เรียกว่าเป็น “ดราม่าปังชา” มา 2 วัน สำหรับปัญหาเรื่อง “เครื่องหมายการค้า” ของร้านลูกไก่ทอง ที่เจ้าของได้ออกมาโพสต์และห้ามร้านอื่นๆ ใช้คำว่า “ปังชา” และมีการยื่นโนติส จะเรียกค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทางร้านได้โพสต์ข้อความขออภัย ในความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน...

ถึงแม้...เรื่องจะจบ แต่ความเข้าใจของคนทั่วไปยังไม่จบ เพราะยังสับสนประเด็น “เครื่องหมายการค้า” ว่าสรุปแล้วใช้คำว่า ปังชา ได้หรือไม่ และหากใช้ไม่ได้ เป็นเพราะอะไร เพื่อเป็นการตอบคำถามนี้ให้กระจ่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงพูดคุยกับ น.ส.ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยอธิบายทุกอย่างแบบชัดเจน เรียกว่าหากใครได้อ่านน่าจะหายงง! และ ได้แนวทางในการตั้งชื่อเพื่อใช้เป็น “เครื่องหมายการค้า” ด้วย 

น.ส.ทักษอร กล่าวถึงประเด็นที่มีปัญหาในเวลานี้ คือ “เครื่องหมายการค้า” โดยสิ่งที่จดกับทรัพย์สินทางปัญญา คือ ตัวบ่งชี้ คือ “ปังชา ตราลูกไก่ทอง” 

ปังชา ลูกไก่ทอง
ปังชา ลูกไก่ทอง

...

เครื่องหมายการค้า มีไว้เพื่อแยกแยะว่าสินค้าชนิดนี้ ผลิตและขายโดยใคร 

หลักการจดเครื่องหมายการค้า จะต้อง “ไม่มีคำ” ที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะ และสินค้าโดยตัวมันเอง เพราะคำเหล่านี้ เป็นคำที่ใครๆ ที่ขายสินค้าสามารถใช้ได้ 

ฉะนั้น หลักการของ “เครื่องหมายการค้า” ถ้าเครื่องหมายประกอบด้วยหลายภาคส่วน และมีภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่ง เล็งไปถึงตัวสินค้าหรือบริการ เจ้าของ “ตราสินค้านั้น” ต้องสละออก 

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ ดังนี้ “ปังชา” คนทั่วไปจะเข้าใจว่ามันคือ “ขนมปัง+ชา” ขนมปังราดในน้ำแข็งไส บวกกับชานม ฉะนั้น คำว่า “ปังชา” ในที่นี้จะชวนให้นึกถึงตัวสินค้า ว่าร้านค้านั้นๆ ขายอะไร 

ดังนั้น ตามภาษากฎหมายเครื่องหมายการค้า จะแปลว่า เป็นการ “เล็งถึงสินค้าและบริการ” ซึ่งนำมาจดเป็นเครื่องหมายการค้าได้ แต่ต้อง “สละสิทธิ์“ แปลง่ายๆ ว่า ไม่มีสิทธิ์ห้ามคนอื่นใช้คำนี้....

เครื่องหมายการค้า นั้นมีหลายภาคส่วน บางอย่างก็มีเฉพาะคำ บางอย่างก็มีเฉพาะภาพ แต่ที่เราคุ้นๆ กัน อาจจะมีทั้งคำและภาพ บางอันเป็นลายลักษณ์อักษร ลายเส้น ซึ่งทุกอย่างรวมกัน คือ “เครื่องหมายการค้า” 

ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ใช้คำ หรือ ภาพ ทำให้นึกถึงตัวสินค้าที่ขาย ประเภทสินค้า คุณลักษณะสินค้า  

ยกตัวอย่าง ใช้รูปมะนาว ในน้ำยาล้างจาน ซึ่งน้ำยาล้างจานแทบทุกยี่ห้อก็มีมะนาว หรือ ขายนม แล้วใส่รูปวัวลงไป ใช้คำว่า “อร่อย” กับร้านอาหาร “ขาว” กับสินค้าเครื่องสำอาง คำเหล่านี้แหละ คือคำที่เล็งถึงสินค้าและบริการ และเมื่อคำเหล่านี้เมื่ออยู่ในองค์ประกอบเครื่องหมายการค้า จำเป็นต้องสละสิทธิ์ นั่นเอง แต่ภาพรวมก็ยังจดเครื่องหมายการค้าได้....

ปังชา ลูกไก่ทอง กับเครื่องหมายการค้า 

น.ส.ทักษอร กล่าวถึงกรณีร้านลูกไก่ทอง ว่า มีการยื่นเครื่องหมายการค้าเข้ามา 9 ตัว ส่วนใหญ่จะ “สละสิทธิ์” คำว่า “ปังชา” ดังนั้นแปลว่า ใครจะหยิบคำว่า “ปังชา” ไปใช้ก็ได้ แต่จะเอามาวางอยู่กับองค์ประกอบอื่น ที่อยู่ในเครื่องหมายการค้าไม่ได้ 

ประเด็นของเรื่องนี้คือว่า มี “เครื่องหมายการค้า” อันหนึ่ง ที่มีความแตกต่างจากอันอื่น ที่ไม่ระบุว่าให้ “สละสิทธิ์” คำว่า “ปังชา” โดยตอนที่นำเสนอจดทะเบียนการค้า เขานำสื่อมาประกอบว่าเขาใช้คำนี้มานานแล้ว ต่อเนื่องจนคนจำได้ จนคนอื่นรู้ว่านี่คือเครื่องหมายการค้าของร้านเขา ซึ่งปังชาของเขา มีรูปวงรีประกอบด้วยปังชา แล้วมีตัว G ที่ประกอบเป็นลูกไก่ ข้างล่างเขียน The best Thai Tea ดังนั้น เวลาเรารับจด จะรับจด “ทั้งรูป” ซึ่งก็คือได้ไปทั้งรูป ไม่สามารถแยกส่วนใดส่วนหนึ่งได้ 

“คงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเขา ว่า ทุกครั้งที่เสนอโดนสละสิทธิ์ แต่ครั้งนี้กลับไม่โดน เขาจึงเข้าใจว่ามีสิทธิ์ห้ามคนอื่นใช้คำว่า “ปังชา” แต่มันคือความเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อน เพราะการจะห้ามคนอื่นใช้คำว่า “ปังชา” ได้ ก็ต่อเมื่อมีรูปและลักษณะต่างๆ เหมือนทั้งรูปของร้านลูกไก่ทอง” 

...

เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่า จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครจดเครื่องหมายการค้าคำว่า “ปังชา” แม้แต่รายเดียว 

จากปม “ปังชา” สู่การทำความเข้าใจผู้ประกอบการ 

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงประเด็นการฟ้องร้องที่เป็นข่าวในก่อนหน้านี้ว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “เครื่องหมายการคัา” ที่มีนี้เพื่อแยกแยะว่าเจ้าของคือใคร สิทธิ์ที่ได้รับไม่ได้ไปถึงชื่อ “ปังชา” โดดๆ รวมถึง ชื่อเมนูอาหารด้วย ดังนั้น การเรียก “ปังชา” ที่อยู่ในเมนูอาหาร ก็สามารถเรียกต่อไปได้ 

แต่หากเป็น “เครื่องหมายการค้า” ก็ระมัดระวังเรื่องการจัดวางตำแหน่ง หรือ องค์ประกอบอื่นๆ อย่างที่มีคนเคยจดไว้เท่านั้น 

ส่วนการเจรจาพูดคุยกับร้านลูกไก่ทอง น.ส.ทักษอร เผยว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการแล้ว โดยเฉพาะความเข้าใจทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ชัดเจน คือ อ่านแล้วอาจจะรู้สึกคลุมเครือ จนไม่ทราบว่าตัวเองได้สิทธิ์อะไรกันแน่ และเราก็ได้อธิบายทำความเข้าใจกับเขา ซึ่งช่วงแรกเขาก็ยืนยันว่าเขาได้สิทธิ์แบบนี้ ส่งผลให้เขาส่ง “โนติส” แจ้งร้านอื่นแบบนั้น 

...

พอเราพยายามอธิบาย ก็มีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ลุกขึ้นมาชี้แจงมากกว่า การจดเครื่องหมายการค้าลักษณะนี้มีสิทธิ์แค่ไหน ซึ่งทางเราเองก็เพิ่งทราบว่ามีคนส่งโนติส ไป เรียกค่าเสียหาย 102 ล้าน หรือ 7 แสน 

เมื่อได้รับแจ้ง เราในฐานะผู้ถือกฎหมาย ก็ไม่อยากให้ผู้ประกอบการทะเลาะกัน และได้ผลกระทบ จึงต้องเร่งออกมาให้ข้อมูลเพื่อความกระจ่าง” 

ที่มารูป : กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ที่มารูป : กรมทรัพย์สินทางปัญญา

การละเมิดเครื่องหมายการค้า และการฟ้องร้อง 

ประเด็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าในอดีต มีมากน้อยแค่ไหน เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยอมรับว่ามีมาก เพราะเวลาผู้ประกอบการคิดทำสินค้าและบริการ เขาก็จะคิดคำขึ้นมาเพื่อสื่อว่าขายสินค้าอะไร เพราะอยากให้ผู้บริโภครู้ทันทีว่าขายอะไร ซึ่งถือเป็นหลักที่ไม่ถูกต้อง เพราะ พอคิดคำเหล่านี้มายื่นเครื่องหมายการค้า จะถูกบังคับสละสิทธิ์ทุกราย เพราะทุกคนมีสิทธิ์ใช้ 

...

