การปรับเกณฑ์ให้เบี้ยผู้สูงอายุ ตามรูปแบบใหม่ ที่จะต้องมีเกณฑ์ในการพิสูจน์ความจน ของผู้สูงอายุที่จะอายุครบ 60 ปี ในรอบใหม่ กลายเป็นกระแสที่สร้างความวิตกให้กับหลายคน สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ มองว่า มีความเสี่ยงที่คนชราที่จนจริงจะตกหล่นจากระบบ ขณะเดียวกันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แถมงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายแบบขั้นบันได เสี่ยงที่พรรคการเมือง นำไปใช้เพื่อเป็นนโยบายประชานิยม

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การเปลี่ยนเกณฑ์รับสิทธิเบี้ยยังชีพคนชรา จากเดิมเป็นแบบถ้วนหน้า ต้องมีการพิสูจน์ความจน เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยนหินถามทางมาแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ทำให้คนแก่ที่กำลังจะอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ได้มีฐานะยากจนจะไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพตามแนวทางเดิม แต่คนที่เคยได้รับเบี้ยคนชราอยู่แล้วได้รับต่อไปตามที่บทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้

สำหรับผลกระทบหลักเกณฑ์ใหม่ชัดเจนว่า ทำให้มีผู้ที่มีสิทธิได้เงินน้อยลง ความคาดหวังของรัฐบาลที่ออกกฎแบบนี้เพราะต้องการประหยัดงบประมาณ ตามที่มีการประเมินเป็นตัวเลขในอนาคตว่าต้องมีการใช้เงินมากกว่าปัจจุบัน ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเบี้ยคนชรา สาเหตุหลักต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น มาจากผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และงบประมาณเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ จากเดิมกำหนดไว้ตามขั้นบันไดตามช่วงอายุรายละ 600-1,000 บาท/เดือน ตามที่มีพรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนงบประมาณเบี้ยคนชรา เช่น พรรคก้าวไกล จะปรับเบี้ยคนชราเป็น 3,000 ต่อเดือน และยังมีพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังอยู่ระหว่างการรวมเสียงฟอร์มรัฐบาลกันอยู่ ก็ใช้ตัวเลข 3,000 บาท/เดือน เหมือนกัน ถ้าทุกคนได้เบี้ยคนชรา 3,000 บาท/เดือน ต้องใช้งบประมาณ 4-5 แสนล้านบาท/ปี หรือเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าจากงบประมาณที่ใช้ในปัจจุบัน ถือเป็นภาระของงบประมาณที่มากจริง

...

การปรับเกณฑ์ให้เบี้ยคนชราแบบใหม่ เสี่ยงผู้สูงอายุที่ยากจนตกหล่นไม่ได้รับสิทธิ คิดว่ามีปัญหาแน่นอน เพราะไม่ว่าหลักเกณฑ์จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าให้พิจารณาจะมีไม่กี่ทางเลือก ที่คาดว่าทางคณะกรรมการฯจะใช้ เช่น ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเกณฑ์ว่าคนแก่คนไหนจน แต่อย่าลืมว่าตัวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเองมีปัญหาในตัวเองอยู่แล้วที่พบว่ามีคนจนตกหล่นเยอะมาก คนจนตัวจริงหลาย 10 เปอร์เซ็นต์ กลับไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฉะนั้นถ้าใช้เกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้คนแก่ตกหล่นเรื่องนี้ไปด้วย ปัญหาก็ไม่ได้แก้

“คนจนที่ไม่มีบัตรบริการแห่งรัฐมีแนวโน้มที่จะเป็นคนจนที่จนมากๆ จนกว่าคนจนอื่น เพราะมีปัญหาเฉพาะตัวที่มาจากความจนมากของเขา เช่น การที่ไม่มีบัตร เพราะว่าเขาไม่รับทราบข้อมูล ไม่รับรู้ข่าวสาร หรือรู้แต่ว่าไม่สะดวกจะมาเดินเรื่อง เพราะว่าการจดทะเบียนต้องไปธนาคารของรัฐ ที่ทำการเขต ซึ่งอยู่ในเมืองเขาไม่สะดวกที่จะมา หลายคนมีปัญหาเรื่องเอกสารไม่ครบ ฉะนั้นคนที่ตกหล่นเป็นกลุ่มคนที่ลำบากจริง"

โครงการอะไรก็ตามที่ต้องมีการคัดกรองให้เฉพาะคนจน ทุกโครงการในโลกมีปัญหาหมด คือมีคนจนตกหล่นและสัดส่วนจะไม่ต่ำลงด้วย ธนาคารโลกประมาณการว่าคนจน 100 คนจะมีโดยเฉลี่ย 40 คนที่ตกหล่น เช่น ของไทยเองบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรอบที่แล้วตกหล่นไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรอบใหม่ ไม่คิดว่าปัญหาจะเบาบางลง ดังนั้นไม่ว่าจะใช้วิธีแบบไหน ตกหล่นแน่นอน อีกปัญหาคือคนไม่จนจริงจำนวนมากก็อาจได้รับสิทธิไป

เบื้องต้นควรเป็นการให้แบบถ้วนหน้า แต่ถ้าจะขยายความต่อว่าผมไม่กังวลเรื่องงบประมาณหรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นเป็น 3,000 บาทต่อเดือนจริง ซึ่ง 3,000 เป็นตัวเลข สำหรับคนยากจนจริงๆ ก็อธิบายได้ว่าไม่ได้สูงไปสำหรับการที่ต้องให้กับคนที่ยากลำบากจริง แต่เป็นปัญหาว่างบประมาณ 4-5 แสนล้านบาทจะไปหาจากไหน

...

แนวทางรัฐบาลชุดนี้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้ และมีข้อเสนอแนะมาแล้ว ขณะที่ธนาคารโลกก็ออกรายงานมาในแนวทางคล้ายกันเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว โดยแนวคิดแบบลูกผสม คือ ในเรื่องของถ้วนหน้าให้คงเอาไว้ แต่คงเอาไว้ในระดับที่ไม่สูงนัก เช่น อาจเป็นระดับที่ได้ในปัจจุบัน 600-1,000 บาท ผู้สูงอายุได้ถ้วนหน้าทุกคนแบบไม่มีการคัดกรอง ถ้าเกิดว่ากรณีที่พรรคการเมือง ซึ่งมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ อยากเพิ่มงบประมาณอีกเป็นพันกว่าบาท หรือกระทั่งถึง 3,000 บาท ตามที่หาเสียงไว้ ในส่วนที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ ก็ให้เข้าสู่การคัดกรองได้ เพื่อให้เฉพาะคนจนจริง ได้รับเงินในส่วนเพิ่มนี้ไป โดยข้อดีคือจะไม่มีใครที่ตกหล่น เพราะไม่ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรก็ตามอย่างน้อยจะได้เบี้ยยังชีพของเก่า 600-1,000 บาท จะไม่เป็นศูนย์ ในระหว่างนี้กระบวนการคัดกรองก็พยายามปรับปรุงทำให้ดีขึ้น เพื่อให้คนที่จนจริง ได้เข้าถึงเงินในส่วนนี้เพิ่มเติม.