เปิดพระราชประวัติ "พระเจ้าชัยวรมันที่ 7" กษัตริย์มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชา ศรัทธา ความเชื่อ และศาสนาในจารึก ที่ไร้ชื่อ "ครูกายแก้ว" ....
“ความเชื่อ” ถือเป็น “วิจารณญาณ” ของแต่ละบุคคล การนับถือ “ศาสนา” ก็มาจากรากฐานความเชื่อ วัฒนธรรม และการส่งต่อของบรรพบุรุษ
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ “เปิดกว้าง” ทางด้านวัฒนธรรม และศาสนา คนจำนวนมาก บอกว่าตัวเองเป็น “ชาวพุทธ” แต่ก็สามารถยอมรับเทพจากศาสนาอื่น ความเชื่อจากศาสนาอื่นๆ หลอมรวมเป็น “Thailand only” อย่างทุกวันนี้
แต่…ด้วยความที่เป็น Thailand only นี่เอง ทำให้การรับ “ความเชื่อ” ง่ายและอาจจะขาดการตรวจสอบ เฉกเช่นเดียวกับกระแสศรัทธา “ครูกายแก้ว” กับคำอ้างว่าเป็นพระอาจารย์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” มหาราชและกษัตริย์องค์สุดท้ายของ อาณาจักรกัมพูชา การอ้างถึง “มหาราช” ของเขมรนั้น มีวัตถุประสงค์ใด ก็ยากจะรู้ แต่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองไตร่ตรอง คิด และพิจารณาให้ดี
หากพูดถึง “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ท่านคือ ใคร ทำไมสำคัญกับชาวกัมพูชา วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะนำพระราชประวัติ (พอสังเขป) มาให้ได้อ่านกัน...
...
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์มหาราชองค์สุดท้ายของเขมร
จากข้อมูลในหนังสือ “ชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้าของอาณาจักรกัมพูชา” โดย วรรณวิภา สุเนต์ตา มหาวิทยาลัยศิลปกร ระบุไว้ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 และ พระนางจุฑามณี (พระราชธิดา ของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรเขมร ในพุทธศตวรรษที่ 17)
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงประสูตในราวปี พ.ศ. 1668 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ในยุคของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด และทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงชัยราชเทวีตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย
ตอนที่ยังไม่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงไปทำสงครามที่อาณาจักรจามปา ทางตะวันออก ทรงพำนักอยู่ที่เมืองวิชัย (หรือ บิ่ญดิ่ญ) ในประเทศเวียดนาม ปัจจุบัน ด้วยสงครามกินเวลาเนิ่นนาน และ ระยะทางที่ห่างไกลจากเมืองพระนคร ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในราชอาณาจักรเขมร ซึ่งต่อมาได้บานปลาย และมีการแย่งอำนาจ จากพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 (พระญาติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) และขุนนางของเมืองจนทำให้อาณาจักรอ่อนแอ
พระเจ้าชัยวรมันฯ ทราบเรื่องก็ได้ทำสงครามขับไล่ผู้รุกราน ซึ่งกินเวลาถึง 15 ปี จนสามารถขับไล่ผู้รุกรานและประกาศเอกราชได้สำเร็จ ซึ่งฉากภาพความโหดร้ายหนึ่งในสมรภูมิ ก็ถูกจารึกไว้ในปราสาทบายน
เมื่อสงครามเบาบางลง พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงบูรณะและสร้างราชธานีใหม่ จากเมืองพระนคร หรือ “ยโศธรปุระ” เดิม นครธม จึงถูกสร้างซ้อนทับอยู่บนร่องรอยของอดีต พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐาน สร้างคูน้ำ กำแพงเมือง ซุ้มประตูขนาดใหญ่ทั้งห้า ควบคู่ไปกับการสร้างศาสนสถานในพุทธศาสนานิกาย “มหายาน” มากมาย ท่ามกลางศึกสงครามย่อยๆ จากกลุ่มกบฏ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตเมื่อใด แต่จากการสันนิษฐาน คาดว่า อาจจะราวปี พ.ศ. 1762 ทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา โดยอ้างหลักฐานการครองราชย์ของพระองค์ในปี พ.ศ. 1744 เมื่อทรงส่งคณะทูตยังราชสำนักจีน
การครองราชย์ของพระองค์ ได้รับการสรรเสริญในจารึกพิมานอากาศตอนหนึ่งว่า “ในรัชกาลก่อน อันแผ่นดินแม้ปกด้วยร่มเศวตฉัตรหลายพระองค์ แต่ก็ทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัส กระนั้น ตามในรัชกาลของพระองค์ ซึ่งมีร่มเศวตฉัตรเดียว นับเป็นเรื่องแปลกนักที่แผ่นดินได้รับการปลดเปลื้อง จากความทุข์ทรมานอย่างสิ้นเชิง”
...
ศาสนาและความศรัทธา ในสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
สำหรับประเด็นเรื่องการนับถือศาสนา ที่มีการกล่าวอ้าง ของบุคคลบางกลุ่มว่า “ครูกายแก้ว” เป็นพระอาจารย์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น จากข้อมูลในหนังสือในเล่มเดียวกัน ที่เขียนโดย “วรรณวิภา สุเนต์ตา” อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่มีการระบุถึงแต่อย่างใด โดยอธิบายภาพรวมการนับถือศาสนามีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
หลักฐานจารึกในยุคของพระเจ้าชัยวรมันฯ เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนา จากพุทธ นิกายมหายาน และได้รับอิทธพลจากศาสนาฮินดู และ มีการเผยแผ่ศาสนาในลักษณะ พุทธ สายเถรวาท และได้พบการดัดแปลงศาสนสถาน และรูปเคารพในสมัยพระองค์นั้นให้เป็นไปแบบฮินดู อาจเป็นไปได้ว่ากษัตริย์ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงภายในราชสำนัก และการยอมรับนับถือในศาสนาฮินดู
หากไล่เรียงไทม์ไลน์ จะพบว่า พุทธศาสนา มีบทบาทสำคัญตั้งแต่สมัยพระราชบิดา ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นครองราชย์ ปี พ.ศ. 1698 โดยเป็นรัชกาลต่อจาก พระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้ทรงสร้างปราสาทนครวัด ถึงแม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่ในทางวิชาการทรงพบว่านับถือพุทธศาสนา
...
กระทั่งเข้าสู่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศาสนา ในนิกายมหายาน มีความสำคัญที่สุด อาจเป็นผลจากการได้รับอิทธิพลระลอกใหม่จากอินเดีย เนื่องจาก “กัมพูชา” ในสมัยนั้น เป็นหนึ่งในมุดหมายของผู้ศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดีย เดินทางเข้ามา และเป็นที่ยอมรับในราชสำนักเขมร ขณะที่พุทธศาสนา สายเถรวาท ก็เริ่มปรากฏชัด และเริ่มเผยแพร่ปรากฏชัดในดินแดนภาคกลาง จากประเทศไทย หรือ ลังกา โดยตรง
เมื่อศึกษาจารึกในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบหลักฐานทางการศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปกรรม จำนวนมากที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่า “พระนาม” ที่ปรากฏในจารึก ประติมากรรมจะไม่สอดคล้องกัน เช่น พระพุทธเจ้า, พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเชื่อว่า ประติมากรรมเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นสัมพันธ์กับคติการเคารพบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และอาจเกี่ยวข้องกับลัทธิบูชาส่วนบุคคลในวัฒนธรรมเขมร
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของกลุ่มนักวิชาการ ที่ “ปราสาทบายน” ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของอาณาจักร พบว่าพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่ ที่เป็นประธานของปราสาท และพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ถูกปิดทับจากการต่อเติมแผนผังปราสาท ทำให้นักวิชาการมั่นใจว่า พระพักตร์รูปเทวบุคคลที่สลักอยู่ยอดปราสาท น่าจะเกี่ยวข้องกับ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ที่ได้รับการบูชาอย่างมากในอาณาจักรเขมรในการช่วยเหลือมนุษย์และการข้ามสังสารวัฏ และจำนวนพระปรางค์ยังถูกตีความว่าสอดคล้องกับหัวเมืองของพระองค์ และมีความหมายของการเป็นศูนย์กลางศาสนา
...
“อโรคยศาล” กุศลอันยิ่งใหญ่ของมหาราชองค์สุดท้าย
อีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ ภาพสะท้อนของยอดกษัตริย์เขมร คือ การตั้ง อาณาเขตและเครือข่าย “อโรคยศาล” 102 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร โดยจารึกปราสาทตาพรหม และ ปราสาทพระขรรค์ ที่เป็นการจารึกพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์เขมรพระองค์ใดได้เคยปฏิบัติ ซึ่งในทางวิชาการเชื่อว่า เหตุผลในการบำเพ็ญกุศลในด้านสาธารณสุขครั้งนี้ สันนิษฐานว่า สมัยนั้นอาจจะเกิด “โรคระบาด” คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ไม่เว้นชนชั้นกษัตริย์
ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานจากภาพสลักบนหน้าบันศาสนสถานในอโรคยศาล ทิศตะวันออกของปราสาทตาแก้ว ในเมืองพระนคร ซึ่งคล้ายกับปราสาทบายน เป็นภาพการบำบัดรักษาโรคเรื้อนด้วยลูกกระเบา สมุนไพรผลกลม ซึ่งเป็นการรักษาทางการแพทย์ในสมัยโบราณ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับตำนาน “เจ้าขี้เรื้อน” ของชาวเขมร
ดังนั้น นักวิชาการชาวฝรั่งเศส จึงคาดว่า เป็นการสร้างกุศลเพื่อพระองค์เอง หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ประชวรจากโรคร้ายนี้...
การสร้าง “อโรคยศาล” ของพระองค์มีสาเหตุดังปรากฏในจารึกอโรคยศาลจำนวนมากที่พบในประเทศไทย ดังตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “โรคทางกายของปวงชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์เอง แต่ความทุกข์ของราษฎร์เปรียบเหมือนความทุกข์ของผู้ปกครอง” และทรงตั้งปณิธานที่จะช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากภพชาติด้วยความดีของพระองค์
ในปัจจุบันพบศาสนสถานในอโรคยศาลเหล่านี้จำนวนกว่า 30 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พร้อมกับจารึกประจำอโรคยศาลที่มีความคล้ายคลึงกันหลากหลายหลัก
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงพระราชประวัติบางส่วนเท่านั้น โดยมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง และ การนับถือศาสนา และยังมี “ที่มาที่ไป” และหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลงเหลือ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เรียบเรียง
ที่มาข้อมูล : หนังสือ ชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา
อ่านบทความที่น่าสนใจ