การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งผ่านมาแล้ว 2 เดือนกว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จากการที่พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคอันดับ 1 แต่ด้วยเกมการเมืองพลิกผัน ทำให้พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน และสุดท้ายต้องเขี่ยพรรคก้าวไกล ออกไปเป็นฝ่ายค้าน ตามเงื่อนไขไฟล์บังคับในการจะเข้าร่วมรัฐบาลของบรรดาพรรคการเมืองขั้วอำนาจเดิม น่าจะเป็นดีลลับที่มีการวางแผนมาอย่างดี

เริ่มจากแผนสกัดพรรคก้าวไกลในทุกวิถีทาง จนกระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน ยังไม่รวมวิบากกรรมอื่นๆ กำลังรอเงื้อดาบฟันฉับด้วยการใช้กลไกอำนาจที่มีอยู่ของฝ่ายอนุรักษนิยม ในการเปิดเกมนิติสงคราม ตัดแข้งตัดขาพรรคก้าวไกล ทำให้การเมืองไทยไม่ต่างจากละคร มีการจัดฉากมีตัวละครมากมายโผล่แสดงบทบาท หาจังหวะชิงความได้เปรียบ

แม้แต่การจะกลับมาของทักษิณ ชินวัตร ได้ส่งบทให้อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ผู้เป็นลูกสาวออกมาประกาศข่าวใหญ่ตรงกับวันเกิดทักษิณ 26 ก.ค. ว่าพ่อจะกลับมาวันที่ 10 ส.ค. จากนั้นอีก 2 วัน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ออกมาหักล้างข่าวใหญ่ว่าทักษิณถอยยกเลิกกลับไทย เพราะสถานการณ์เปลี่ยน เป็นเหตุให้อุ๊งอิ๊ง ตอกกลับว่าเพ้อเจ้อ ทำให้เหล่าแฟนคลับยังคงเชื่อว่าทักษิณจะกลับมาจริง

ล่าสุดวันที่ 5 ส.ค. ทักษิณได้ทวีตข้อความแจ้งการเลื่อนเดินทางกลับไทยจากเดิม 10 ส.ค. ออกไปอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพราะหมอเรียกตรวจร่างกาย จนทำให้แฮชแท็ก #เพ้อเจ้อ ติดเทรนด์ฮิตในทวิตเตอร์ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเมามันในทำนองว่าสรุปแล้วใครเพ้อเจ้อกันแน่ กลายเป็นอีกหนึ่งดราม่าการเมืองไทยในขณะนี้

...

ปัจจัยทำการเมืองไทย กลายเป็นละครน้ำเน่า เรื่องเพ้อเจ้อ

จริงหรือที่ขณะนี้การเมืองไทยกลายเป็นละครน้ำเน่าไปเสียแล้ว และก็น่าจะจริง เพราะ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ออกมายอมรับ โดยระบุถึงต้นตอที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยหลายๆ ส่วนที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล เริ่มจากผลการเลือกตั้งได้สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน ส่วนอีกปัจจัยจากการวางมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงให้เห็นว่ามีการพูดคุยกันลงตัวแล้ว จนมีนายกรัฐมนตรีในดวงใจ และเช็กเสียงแล้วว่าไปได้ แม้ก่อนหน้านั้นเคยเจอเรื่องปมนายกฯ 8 ปี ก็ไม่เคยประกาศวางมือ

อีกปัจจัยจากการที่ทักษิณจะกลับบ้าน มีความสำคัญต่อพรรคเพื่อไทย จะต้องเป็นรัฐบาลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ดี หรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับทักษิณจะกลับบ้าน และปัจจัยที่เกิดจากมวลชนกับความคาดหวัง จะทำให้ความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้ แม้ขณะนี้ยังไม่มาก เพราะยังไม่สุกงอม แต่หากเห็นหน้าตารัฐบาลและเห็นหน้าตาพรรคร่วม ก็จะเห็นม็อบออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากก็ได้

“จาก 3-4 ปัจจัยนี้ ทำให้การเมืองไทยหาข้อสรุปไม่ได้ จนเป็นเหมือนละคร เหมือนซีรีส์เกาหลี ตั้งแต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกฯ จนมาถึง เศรษฐา ทวีสิน ก็มีการแฉนอกสนาม สะท้อนให้เห็นดราม่าทางการเมือง”

ส่วนเรื่องเพ้อเจ้อในการเมืองไทย เกิดจากแต่ละฝ่ายพยายามปล่อยข่าวในการชิงไหวชิงพริบ เพื่อสร้างความได้เปรียบ ยิ่งทักษิณจะกลับบ้านแล้วไม่ได้กลับ ยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือ หลังจากอุ๊งอิ๊งตอกกลับชูวิทย์ ว่าเพ้อเจ้อ ซึ่งการใช้เทคนิคการเมืองแบบนี้ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือ และสรุปแล้วใครกันแน่ที่เพ้อเจ้อ ควรให้แน่นอนก่อนจะประกาศออกไป จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยล้มละลาย เพราะการประกาศกลับบ้านของทักษิณ ไม่ได้มีผลอะไรแล้ว ไม่เหมือนในอดีตได้ทำให้คนเสื้อแดงมีชีวิตชีวา

“ยิ่งเพื่อไทยจะจับมือกับพรรค 2 ลุง ยิ่งทักษิณประกาศจะกลับบ้าน จะกู้ความน่าเชื่อถือที่ล้มละลายขึ้นมาคงไม่ได้ ต้องเพื่อไทยเท่านั้นในการวางยุทธศาสตร์จะจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วอย่างไร จะต้องไม่มี 2 ลุง และไม่ให้เกิดกระแสในโซเชียลว่าใครกันแน่เพ้อเจ้อ ซึ่งอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีเลย”

สูตรจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อไทยต้องไม่เอาลุง

การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยแบบข้ามขั้ว ไม่มีพรรคลุง อย่างที่เคยถอดสูตรสมการจัดตั้งรัฐบาลเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับมา โดยพรรคเพื่อไทย 141 เสียง รวมกับพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง รวม 8 พรรค 265 เสียง

...

หรืออาจไม่มีพรรคไทยสร้างไทย จะต้องดึงพรรคเล็กเข้ามาเติม โดยพรรคเพื่อไทยต้องชัดเจนในเรื่องของประชาธิปไตย หากโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร เพราะ สส.จะทำอะไรทุกอย่างไม่ได้ ดูได้จากการเลือกตั้งปี 2566 หลังการรัฐประหารปี 2557 พบว่าผู้คนต้องการเปลี่ยนแปลงรื้ออำนาจ คสช. ด้วยการปิดสวิตช์ 3 ป. หรือการเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยของทักษิณประสบความสำเร็จ จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540

แต่สุดท้ายหากนักการเมืองไม่ตอบโจทย์ต่อเจตจำนงของประชาชน จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะอย่าลืมว่าพรรคการเมืองในยุคปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นเครื่องจักรเก็บคะแนน เมื่อเข้ามาได้ก็เป็นเรื่องของสส.ในการไปจับขั้ว ไม่เกี่ยวกับประชาชน แต่วันนี้การเมืองไม่ใช่อย่างนั้น โดยประชาชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมแบบตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเครื่องมือโซเชียลได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง

“ถามว่าเพื่อไทยทำอะไรผิด ก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่คิดไม่รอบคอบ และการเกิดขึ้นของก้าวไกลในวันนี้ ก็ไม่สามารถผูกขาดการเลือกตั้งได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นแล้วขอให้เพื่อไทยคิดให้รอบคอบมากกว่านี้ในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ให้เกิดดราม่าทางการเมือง”.

...