การระบาดของโรคไข้เลือดออกมากับช่วงหน้าฝน และผู้เคยติดเชื้อรักษาหายแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก มักมีอาการรุนแรงมากกว่า เนื่องจากไข้เลือดออกมีสายพันธุ์ย่อยหลายชนิด ส่วนใหญ่การติดเชื้อไวรัสแต่ละครั้งจะต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ทำให้การติดเชื้อครั้งถัดไปมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม

ปัจจุบันผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่ระบาดในเขตชุมชนเมืองมากกว่าในพื้นที่ชนบท เพราะขาดการจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งมีเชื้อไวรัส บินไปกัดคนจนแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยผู้ติดเชื้อ 100 คน จะมีอาการรุนแรง 1-2 คน จากอาการเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในอวัยวะ หรือบางคนไข้ลดแต่มีเหงื่อ ตัวเย็น จนช็อกและมีโอกาสเสียชีวิตได้

ล่าสุดมีการนำใบมะละกอมาศึกษาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังในการใช้สมุนไพรใกล้ตัวของคนไทย หลังพบว่าได้ผลดี และยังมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรช่วยป้องกันยุงลายกัด ใช้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึงมีงานวิจัยชี้ว่า ฟ้าทะลายโจร สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสเดงกีได้ดี แต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยมีจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ เพราะอาจมีผลทำให้เลือดหยุดยาก

...

ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง 3 เท่า เคยติดแล้วอาการยิ่งหนัก

“ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว” ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในช่วงนี้ไข้เลือดออกระบาด จากข้อมูลกรมควบคุมโรค พบว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากถึง 3 เท่า และผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นได้อีกและอาการจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ แต่ผู้ที่เคยติดแล้วมีภูมิคุ้มกันแค่สายพันธุ์เดียว การป้องกันที่ดีที่สุดต้องไม่ให้ยุงลายมากัด ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกัน เช่น ฟ้าทะลายยุง หรือตะไคร้หอม ร่วมกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายก็จะช่วยได้

อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่อาการน้อยถึงมาก หรือผู้ป่วย 100 ราย ไม่มีอาการ 80 ราย มีอาการน้อย 10 ราย และอีก 10 ราย มีอาการมาก จนต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการ เมื่อได้รับเชื้อที่มากับยุง อาจมีไข้สูง หากใช้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง รวมกับมีคลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกตามร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะปัญหาสำคัญของผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดจากการที่ไวรัสเดงกี ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง

ขณะนี้การรักษายังไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษาไวรัสเดงกี แต่ใช้การรักษาตามอาการ โดยหลักๆ เป็นการให้ยาลดไข้ และระวังไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียน ต้องเสริมด้วยเกลือแร่ และยาลดไข้ที่นิยมในกลุ่มพาราเซตามอล ซึ่งการให้ยาลดไข้มีความสำคัญ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงยาลดไข้ตัวอื่นที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับอาการเลือดออกผิดปกติได้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน ซึ่งในกลุ่มของสมุนไพรมีฟ้าทะลายโจรนิยมนำมาใช้เมื่อมีอาการไข้หวัด

การศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและการจำลองภาพ 3 มิติก็พบว่า ฟ้าทะลายโจร มีผลต่อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 หากมีอาการไข้ในระยะเริ่มแรกสามารถใช้ฟ้าทะลายโจรได้ แต่กรณีที่มีจ้ำเลือดออก มีเลือดออกตามไรฟันต้องหยุดใช้ เพราะอาจมีผลทำให้เลือดหยุดยาก ส่วนยาสมุนไพรที่ใช้ลดไข้ได้โดยไม่มีผลต่อเกล็ดเลือด คือ จันทน์ลีลา อาจจะใช้เสริมกับกลุ่มพาราเซตามอล เพื่อลดขนาดพาราเซตามอล ที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเพ็ญ จ.อุดรธานี ได้นำใบมะละกอ สมุนไพรใกล้ตัวของคนไทยมาศึกษากับผู้ป่วยไข้เลือดออก

เช่นเดียวกับการศึกษาในต่างประเทศพบว่ามี 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ 1.ต้านการแบ่งตัวของไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 เช่นเดียวกับฟ้าทะลายโจร 2.เพิ่มจำนวนเกล็ดเลือด และลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด 3.เสริมกลการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น และในบางการศึกษาพบว่าช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง ลดการหลั่งสารต้านการอักเสบ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งในวารสาร BMJ (British Medical Journal) มีการกล่าวถึงการใช้ใบมะละกอกับไข้เลือดออกด้วยเช่นกัน 

...

ผลการศึกษาชี้ผู้ป่วยกินน้ำคั้นใบมะละกอ ฟื้นตัวได้เร็ว

การศึกษาของโรงพยาบาลเพ็ญ จ.อุดรธานี ในผู้ป่วย 78 ราย เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อดูผลการเสริมการรักษาด้วยน้ำคั้นจากใบมะละกอ ในกลุ่มควบคุม โดยให้ผู้ป่วยกินปริมาณ 30 ซีซี 3 ครั้งต่อวัน ก่อนอาหาร หรือเท่ากับ 90 ซีซีต่อวัน ตั้งแต่วันแรกและวันสุดท้ายของการรักษา โดยติดตามอาการและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการทุกราย เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล จากผลลัพธ์หลัก 3 ด้าน ทั้งระดับของเกล็ดเลือด อุณหภูมิของร่างกาย และความสุขสบายของผู้ป่วย

“พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มทดลองที่ได้น้ำคั้นจากใบมะละกออยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า มีการนอนโรงพยาบาล 3.10 วัน น้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่นอนโรงพยาบาล 4.2 วัน และการเพิ่มขึ้นของเกล็ดเลือดในช่วงวันแรกของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มลดลงพร้อมกัน แต่เกล็ดเลือดในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นในวันที่ 3 เป็นต้นไป และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นปกติในวันที่ 5 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นในวันที่ 8 เป็นต้นไป”

...

แต่เมื่อพิจารณาอุณหภูมิร่างกายของทั้งสองกลุ่ม มีการลดลงตั้งแต่วันแรก ไม่แตกต่างกัน โดยกลุ่มทดลองอุณหภูมิร่างกายลดลงเร็วกว่ากลุ่มควบคุม เนื่องจากมีอาการฟื้นตัวจากโรคได้เร็วกว่า ทําให้มีความสุขสบายเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่วันแรกเป็นต้นไป และเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม

สำหรับขั้นตอนและวิธีการเตรียมตัวอย่างเพื่อศึกษานั้น ให้นําใบมะละกอที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป จํานวน 1-3 ใบ น้ำหนักใบรวม 20 กรัม นํามาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นํามาขยี้ หรือโขลกให้ละเอียด แล้วกรองโดยใช้ผ้าขาวบาง เพื่อคั้นเอาน้ำสกัดใบมะละกอออกมาให้ได้ประมาณ 20 มิลลิลิตร

จากนั้นเติมน้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนชา แล้วผสมส่วนผสมทั้งสองให้เข้ากัน ใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาให้ผู้ป่วย โดยกลุ่มผู้ใหญ่ให้ดื่มในปริมาณ 30 มิลลิลิตร และกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุมากกว่า 10 ปี ให้ดื่มในปริมาณ 10 มิลลิลิตร โดยดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน.