรทางหลวง "พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว" เสียชีวิต ภายในงานเลี้ยงของกำนันนก “ประวีณ จันทร์คล้าย” ผู้กว้างขวางในพื้นที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม และ พ.ต.ท.วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้รับบาดเจ็บ จากการลงมือของ ธนัญชัย หมั่นมาก หรือหน่อง ท่าผา คนสนิทกำนันนก ซึ่งภายหลังการหลบหนี ได้ถูกวิสามัญ ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าต้องเป็นเช่นนั้น
ตามมาด้วยคำถาม เพราะในวันเกิดเหตุได้มีตำรวจมาร่วมงานเลี้ยงกว่า 20 นาย ในจำนวนนี้มีระดับผู้กำกับ 3 นายในส่วนตำรวจทางหลวง ตำรวจพื้นที่นครปฐม และ สน.พญาไท แล้วทำไมนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ผู้ก่อเหตุหลบหนีไปได้อย่างง่ายดาย อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และยังปล่อยให้มีการทำลายพยานหลักฐาน ถอดเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดทั้ง 13 ตัว
หรือเพราะเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด ร่ำรวยเงินทองจากธุรกิจรับเหมาลาดยางมะตอยและทำถนน ซึ่งรับช่วงมาจากรุ่นพ่อ และตระกูลจันทร์คล้ายของกำนันนก มีสายสัมพันธ์กับบ้านใหญ่นครปฐม แม้อายุเพียง 35 ปีเท่านั้น แต่มีบรรดานักการเมืองท้องถิ่น และบริวารมากมาย รวมถึงในแวดวงสีกากีระดับบิ๊ก เข้ามาห้อมล้อมเป็นจำนวนมากในหลายโอกาส และในงานเลี้ยงที่จัดเป็นประจำทุกเดือน
แต่คดีที่เกิดขึ้นเป็นการยิงตำรวจเสียชีวิตอย่างอุกอาจ เป็นที่สนใจของสังคม จนในที่สุดกำนันนก ต้องเข้ามอบตัวยัง สภ.เมืองนครปฐม ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือยุยง บงการให้ลูกน้องคนสนิทก่อเหตุ แต่ลูกน้องตัดสินใจเอง ไม่ทันรู้ จึงไม่ได้เข้าห้ามปราม และต่อมามีการโอนสำนวนคดีมาที่กองปรามปราม ถูกควบคุมตัวมาสอบปากคำในคดีใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น ก่อนขอฝากขังต่อศาลอาญารัชดา ในวันที่ 9 ก.ย.
...
ทำไมนายตำรวจ สังสรรค์บ้านกำนันนก บ่อยครั้ง
อีกหนึ่งคนที่ตั้งคำถามเช่นเดียวกับหลายๆ คนในสังคม “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แม้หลายคนคงตั้งคำถาม ซึ่งอาจจะยังไม่ได้คำตอบว่าเหตุใดนายตำรวจหลายนายจึงไปสังสรรค์ที่บ้านกำนันคนนี้บ่อยครั้ง และการโยกย้ายแค่ระดับชั้นประทวนจากการทำหน้าที่หนึ่งมาทำอีกหน้าที่หนึ่ง หากยังย้ายไม่ได้ ถึงกับต้องฆ่านายตำรวจเลยหรือ ทำไมการทำหน้าที่ของตำรวจแต่ละตำแหน่ง จึงมีความสำคัญต่อชีวิตมาก แล้วเหตุใดเรื่องเหล่านี้จึงไม่ได้รับการแก้ไข
“ขณะที่ผู้ก่อเหตุกำลังใช้อาวุธปืนยิง นายตำรวจในที่เกิดเหตุหลายนาย ไม่มีใครมีอาวุธปืนติดตัวไปบ้าง เพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์เพราะจะได้ช่วยชีวิตรุ่นน้อง หรือไม่คิดจะจับกุมผู้ต้องหาที่กำลังจะหลบหนีบ้างหรือ ทำไมจึงไม่รีบปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ ให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด ทั้งคราบเลือด หยดเลือด ปลอกกระสุนปืน เขม่าดินปืน จากเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด รวมทั้งรีบเรียกกำลังตำรวจในพื้นที่มาสนับสนุนการทำงาน หรืออาจจะทำ แต่ไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด”
คดีนี้จะจบลงเพียงแค่ความตายของมือปืนที่ก่อเหตุหรือไม่ กฎหมายฟอกเงินจะถูกนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ได้บ้างหรือไม่ และเหตุใดกำนันคนนี้ จึงมีอิทธิพลในพื้นที่ได้มากขนาดนี้ มีหน่วยงานราชการใดกำกับดูแลบทบาท หน้าที่ การทำงานของกำนันบ้าง และได้ดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขของชุมชน ไม่ใช่เพื่อการสร้างบารมี และอิทธิพล
“กำนันที่ดีๆ มีอีกมาก แต่คงมีไม่มากที่จะมีนายตำรวจหลายนายในตำแหน่งหน้าที่ต่างกันมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันบ่อยครั้ง เหตุใดนายตำรวจเหล่านี้จึงเลือกไปสังสรรค์ที่บ้านกำนันคนนี้มากกว่าไปบ้านกำนันคนอื่น และทำไมอาวุธปืนจึงไปอยู่ในมือบุคคลเหล่านี้ เพียงเพราะเป็นลูกน้องกำนันหรือ แล้วทำไมจึงมาใช้ก่อเหตุได้"
ผู้มีอิทธิพลฐานเสียงนักการเมือง สังคมต้องยอมรับสภาพ?
พร้อมกับถามไปยังรัฐบาลใหม่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้อย่างไรที่มิให้เป็นแค่เพียงไฟไหม้ฟาง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลากหลายหน่วยงาน และนโยบายการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล ถ้าพรรคพวกตน ฐานเสียง จะถูกขึ้นบัญชีด้วยหรือไม่ มีหลักเกณฑ์ใดที่จะมาบอกว่าคนนี้คือผู้มีอิทธิพล และผู้ที่จะถูกขึ้นบัญชีจะมีเฉพาะพลเรือนเท่านั้นหรือไม่
...
ปัญหาที่สะสมทั้งหัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติด้วยหรือไม่ ใครอยู่เบื้องหลัง และสังคมไทยเรายังคงต้องยอมรับเหตุร้ายแรงเช่นนี้โดยไม่มีมาตรการใดมาควบคุม ป้องกันได้เลยหรือ หรือต้องยอมรับกับสภาพที่เป็นอยู่ในลักษณะแบบนี้ไปอีกตราบนานเท่านาน และอีกหลากหลายคำถาม
“ขอร่วมไว้อาลัยแด่สารวัตรศิวกร ผู้ซึ่งเป็นทั้งรุ่นน้องนายตำรวจจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และในฐานะลูกศิษย์ มหาบัณฑิตของคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต ซึ่งเสียชีวิตจากการยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดำรงคงไว้ซึ่งหลักธรรมภิบาลและแนวทางปฏิบัติที่ดี ขอให้วิญญาณน้องไปสู่สุคติในภพภูมิที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้เรื่องของน้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในทางที่ดีขึ้น เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงลักษณะแบบนี้ขึ้นอีก”
ค่าตอบแทนต้องดี ได้ ตร.น้ำดี ไม่อยู่ใต้อาณัติกลุ่มอิทธิพล
ขณะที่ "ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง" อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ระบุว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าตำรวจไปพบกำนันนก เพื่ออะไร อาจเพราะความรู้จักคุ้นเคยส่วนบุคคล หรือมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในการพบปะสังสรรค์เป็นการส่วนตัว หรือเรื่องงานก็ไม่รู้ แต่หากพูดตามหลักทฤษฎี ทางตำรวจไม่ควรอยู่ใต้อาณัติกลุ่มอิทธิพล หรือกลุ่มผลประโยชน์ หรือใครก็ตามที่มีพฤติกรรมสีเทา ทำผิดกฎหมาย
...
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจ กับการได้รับค่าตอบแทนในอาชีพการงานสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ หากไม่ให้เกิดปัญหาไม่ให้ตำรวจไปคบหาสมาคมกับผู้มีอิทธิพล หรืออาจมีผลประโยชน์ จะต้องเริ่มจากสาเหตุเบื้องต้นในการทำให้ค่าตอบแทนตำรวจทั้งประเทศ ไม่ให้เกิดภาพเช่นที่เกิดขึ้น ต้องทำเหมือนกับข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถดำรงชีพได้และรักเกียรติของตน ไม่ต้องไปอยู่ในอาณัติของใคร จะทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจดีขึ้นกว่านี้ หากได้ค่าตอบแทนตามมาตรฐานสากล ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ จะรักษาตำรวจน้ำดีไว้ได้ เพราะไม่มีใครอยากทำชั่ว
“ทุกวันนี้มองภาพตำรวจค่อนข้างน่าสงสาร ต้องทำทุกอย่างให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ว่าการแต่งตั้ง ต้องแข่งขันกัน ซึ่งจะต้องกลับไปดูภาพใหญ่ทำให้เส้นทางการเจริญเติบโตชัดเจนมากกว่านี้ สังคมต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจ แก้ปัญหาให้ถูกจุดให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ตราบใดที่อยากจะได้ตำรวจน้ำดี ถ้าดูแลไม่ดีก็คงยาก แต่หากอิ่มหมีพีมันแล้ว ยังทำความผิดก็ต้องลงโทษอย่างเต็มที่ ดำรงศักดิ์ศรีตำรวจไม่ให้ไปคบกับพ่อค้าหรือกลุ่มใด”
...
โอกาสเอาผิดกำนันนก บงการฆ่า ค่อนข้างยาก ไม่ง่าย
กรณีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต้องถามว่าใครเป็นหัวคะแนน เป็นนั่งร้านให้ผู้มีอำนาจฝ่ายการเมือง ก็ไม่ใช่คนเหล่านี้หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรเลือกตั้งเข้ามาให้มีอำนาจในบ้านเมือง ตราบใดยังชื่นชมคนเหล่านี้ ก็จะแก้ปัญหายาก และคิดว่าโอกาสจะเอาผิดกำนันนก ค่อนข้างยาก เพราะมือปืนพยานบุคคลที่สำคัญได้เสียชีวิตแล้ว นอกจากตำรวจจะสามารถหาพยานหลักฐานที่โยงใยเชื่อมโยงไปยังกำนันนกได้ว่ามีส่วนบงการฆ่า แต่ค่อนข้างยาก ไม่ง่าย และในส่วนตำรวจที่มาร่วมงานก็เป็นพยานบุคคลได้ หากให้การในทางเดียวกันสอดคล้องกัน และบ่งบอกว่ากำนันนกมีส่วนร่วม
ส่วนการที่ตำรวจในที่เกิดเหตุปล่อยคนร้ายให้หนีไปได้ และไม่ตอบโต้ใดๆ จะเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องดูที่เจตนาของตำรวจแต่ละคน ยังบอกไม่ได้ว่าใครผิดหรือไม่ผิด ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของตำรวจว่าได้ช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือไม่ มีการละเว้นหรือไม่ หรือเหตุสุดวิสัยว่าทำไมไม่ทำ ซึ่งผู้อิทธิพลในพื้นที่ ทางตำรวจไม่จำเป็นต้องไปคารวะใคร หรือหวั่นเกรงใคร เพราะเป็นผู้ถือกฎหมาย
“เคสที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็น ไม่ว่าเป็นการวางตัวของตำรวจก็ดี หรือการมีสัมพันธ์กับใครต้องระวังตัวให้มากขึ้น ต้องมีสติ มีเหตุผลในการคบหากับคน จะต้องวางตัวให้เหมาะสม และระวังอย่าทำให้คนเหล่านี้ไม่เกรงใจในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้เป็นเครื่องมือนำมาแอบอ้าง หรืออาจไม่มีอะไรก็ได้ อาจไม่กินข้าวครั้งเดียว แต่ถูกนำไปสร้างผลประโยชน์ของเขา ทำสิ่งที่คาบเกี่ยวกับสิ่งไม่ถูกกฎหมาย สรุปแล้วเรื่องค่าตอบแทนจะต้องทำให้ตำรวจสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี”.