“ดังนั้น จึงอยากฝากไปถึงผู้ประกอบการที่จะคิดเครื่องหมายการค้า อยากให้หลีกเลี่ยงคำเหล่านี้ เพราะหากทำแล้วก็จะมีปัญหาซึ่งกันและกัน ทั้งมาจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เราก็เข้าใจว่า คำบางคำมันก็เลี่ยงยาก เพราะอยากให้มันอยู่เพื่อที่จะอธิบายให้ผู้บริโภค”

ฝาก 3 ข้อ ฝากผู้ประกอบการ 

1.หากคิดแบรนด์สินค้า อย่าใช้คำที่นึกถึงประเภท คุณภาพ หรือประโยชน์ ของสินค้า เพราะคำเหล่านี้คือ ใครๆ ก็ใช้ได้ 

2.เมื่อจดเครื่องหมายการค้าไว้แบบไหน ก็ควรใช้แบบนั้น เครื่องหมายการค้าจะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น ไม่สามารถแยก หรือดึงบางส่วนไปอ้างว่าตัวเองมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวได้ 

3.อย่าเอา “เครื่องหมายการค้า” ไปผูกติดกับผลิตภัณฑ์ที่ขาย เพราะเมื่อใช้ไปนานๆ แล้วจะสูญเสียความสามารถในการแยกแยะ เพราะคนจะไม่ทราบว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทอะไร เพราะทุกคนเข้าใจว่านั่นคือสินค้าอะไร เช่น คำว่า “ปังชา” เป็นต้น 

ซึ่งเดิมทีคำว่า “ปังชา” มาจากชื่อร้าน และมันคือ “เมนูเด็ด” ของร้าน ต่อมา คำๆ นี้ กลายเป็นคำเรียกของเมนู และเรียกติดปากกัน และก็เข้าใจว่า คำนี้คือคำสามัญ เรียกขนมน้ำแข็งไส หรือ ตัวอย่างง่ายๆ คือ หากเราต้องการรู้อะไร เราจะเข้า Google ซึ่งความจริง Google คือ เครื่องหมายการค้า ไม่ใช่คำกริยา 

เหมือนกับเราเรียก “มาม่า” ซึ่ง “มาม่า” คือ เครื่องหมายการค้าที่จดมานานแล้ว และยังคงรักษาให้เป็นเครื่องหมายการค้าอยู่ และเขาจะเขียนข้างซองไว้เลย ว่า มาม่า คือเครื่องหมายการค้าของบริษัทอะไร ซึ่งคนที่อยู่ในวงการแบรนด์สินค้า เขาจะรู้วิธีการรักษาชื่อ “เครื่องหมายการค้า” ของเขาอย่างไร 

หลักการ ฟ้องร้อง ละเมิดเครื่องหมายการค้า 

น.ส.ทักษอร กล่าวถึงการฟ้องร้องละเมิดเครื่องหมายการค้าว่า คดีเหล่านี้มีเยอะ แต่เวลาพิจารณาคดีความเสียหายนั้น ศาลจะให้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง เช่น มีการนำสืบว่า ตั้งแต่มีการใช้เครื่องหมายการค้าแบบนี้ ยอดขายเขากระโดดขึ้นจากเดิมเป็นเท่าไร 

แปลว่าเดิมที ก็ขายได้ไม่มากนัก แต่เมื่อมีการเอาเครื่องหมายการค้าไปใช้ ลูกค้าหลงผิดเดินเข้าไปเท่าไร ดังนั้น รายได้ที่ได้มาจากตรงนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อเอามาประกอบว่าเป็น “ค่าเสียหาย” ที่ควรจะให้กับเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งมีหลายองค์ประกอบนำมาใช้คำนวณค่าเสียหาย 

ไอซ์ มอนสเตอร์ หนุ่ม กรรชัย กับการซื้อเครื่องหมายการค้า มาให้คนอื่นใช้

เกี่ยวกรณีนี้ ฝ่ายกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่า คำว่า “มอนสเตอร์” ไม่ใช่คำสามัญทั่วไป สามารถจดเครื่องหมายการค้าได้ เพราะเขาเอามาใช้กับ “น้ำแข็งไส” ไม่ใช่ว่าเอาไปใช้กับหนังผี ซึ่งการจดเครื่องหมายการค้า คือ “ใครยื่นก่อน มีสิทธิ์ก่อน” 

ดังนั้น เข้าใจว่า คงจะมีคนอื่นจดคำว่า “มอนสเตอร์” เอาไว้ก่อน แล้วพี่หนุ่มก็เอาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกัน จึงถูกสั่งขอว่าไม่ให้ใช้ แต่เมื่อพี่หนุ่มไปซื้อคำว่า “มอนสเตอร์” มา แล้วคนอื่น เอามาใช้ก็เป็นสิทธิ์ของพี่หนุ่มที่ใจดีไม่ดำเนินการกับใคร ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย 

ช่วงท้าย น.ส.ทักษอร ได้ฝากถึงเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทอื่นๆ ว่า “ลิขสิทธิ์” จะคุ้มครองงานสร้างสรรค์ ภาพถ่าย เพลง หนังสือ บทประพันธ์ เรียกว่างานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งในวงการอาหาร ก็มักเจอ การละเมิดภาพถ่าย เอามาใช้เป็นเมนู ซึ่งกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการลงในอินเทอร์เน็ต ไม่ได้แปลว่า เจ้าของจะยินยอมให้เราไปใช้ ฉะนั้น อยากให้ระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย....

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