เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคเพื่อไทย ประกาศชัดหลังจากร่วมประชุมกับผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ว่าเตรียมลดค่าไฟฟ้าและน้ำมันทันที เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานมองว่า หากมีการดำเนินการในระยะสั้นไม่รอบคอบ จะส่งผลให้ต้องไปเรียกเก็บภาษีพลังงานสูงขึ้นในอนาคต กลายเป็นวังวนบนความทุกข์ประชาชน

พรรคเพื่อไทย เคยหาเสียงไว้ หากได้เป็นรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก จะประกาศลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันลงทันที ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันการประชุม ครม.นัดแรก ลดราคาพลังงานได้ทันที

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพฯ ในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค วิเคราะห์ว่า การลดราคาน้ำมันและดีเซลสามารถทำได้แบบเร่งด่วนคือ 1. ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตอนนี้เก็บอยู่ที่ 5.99 บาท ควรกำหนดเพดานภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท/ปี เพราะรัฐบาลตั้งแต่ยุคคุณบรรหาร ศิลปอาชา เก็บอยู่ที่ 4 หมื่น–4 หมื่นล้านบาท/ปี แต่ยุคลุงตู่ ช่วงมีโควิดระบาด แม้ราคาน้ำมันลด แต่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันมากถึง 2 แสนล้านบาท/ปี สูงขึ้นต่อเนื่องถึง 3 แสนล้านบาท/ปี ดังนั้น ถ้าจะเก็บในอัตราขนาดนี้ ประชาชนต้องแบกรับภาระค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแกว่งตัว

...

ดังนั้น แนวทางแก้ไข ควรมีการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันไม่เกิน 1 แสนล้านบาท/ปี เมื่อทำได้จะสามารถทำให้น้ำมันที่มีราคาสูงลดลง อย่างน้อยค่าภาษีก็ลดลิตรละ 1 บาท

2. กองทุนน้ำมัน ตอนนี้เก็บอยู่ที่ 6.43 บาท ถือว่าสูงมาก โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายภาษี จึงควรลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนให้เหลือไม่เกิน 2 บาท

ราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา เพราะถ้าเทียบกัน ต้นทุนในการขนส่งของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ ทำให้ธุรกิจไทยแข่งขันกับชาติอื่นค่อนข้างยาก และเป็นผลทำให้การขึ้นค่าแรงงานยากมากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถกดราคาพลังงาน และค่าขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคได้

“การแก้ไขราคาพลังงานที่สูงจะช่วยให้ประชาชนได้ทั้งระบบมากกว่าการนำเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไปแจกให้กับประชาชน เพราะแจกไปแล้วไม่นานก็เข้าไปอยู่ในระบบนายทุน แต่ถ้าลดภาษีน้ำมันให้เหมาะสมจะช่วยได้ทั้งระบบ ทั้งนี้ ถ้ารัฐยังมาหาเงินจากภาษีน้ำมันด้วยการรีดจากชาวบ้านอย่างนี้ ไม่เหมาะสม แต่ควรไปหาเงินจากวิธีอื่นมากกว่า”

สำหรับมาตรการในการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน กรณีที่ทำเร็วสุด ควรจัดการเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่มาจาก 3 แหล่งคือ 1. ก๊าซในอ่าวไทย ที่มีราคาถูกสุด 2. ก๊าซจากเมียนมา ซึ่งได้แก่ มีเทน 3. แอลเอ็นจี เป็นก๊าซนำเข้าที่แพงที่สุด

เมื่อนำก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามาคิดเฉลี่ยรวมกันทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เนื่องจากก๊าซในอ่าวไทย มีการนำไปใช้ในธุรกิจอื่นด้วย ดังนั้นถ้าหน่วยงานรัฐมีการกำหนดให้บริษัทที่ดูแลก๊าซในอ่าวไทย มีการกำหนดราคาแบบสากล โดยไม่ใช้เฉพาะราคาในไทยอย่างที่เป็นอยู่ จะได้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 4 หมื่นล้านบาท และเงินส่วนนี้ ช่วยมาลดค่าไฟฟ้าได้ 20 สต./หน่วย

“ต้องรอดูว่า คุณเศรษฐา จะกล้าหรือไม่ ในการกล้าขัดกับกลุ่มทุนด้านพลังงาน เพื่อจัดการระบบก๊าซในอ่าวไทยใหม่ ซึ่งมีผลกับกลุ่มทุนของพรรคการเมืองที่มีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ยังนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้เพื่อให้ค่าไฟลดลงเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ก็เป็นแบบไม่ยั่งยืน สุดท้ายประชาชนก็ต้องแบกรับอัตราค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเป็นวังวนเหมือนเดิม”