ดินดำจากแหล่งเครื่องปั้นดินเผาเชียงใหม่ จากสินค้าที่ถูกมองว่าไร้ค่า ถูกปลุกปั้นให้เป็นศิลาดล หรือเครื่องสังคโลกของชาวล้านนา ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต ด้วยสีสันดินและรอยแตกลายงาบนภาชนะ กลายเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ร้านอาหารและโรงแรมห้าดาวระดับโลก เข้ามาสั่งจองจำนวนมาก ทำให้สินค้าที่เคยถูกมองว่ากำลังจะล้มหายตายจากไปพร้อมช่างท้องถิ่น กลับมายืนโดดเด่น จนมีการสานต่อของคนในเจเนอเรชันที่ 3

กว่า 40 ปี ก่อนศิลาดล หรือเครื่องสังคโลก ที่ชาวล้านนาเชียงใหม่ รับการสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษซบเซา เนื่องจากคนส่วนใหญ่หันไปใช้จานชาม ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมราคาถูก แต่ เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ บริษัท สยามศิลาดล พอตเทอรี่ จำกัด ผู้ผลิตศิลาดล หรือเครื่องสังคโลก จ.เชียงใหม่ กับสามีได้มองเห็นคุณค่าของดินเชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์สีสัน จึงได้ก่อตั้งโรงงานศิลาดล ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้ไม่เห็นด้วย ว่าอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

ป้าแดง-เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ และสามีผู้บุกเบิกศิลาดลเมื่อ 40 ปีก่อน
ป้าแดง-เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ และสามีผู้บุกเบิกศิลาดลเมื่อ 40 ปีก่อน

...

ป้าแดง - เพ็ญพรรณ เล่าให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ฟังว่า ยุคแรกที่เข้ามาบุกเบิกการทำศิลาดล ใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพราะคนในพื้นที่มีพื้นฐานด้านงานศิลปหัตถกรรม เช่น ร่มบ่อสร้าง ผ้าไหม และศิลาดล สิ่งนี้ทำให้คนสันกำแพง มีเลือดความเป็นศิลปินและช่าง ที่เรียกว่า “สล่า” โดยตลอดการก่อตั้ง 40 กว่าปี ใช้ช่างในชุมชนเกือบทั้งหมด

“เรารักษาการทำศิลาดล แบบดั้งเดิม ใช้ดินดำของเชียงใหม่ในการทำ เมื่อนำดินไปผสมกับขี้เถ้าไม้ โดยนำมาเผาสองครั้งในอุณหภูมิการเผาครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 1,300 องศาฯ ทำให้เกิดสีเขียว และรอยแตกลายงาธรรมชาติบนภาชนะ ทำให้งานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว วัสดุที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดมาจากธรรมชาติ แต่มีการนำเทคโนโลยีเตาเผา และน้ำเคลือบธรรมชาติ ที่คิดค้นใหม่เข้ามาประยุกต์”

ด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ ทำให้ราคาสินค้าที่ขายปรับขึ้นน้อยมาก แม้หลายคนมองว่าเป็นสินค้าที่ดูราคาสูง แต่ราคาที่ขายอยู่ตอนนี้เริ่มที่ 100 บาท โดยมีลูกค้าทั่วโลกที่เข้ามาซื้อและสั่งทำ โดยเฉพาะโรงแรมทั่วโลกที่มีนโยบายใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาสั่งสินค้าไปใช้ในโรงแรม เพราะเราเชื่อว่าจานอาหารที่มีเอกลักษณ์ของดินเชียงใหม่ จะทำให้อาหารทั่วโลกเป็นจานสวย และส่งต่อคุณค่าความภูมิใจของ “คนสันกำแพง”

ยุคแรกที่เริ่มทำศิลาดล เมื่อ 40 ปีก่อน มีความหนา หนักกว่าภาชนะชนิดอื่น ส่วนสีเคลือบไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องมาปรับวิธีการทำให้บางขึ้น เพราะถ้าส่งไปขายต่างประเทศ ถ้าภาชนะมีความหนา จะมีผลต่อค่าขนส่งที่สูง

“จุดแรกเริ่มของการทำคือ ทำเพื่อขายนักท่องเที่ยวที่มาสันกำแพง แต่พอเริ่มพัฒนาและมีช่องทางส่งออกไปต่างประเทศก็เปลี่ยนจากที่ผลิตที่เคยอยู่หน้าบ้านเป็นหลังบ้าน และขยายมาเป็นโรงงาน สินค้ายุคแรกเป็นถ้วย ที่เขี่ยบุหรี่ ซึ่งเมื่อเริ่มทำไปก็รู้สึกว่า ถ้าไม่ปรับการทำงาน ไม่นานก็ต้องปิดโรงงาน เลยเดินเข้าไปขอความรู้ตามมหาวิทยาลัย และผู้ที่มีความรู้ จนสามาถทำให้ศิลาดล ได้รับการยอมรับ”

...

การทำงานกับช่างในพื้นที่ยุคแรกต้องปรับการทำงานพอสมควร เพราะช่างท้องถิ่นยังคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดิม แต่พอผ่านมา 40 ปี ลูกหลานของคนท้องถิ่นที่เข้ามาทำก็เข้าใจในสิ่งที่กำลังทำมากขึ้น โดยบอกกับลูกหลานในพื้นที่เสมอว่า ศิลาดล ถ้าพวกเราไม่รักษา ไม่ปรับเปลี่ยนการทำงาน สุดท้ายภูมิปัญญาของบรรพบุรุษก็หายไป

การทำศิลาดล ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะแหล่งดินดำบางแห่งในเชียงใหม่ก็หมดไป การนำดินดำจากแหล่งดินใหม่มาใช้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สีและลวดลายแตกลายงา ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ยังคงคุณภาพของงานอยู่ แม้งานที่เราทำอยู่จะเป็นงานที่มีการทำหลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่การพัฒนาและเรียนรู้ของช่างตลอดเวลา เป็นเหมือนสิ่งที่การันตีว่า งานของเรายังคงได้รับการยอมรับ ถึงโลกจะเปลี่ยนไป ดีกว่าปล่อยให้หายไปอย่างที่ผ่านมา

...

ขณะนี้ส่งไม้ต่อให้หลานในเจเนอเรชันที่ 3 เข้ามาดูแล ซึ่งช่วงแรก หลานกลับมาจากต่างประเทศ ก็ไม่ได้อยากมาทำศิลาดล แต่พอนานเข้าก็เริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งนี้เป็นอะไรที่จับต้องได้ ถ้ามีการพัฒนา ก็ไปได้ในระดับโลก แสดงให้เห็นว่าดินเชียงใหม่ ถ้าผสมผสานไอเดียของคนรุ่นเก่าและใหม่ ก็ไปได้ระดับโลก.