จาก 'กัญชาเสรี' สู่ภาพจำถนนข้าวสารที่เปลี่ยนไป ในมุมมองคนไทยและชาวต่างชาติ และข้อกังวลใจต่อกฎหมาย รวมถึงเรื่องที่รอรัฐเร่งแก้ไข

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชื่อสถานที่หนึ่งที่มักจะได้ยินหรือเห็นผ่านข่าวแทบทุกสำนัก คงจะหนีไม่พ้น 'ถนนข้าวสาร' แหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเมืองไทยที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ถึงอย่างนั้นแม้จะไม่ใช่ช่วงสงกรานต์ แต่ถนนที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัย ร.6 แห่งนี้ ทุกค่ำคืนยังคงครึกครื้น และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนได้ 

'ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์' เดินทางไปยังถนนข้าวสารช่วงเย็น บรรยากาศเวลานั้นนักท่องเที่ยวยังบางตา แต่พ่อค้าแม่ขายก็ตั้งร้านเพื่อรอบริการเรียบร้อยแล้ว

สองข้างทางแน่นขนัดไปด้วยร้านค้า ทั้งที่อยู่ในตึก บนรถเข็น หรือร้านแผงลอย มีอาหารการกินและสินค้าหลากหลาย ที่บ่งชี้ได้ว่ามาถึงเมืองไทยแล้ว เช่น กางเกงช้าง เป็นต้น แต่มีร้านประเภทหนึ่งที่เห็นจะมีมากไม่แพ้กัน นั่นก็คือ 'ร้านกัญชา' ซึ่งนี่คงเป็นผลพวงจาก วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ทำให้กัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย 

...

ขณะที่ท้องฟ้าเริ่มกลายเป็นสีน้ำเงินเข้ม นักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้คุณจะเป็นคนไทย แต่ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหน ก็อาจถูกเชื้อเชิญจากพนักงานร้านอาหารด้วยภาษาไทย "ลองเข้ามาดูก่อนได้นะพี่" แต่เมื่อเดินผ่านแล้ว จะได้ยินบทสนทนากลายเป็นภาษาอื่น ซึ่งทีมข่าวฯ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่านั่นคือภาษาอะไร... อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดสายตาของเรา และเบนความสนใจไปได้ คงจะเป็นไฟสีเขียวของร้านกัญชา ที่มองไปตรงไหนก็เขียวเป็นหย่อมๆ ความน่าสนใจของไฟสีเขียวเริ่มดึงดูดพวกเรา ทำให้ทีมข่าวฯ ตัดสินใจจะเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการ ถึงความรู้สึกและความคิดเห็นที่มีต่อกัญชาบริการบนถนนข้าวสารแห่งนี้

ทีมข่าวฯ เดินเข้าไปที่ร้านป๊อบอัปขนาดกะทัดรัดข้างถนน มีผู้หญิงสองคนนั่งคอยให้บริการ เธอลุกต้อนรับเราแบบฉับพลัน และทักทายด้วยภาษาอังกฤษแสนคลาสสิก พร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ว่า "Hi, Welcome" แต่เมื่อเราแสดงตัวว่าเป็นทีมข่าวฯ เธอก็ตอบ "ไม่สะดวก" พร้อมนั่งลงแบบทันที โดยที่เรายังไม่ได้อธิบายด้วยซ้ำว่ามาทำอะไร  

กัญชาหล่อเลี้ยงข้าวสาร:

ทีมข่าวฯ เดินต่อไปพร้อมสังเกตร้านกัญชาอื่นๆ พบว่าทุกร้านที่มีผู้ใช้บริการอยู่ แทบจะเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น และเมื่อเดินจนสุดสายถนน เราก็สะดุดตาเข้ากับร้านกัญชาโทนสีขาว ประดับป้ายกัญชาทางการแพทย์ 'ฟลุ๊ค' หนึ่งในพนักงานของร้าน ออกมาต้อนรับเราด้วยท่าทางเป็นมิตร และชวนนั่งพูดคุยในห้อง พร้อมเปิดเผยว่า "ร้านเปิดตั้งแต่กรกฎาคม 2565 โดยจดทะเบียนเป็นคลินิกทางการแพทย์"

แม้จะมีสถานะเป็นคลินิกทางการแพทย์ แต่ก็ยังมีผู้คนเข้ามาใช้บริการเชิงสันทนาการ ในสัดส่วน 50:50 "ตอนนี้สำหรับนันทนาการไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างชัดเจน เราแนะนำให้ลูกค้าใช้ในโซนสูบบุหรี่หรือที่ไม่มีคน เพราะหากสูบผิดที่ คนที่ไม่ชอบยังสามารถแจ้งความได้"

