ปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติการเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรัง ทั้งความดัน เบาหวาน ไขมัน ทำให้ค่ายาของโรคในกลุ่มนี้และโรคแทรกซ้อนเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงโรคมะเร็งเป็นอีกโรคที่ค่ายาแพงเป็นอย่างมาก ประเทศไทยต้องจ่ายค่ายาเหล่านี้ให้กับต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยไม่มีเงินนำไปใช้ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาที่จำเป็น เพื่อยุติวงจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้หมดไปจากสังคมไทย ได้นำไปสู่การร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในพระอุปถัมภ์ฯ และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในด้านงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร ให้เป็นอีกทางเลือก เพื่อทดแทนการนำเข้ายาราคาแพง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและมีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้

...

ต่อยอดสมุนไพรไทย ทดแทนยาแพงโรคเรื้อรัง

“ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร” เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในพระอุปถัมภ์ฯ ระบุได้หารือกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหาแนวทางการวิจัยสมุนไพรกับโรคเรื้อรังและการลดผลกระทบของ PM 2.5 ต่อสุขภาพ ตั้งแต่การวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง ไปจนถึงการวิจัยในมนุษย์ จะทำให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติการเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและโรคแทรกซ้อน ทำให้ค่ายาเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี และยังมีโรคมะเร็งเป็นอีกโรคที่ค่ายาแพงมาก ต้องจ่ายค่ายาให้กับต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

“เราต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อทดแทนการนำเข้ายา เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและมีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ เป็นความหวังจะยุติวงจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกันในช่วงการระบาดของโควิด จนสามารถค้นพบศักยภาพของสมุนไพรไทยที่มีแนวโน้มจะต่อยอดเป็นยาในกลุ่มนี้ได้ เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรหลัก จะนำมาพัฒนาต่อร่วมกันในระยะแรกนี้”

ฟ้าทะลายโจร ลดการอักเสบของปอด จาก PM 2.5

ขณะที่ รศ.ดร.ภก.พิสิฐ เขมาวุฆฒ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ PM 2.5 อยู่ในกลุ่ม 1 ของสารก่อมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2556 จึงได้พัฒนาโมเดลการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่จะมาลดพิษภัยจาก PM 2.5 และในการเก็บข้อมูล พบว่า PM 2.5 มีสารหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม โดยมีโลหะหนักมากที่สุด มากกว่า 10 ชนิด รองลงมาเป็นสารก่อมะเร็งจากการคมนาคม และกลุ่มสุดท้ายจากการเผาไม้ เผาหญ้า ซึ่งสารเหล่านี้ทำลายปอดมากที่สุด ต้องหาสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่สามารถเข้าเนื้อปอดได้

จากการศึกษาพบว่าฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรต้านการอักเสบที่เข้าไปอยู่ในปอดได้ถึง 30-40% และการทดลองในหนูพบว่าสามารถลดการอักเสบของปอดได้ จากการได้รับ PM 2.5 ส่วนรางจืดเป็นสมุนไพรอีกตัวที่น่าจะมีศักยภาพ เพราะมีงานวิจัยเกี่ยวกับการต้านพิษโลหะหนักและต้านอนุมูลอิสระ ลดการทำลายเซลล์จากสารพิษ

“ความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ตั้งแต่การปลูก การสกัดและการพัฒนาตำรับของอภัยภูเบศร กับความเชี่ยวชาญในการวิจัยในระดับพรีคลินิกและคลินิกของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ทำให้เราเชื่อมั่นว่า จะสามารถนำสมุนไพรไทยมาเป็นที่พึ่งให้คนไทยและแข่งขันในระดับโลกได้อย่างแน่นอน”.

...