มารยาทผู้โดยสารบนแท็กซี่ของผู้โดยสารและผู้ขับ เป็นประเด็นดราม่าบนโลกออนไลน์ จนมีการถกเถียงถึงความเหมาะสม เช่น พนักงานขับรถไม่ควรพูดภาษาอีสานกับผู้โดยสาร เพื่อยกระดับการให้บริการ แม้มีการชี้แจงว่าเป็นเพียงการขอความร่วมมือ แต่สำหรับผู้ขับแท็กซี่ นอกจากความเข้าใจถึงมารยาทของผู้ขับที่มีต่อผู้โดยสารแล้ว การพัฒนาวิชาชีพเป็นอีกแนวทางที่อยากให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้ามาช่วยเหลือ

หลังมีกระแสดราม่า "เพจแท็กซี่ไทย" ออกแถลงแก้ข่าวประเด็นเรื่องการห้ามคนขับแท็กซี่ พูดภาษาอีสานกับผู้โดยสารว่า ไม่ได้บังคับคนขับแท็กซี่ในการใช้ภาษาอีสานกับผู้โดยสาร เพียงแต่เป็นการขอความร่วมมือเท่านั้น

ทีมข่าวเจาะประเด็นสอบถามไปยัง ศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย เล่าถึงสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาของผู้โดยสารกับคนขับแท็กซี่ว่า ด้วยความที่คนขับแท็กซี่ มีหลากหลาย แนวทางการปฏิบัติของผู้หญิงในการโดยสารแท็กซี่เป็นแนวทางปฏิบัติที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้โดยสารหญิงที่ต้องไปธุระยามค่ำคืน ดังนั้นผู้โดยสารหญิงที่เห็นว่าคนขับไม่น่าไว้วางใจ ควรถ่ายป้ายทะเบียนรถ ที่ติดบริเวณประตู หรือถ่ายรูปบัตรประจำตัวผู้ขับแท็กซี่ด้านหน้าไว้

...

หากกลัวคนขับรถจะพาอ้อม ผู้โดยสารมีสิทธิเปิดจีพีเอส และบอกคนขับให้ไปตามทางที่ต้องการได้ ส่วนการขอความร่วมมือ ให้คนขับไม่พูดอีสานกับผู้โดยสาร เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ควรมีการบังคับ หรือปิดกั้นการพูดภาษาถิ่น เพราะถ้าต้องการยกระดับ ควรมีการปรับเปลี่ยนด้านบริการให้ดีขึ้น

ถ้ามองมุมกลับกัน คนขับแท็กซี่ มีความเสี่ยงจากผู้โดยสารที่เมาสุรา หลายคนพอขึ้นมาแล้วก็บอกทางวกวน แต่แท็กซี่ไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่คนขับแท็กซี่เสียเปรียบ ขณะเดียวกันก็มีผู้โดยสารที่เป็นมิจฉาชีพ หลอกเอาเงินจากแท็กซี่อยู่ อย่างที่เคยเจอเช่น ชายแต่งตัวดีโบกรถบอกว่าจะไปสถานที่แห่งหนึ่ง แต่ขอไปทำธุระ แล้วขอยืมเงินคนขับแท็กซี่ก่อน แต่พอลงรถไปแล้วหาย ตามตัวไม่เจอ
การยกระดับบริการของแท็กซี่ รัฐบาลใหม่ควรมีการประเมินการบริการของคนขับ ควรมีการออกแบบให้เหมาะสม และอยากให้มีการปรับค่าโดยสารขึ้นจากเดิม เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างมีรายจ่ายที่สูงมากขึ้น

ข้อเรียกร้องแท็กซี่ ต่อรัฐบาลชุดใหม่

นอกจากกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลแล้ว ศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย เตรียมยื่นข้อเสนอต่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือดังนี้

1. โครงการแท็กซี่ก้าวหน้า (รถไฟฟ้า) เนื่องจากผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย หลังได้ต่ออายุจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา รถก็เริ่มทยอยหมดอายุไปประมาณ 20,000 คัน จากผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหมดประมาณ 45,000 คัน และจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีเงินในการไปดาวน์รถใหม่

จึงต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการ โครงการแท็กซี่ก้าวหน้า (รถไฟฟ้า) ให้เป็นรูปธรรม โดยต้องการให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือในการค้ำประกัน 50 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้ขับแท็กซี่รายย่อย ที่จะออกรถแท็กซี่ไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว และเป็นการช่วยลดมลพิษที่เกิดจากรถรับจ้างสาธารณะ

แต่การป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย โดยต้องจำกัดจำนวนรถลอตแรก 10,000 คัน กำหนดรถไฟฟ้าที่มาจดทะเบียน 2 ขนาด คือ 90 กิโลวัตต์ และขนาด 120 กิโลวัตต์ ขณะเดียวกันควรให้สมาคม หรือนิติบุคคลรับรอง รวมถึงให้ครอบครัวผู้เกี่ยวข้องเซ็นรับรอง
นอกจากนี้ ต้องให้ผู้ประกอบการรายย่อย เป็นผู้รับผิดชอบ ห้ามล็อกสเปก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรายอื่น และเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ.

...