ในส่วนของผู้เข้าใช้บริการ ฟลุ๊คพูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น และท่าทางมั่นใจ "กล้าพูดเลยว่าจากการคาดการณ์ด้วยตัวเอง คนเข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมากถึง 99%"

แม้ร้านกัญชาจะมีให้เห็นได้ทั่วไปบนถนนข้าวสาร และเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ขาย แต่ฟลุ๊ครู้ดีว่าร้านที่เปิดบริการ มีทั้งถูกต้องและผิดกฎหมาย อีกทั้งยังแสดงความเป็นห่วงต่อผู้บริโภค ที่อาจได้รับกัญชาที่ไม่มีคุณภาพตามร้านแผงลอย ซึ่งอาจจะทำให้สารเคมีตกค้างในร่างกาย และกลายเป็นสารก่อมะเร็ง "ถ้าลองไปดูร้านแผงลอย จะรู้ว่าเป็นกัญชาที่ปลูกกลางแจ้ง เอากล้องส่องดูจะเห็นว่ามีแมลงตาย เพราะใช้สารเคมี"

...

ถึงที่ผ่านมาจะเกิดข่าวไม่สู้ดีเกี่ยวกับกัญชาให้คนไทยเห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับถนนข้าวสารแห่งนี้ ฟลุ๊คกล้าการันตีกับทีมข่าวฯ ว่า มันมีส่วนที่ทำให้ถนนข้าวสารครึกครื้นขึ้น และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของถนนแห่งนี้ได้ดีทีเดียว "ร้านกัญชามีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงถนนข้าวสารได้เยอะมาก พอประกาศให้ถูกกฎหมาย ก็ทำให้มีคนเข้ามาซื้อเยอะขึ้น แต่ก่อนไม่มีร้านกัญชาข้างทางแบบนี้ด้วยซ้ำ"

ฟลุ๊คมองว่าการที่กัญชาถูกกฎหมายเป็นสิ่งดี แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าบนถนนข้าวสาร ยังมีผู้ขายที่ทำผิดกฎหมายให้เห็นอยู่ "ของข้างนอกจะราคาถูกกว่าในร้าน เพราะไม่มีค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือบางร้านอาจจะใช้ไฟหลวงอยู่เลย ทุกวันนี้มองว่ารัฐยังหละหลวม ร้านข้างทางผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครจัดการ ผมไม่อยากคาดหวังมากเท่าไร เพราะยอมรับว่าหลายอย่างมันกลายเป็นเหมือนวัฒนธรรมไทยไปแล้ว" ฟลุ๊คพูดด้วยน้ำเสียงที่ทีมข่าวฯ ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเขาปลงและเบื่อหน่ายเต็มที

"ผมมองว่าควรจะมีเสรีแบบควบคุม เพราะถ้าไม่ควบคุมเลย ใครจะการันตีว่าลูกหลานของเราจะปลอดภัย อาจจะมีการแอบสูบกัญชาในโรงเรียน หรือผลกระทบตามที่เห็นจากข่าว รัฐควรมีมาตรการควบคุม และออกกฎหมายให้ชัดเจน อยากให้มีข้อมูลสอนเกี่ยวกับกัญชาในวิชาสุขศึกษา เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องให้เยาวชนด้วย อยากเห็นเหมือนกันว่าทิศทางกัญชาในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไรในอนาคต"

ร้านกัญชาผิดกฎหมาย?:

'ร้านกัญชาผิดกฎหมายยังมีบนถนนข้าวสาร' นี่ถือเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ทีมข่าวฯ ได้รับจากฟลุ๊ค ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดจาก 'กัญ' พนักงานร้านกัญชาถูกกฎหมายที่เราได้คุยด้วย แม้ว่ากัญจะมีท่าทางมึนเล็กน้อยระหว่างสนทนา แต่น้ำเสียงยังชัดเจนและพูดรู้เรื่อง "ร้านกัญชาบนถนนข้าวสารมีมากกว่า 20 ร้าน ทั้งที่ถูกกฎหมาย และแบบแผงลอยข้างทางที่ยังผิดกฎหมาย ตอนนี้อาจจะยังดูน้อย แต่ช่วง 22.00 น. ร้านแผงลอยจะเยอะขึ้น เพราะเทศกิจไม่อยู่แล้ว"

...

