โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ของพรรคเพื่อไทยตามที่เคยหาเสียงไว้ จะเริ่มได้เมื่อไร? เป็นคำถามจากประชาชนโดยส่วนใหญ่ หลัง ครม.ชุดใหม่ เดินหน้าทำงานบริหารประเทศ และได้คำตอบจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเริ่มใช้วันที่ 1 ก.พ. 2567 ในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น 

ท่ามกลางกระแสข่าวจะไม่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) แต่จะเพิ่มฟังก์ชั่นในแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในรูปแบบของ e-Money คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง ทำให้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย ต้องออกมายืนยันว่านโยบายเงินดิจิทัล จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีแบบเดิม เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่าหากดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จะสามารถทำได้รวดเร็วกว่า เหมาะกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ถ้าจะยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้าน คงต้องพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ เนื่องจากตามกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32% ของงบประมาณ (1.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งขณะนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบประมาณ

...

"เป็นการประเดิมงานแรกของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลัง และโครงการกู้ยืมเงินรัฐวิสาหกิจยังมีปัญหาอีกอย่าง ไม่อยู่ในงบประมาณ เท่ากับไม่ต้องผ่านสภา ไม่ต้องโดนสภาตรวจสอบตอนอนุมัติงบ"

ใช้ระบบเทคโนโลยีเดิม แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เร็วกว่า

ก่อนหน้านั้น "ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยเสนอให้ใช้ระบบพร้อมเพย์ โครงการคนละครึ่ง ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อความรวดเร็ว หากคิดระบบใหม่จะใช้เวลานานต้องสร้างบล็อกเชน และกฎระเบียบของแบงก์ชาติจะทำได้หรือไม่ เพราะเงินแสนล้านบาท รวมไปถึงเรื่องเทคนิคอล อาจประมาณไตรมาส 2 ปีหน้า อีกทั้งต้องใช้งบจำนวนมาก จะต้องลดงบกระทรวงอื่น บริหารงบอย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะกู้มาเพิ่ม ส่วนจะกู้มากแค่ไหน มีกฎระเบียบและกฎหมาย และการจะดำเนินการบางลักษณะ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะของใหม่ 

“ถ้าคิดระบบใหม่ จะใช้เวลานานอย่างแน่นอน และร้านค้าบริการต้องมีการลงทะเบียน กว่าจะให้ครอบคลุมต้องใช้เวลานาน ยกตัวอย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการเงินดิจิทัล ต้องมีร้านครอบคลุมในรัศมี 4 กิโลเมตร ก็ไม่ง่าย หากไม่ใช่ร้านค้าขนาดใหญ่ หรือกรณีรถเข็นขายหมูปิ้ง ร้านค้าเล็กๆ จะวัดกันอย่างไรในการเข้าร่วมและดูจากโลเคชั่น อาจเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เหมือนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งร้านเล็กจะลำบาก อาจลงทะเบียนตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านในบ้านเกิด แต่ความจริงไปขายในจังหวัดอื่น จะเป็นปัญหา เพราะจดอีกที่ ไปอยู่อีกที่”

พร้อมกับย้ำว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะรวดเร็วต้องใช้ระบบเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ และต้องหาแหล่งเงินให้ได้ หากสร้างระบบใหม่ ต้องตรวจสอบระบบให้มีความปลอดภัยและมีความโปร่งใส อย่างที่ผ่านมาทางแบงก์ชาติ พัฒนาระบบล็อกเชน ของ CBDC หรือบาทดิจิทัล ใช้เวลานานเป็นปีๆ เคยทดลองในบางพื้นที่ในกลุ่มเฉพาะ ก็ไม่สามารถให้ประชาชนใช้ได้ จะต้องหารือกับแบงก์ชาติ หากมีแฮกเกอร์ ใครจะรับผิดชอบ หากเงินหายไป ซึ่งระบบ CBDC ก็คล้ายกับคูปองร้านอาหาร เพื่อให้ร้านค้าเอาเงินดิจิทัลมาแลกกับแบงก์ชาติ มาเป็นเงินบาท

...

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย จะต้องทำให้ได้ แต่มีความเป็นห่วงมากสุดหากไปกู้มา จะทำให้เป็นหนี้ในอนาคต ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุด ควรลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นในกระทรวงอื่นๆ เช่น ไม่เอาเรือรบ ไม่เอาเรือดำน้ำ และถ้าเราเป็นรัฐสวัสดิการ ฐานะทางเศรษฐกิจยังมีความเข้มแข็ง เชื่อว่ายังพอไหวภายในไม่กี่ปี จะไม่เสี่ยงต่อสถานะทางเศรษฐกิจ และขนาดเงินก็ไม่สูงมากนัก แม้จะใช้งบเป็นจำนวนมาก แต่ฐานะทางการคลังของไทยยังคงเข้มแข็ง จะไม่เกิดวิกฤติหนี้สินแบบละตินอเมริกาอย่างแน่นอน.