กัญยอมรับกับทีมข่าวฯ ว่า ร้านแผงลอยมีส่วนทำให้คนมองกัญชาไม่ดี บวกกับอดีตของกัญชาที่แย่อยู่แล้ว และข่าวความรุนแรงที่ระบุสาเหตุว่ามาจากกัญชาอยู่บ่อยๆ เหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้สังคมเกิดอคติต่อกัญชา ความกังวลต่อกัญชาของเขาถูกส่งผ่านสายตาและน้ำเสียงที่มึนๆ 

"คนขายบางคนมีส่วนที่ทำให้กัญชาดูแย่ อยู่ที่จรรยาบรรณแต่ละคน และความไม่เป็นจริงบางอย่างที่เกิดขึ้นจากข่าว เช่น ตามข่าวคนอาจจะเมายาบ้า แต่ข่าวออกว่าเมากัญชา

ถึงอย่างนั้นพวกเราเองก็มีความกังวลว่า เยาวชนจะได้รับสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ควร แต่คิดว่าจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวและสังคมที่เขาอยู่ การจะสร้างสังคมที่ดีมันก็เริ่มจากที่ตัวเรา อย่างตัวผมเองก็สูบในที่ที่เขาจัดไว้ให้ ไม่เคยสร้างความเดือนร้อน"

กัญและทีมงานภายในร้าน แนะนำให้ทีมข่าวฯ เดินลงไปโซนด้านล่างที่อยู่ติดข้างร้าน ซึ่งมีร้านกัญชาเปิดอยู่ และมีคนคอยดูแลบริเวณทางเข้า เพื่อคอยตรวจไม่ให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าบริเวณพื้นที่ กัญพูดเปรียบเทียบติดตลกกับเราว่า "พี่ลองเดินเข้าไป ตรงนั้นมีร้านกัญชาเหมือนย่านขายทอง"

...

กัญชาไทยในสายตาต่างชาติ:

ผู้ใช้บริการโซนด้านล่างที่เราเห็น ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ และทีมข่าวฯ ได้กลิ่นควันชัดเจน ซึ่งคาดว่าเป็นควันกัญชา เราพยายามจะเข้าไปพูดคุยกับพนักงานของหลายร้าน แต่ไม่มีใครสะดวกสนทนา มีเพียง 'เจมส์' พนักงานร้านด้านในสุดที่สะดวกให้สัมภาษณ์ เจมส์บอกกับเราว่า ผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติมากกว่า 95% และเขายังมองว่าตอนนี้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของถนนข้าวสาร ระหว่างนั้น 'Carl' ชายร่างสูงใหญ่ชาวฮอลแลนด์ ได้เดินเข้ามาซื้อของ เจมส์บอกว่า Carl มาร้านเป็นครั้งที่ 3 แล้ว 

Carl บอกกับเราว่า เขาชื่นชอบประเทศไทยมาก เพราะมีวัฒนธรรมที่ดีหลายอย่าง และผู้คนก็เป็นมิตร ครั้งนี้เขากลับมาไทยในรอบหลายปี เพราะได้ข่าวว่าเมืองไทยเปิดกัญชาเสรีแล้ว

"ผมเคยมาที่ประเทศไทยและชื่นชอบมาก ต้องยอมรับว่าแต่ก่อนประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องนวด เซ็กซ์ และการขายบริการทางเพศ ผมไม่ชอบเรื่องพวกนั้นสักเท่าไร และไม่อยากให้ประเทศไทยมีภาพจำที่ไม่ดีแบบนั้น ผมเคยโดนคนพยายามจะดึงตัวเข้าไปในร้าน ผมรู้ว่านั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ค่อยชอบ" Carl เล่าให้เราฟังพร้อมทำท่าประกอบ

หลังจากนั้นเขาได้รับกัญชาที่สั่งกับเจมส์ และนำมันมาม้วนผสมกับไส้บุหรี่เดิมเพื่อเตรียมสูบ ทั้งยังพูดคุยกับเราไปด้วย "ตอนนี้ประเทศไทยมีกัญชาเสรี ผมมองว่านี่คือโอกาสของประเทศไทย ที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ นอกจากเรื่องเซ็กซ์" ซึ่งทางทีมข่าวฯ ก็ไม่แน่ใจว่า นี่เป็นเรื่องที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ไปในทิศทางไหนเช่นกัน

พูดคุยและอยู่ในพื้นที่ได้สักพักใหญ่ ทีมข่าวฯ ก็ต้องเดินขึ้นมาบนถนน เพราะได้รับกลิ่นของควันกัญชาไปพอสมควร จนทำให้รู้สึกเริ่มเวียนหัวและแสบจมูก หลังเดินขึ้นมาก็เป็นช่วงเวลาใกล้ 22.00 น. บรรยากาศบนถนนข้าวสารเริ่มเนืองแน่นไปด้วยผู้คน มองไปตรงไหนก็เป็นชาวต่างชาติ แต่มีคนเอเชียน้อยมาก และเริ่มมีการตั้งแผงลอยขายกัญชาตลอดเส้นถนน ซึ่งตรงกับคำสัมภาษณ์จาก 'กัญ' ประมาณว่าสะดุดหกล้มตรงไหนก็เจอ 

แต่ถึงอย่างนั้น 'Cara' สาวอเมริกาบอกกับเราว่า "ฉันรู้มาว่ากัญชาถูกกฎหมายแล้วในประเทศไทย แม้ฉันจะไม่ได้ใช้มัน แต่ก็รู้สึกโอเค ตราบใดที่ใช้กันอย่างถูกกฎหมายและถูกวิธี การมีกัญชาบนถนนข้าวสารก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่"

ทีมข่าวฯ พยายามจะเข้าไปพูดคุยกับ 'ร้านกัญชาแผงลอยที่ตั้งข้างทาง' แม้จะบอกว่าขอสัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยชื่อ ก็ยังได้รับการตอบกลับแบบนิ่งๆ ว่า "ไม่สะดวก เดี๋ยวพี่จะลำบาก"

กัญชาไทยในสายตาคนไทย:

ถึงชาวต่างชาติจะยอมรับกัญชาบนถนนข้าวสาร แต่ 'โฟล์ค' เป็นคนไทยที่มาเที่ยวถนนนี้บ่อยครั้งกลับมองว่า "อยากให้ส่วนของภาครัฐ เข้ามาดูแลเพิ่มเติมจริงจังให้มากกว่านี้ มาตรวจสอบว่าหน้าร้านจดทะเบียนถูกต้องไหม จำหน่ายให้ลูกค้าที่ไม่บรรลุนิติภาวะหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และหลายร้านก็ดูเหมือนว่าจะผิดกฎหมาย"

ส่วน 'ไอซ์' เดินทางมาเที่ยวครั้งแรก ยอมรับว่าตกใจที่เห็นร้านกัญชาเยอะขนาดนี้ เพราะมีความกังวลว่า กฎหมายอาจหละหลวมจนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และกัญชาจะทำให้ภาพลักษณ์ของถนนข้าวสารเปลี่ยนไป

"เมื่อพูดถึงข้าวสาร สิ่งที่เคยรู้มาคือเป็นถนนสตรีทฟู้ด และอาหารอร่อย แต่เหมือนว่าตอนนี้กำลังถูกร้านกัญชาช่วงชิงพื้นที่และภาพจำไปหมด หรือต่อไปอาจกลายเป็นสถานที่อันตราย ที่เราต้องตักเตือนลูกหลานว่าอย่ามา"

แต่ถึงอย่างนั้น ไอซ์ก็ยังมองว่า "กัญชาในถนนข้าวสารสามารถเกิดขึ้นได้ หากมีมาตรการควบคุมที่ดีจากรัฐ เพราะเราไม่สามารถยื้อถนนข้าวสารแบบเดิมไว้ได้ เวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน ความคิดของผู้คนก็เปลี่ยนไป"

สุดท้ายแล้ว 'กัญชา' ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว (บางคน) รวมถึงสามารถสร้างประโยชน์กำไรให้ผู้ค้าได้ แต่ประชาชนบางส่วนยังคงกังวลกับความเสรีนี้ เป็นผลมาจากความไม่มั่นใจในกฎหมาย ที่รัฐอาจจะเกิดความหละหลวมตั้งแต่แรกประกาศ 'ความเสรี'

ตอนนี้กฎหมายจากรัฐ อาจจะเป็นสิ่งที่สามารถลดความกังวลของประชาชนได้ดีที่สุด ดังนั้นหากรัฐยังมองว่า 'กัญชาเสรี' ดีและมีประโยชน์ ก็ต้องสร้างความเชื่อใจ เข้าใจ และมั่นใจให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ดี 'กัญชา' เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจดึงดูดใจนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเท่านั้น เราเชื่อว่าถนนข้าวสารยังมีเรื่องดีๆ และเสน่ห์อีกมากมาย ที่สามารถมัดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้อยู่เสมอ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

อ่านบทความที่น่าสนใจ: