โรงพยาบาลริมชายแดนวิกฤติหนัก ประชากรเพื่อนบ้าน เข้ามารักษาจำนวนมาก แต่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทำให้งบประมาณติดลบต่อเนื่องหลายปี เช่น โรงพยาบาล ท่าสองยาง จ.ตาก ติดชายแดนเมียนมา แบกรับงบประมาณติดลบปีละ 10 - 20 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เข้ามาคลอดบุตร มีอาการหนักเกี่ยวกับโรคติดต่อในเด็ก ส่งผลกระทบมาถึงระบบสาธารณสุขไทย เพราะแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นว่า ด้วยความที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ริมชายแดน จ.ตาก ติดกับประเทศเมียนมา ประสบปัญหาด้านระบบสาธารณสุข ทำให้ชาวเมียนมาที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เข้ามาหาหมอที่โรงพยาบาลจำนวนมาก จนงบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากชาวต่างด้าวส่วนใหญ่ มีความยากจน ไม่มีบัตรสวัสดิการ ที่ช่วยเหลือในการรักษา ขณะเดียวกันแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ เลยทำให้โรงพยาบาลมีรายจ่ายติดลบมาตลอด แต่ปีนี้โชคดีมีงบประมาณการป้องกันโควิดมาช่วยเหลือ แต่คาดว่างบประมาณจะหมดภายในสิ้นปีนี้

งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้โรงพยาบาล เป็นงบประมาณรวม ใช้ดูแลในคนไข้ทุกสิทธิการรักษา โดยงบประมาณนี้ทางโรงพยาบาลนำไปซื้อยา และเวชภัณฑ์ แต่ในคนไข้ต่างด้าว ที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่ไม่มีเงิน เลยทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาจากคนไข้ได้

...

“สำหรับโรงพยาบาล เฉลี่ยงบประมาณที่ไม่เพียงพอปีละ 10 - 20 ล้านบาท ที่ผ่านมาต้องทำเรื่อง ของบประมาณจากกองทุนต่างๆ และจังหวัด เพื่อมาช่วยเหลือเป็นรายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งได้รับช่วยเหลือไม่แน่นอน”

ขณะที่คนไข้ชาวเมียนมาที่มาพบแพทย์ ส่วนใหญ่มาด้วยเรื่อง การคลอดบุตร เนื่องจากโรงพยาบาลฝั่งเมียนมา ยังขาดแคลนบุคลากรในการดูแลเรื่องการคลอดอย่างปลอดภัย ส่วนโรคทางเดินหายใจ การติดเชื้อจากมาลาเรีย ไข้เลือดออก รวมถึงโรคทางเดินหายใจในเด็ก ค่อนข้างพบมากในคนไข้ชาวเมียนมา

งบประมาณที่ทางโรงพยาบาล ต้องสำรองจ่ายให้กับคนไข้ต่างด้าวอยู่ที่ 1,000 - 10,000 บาทต่อคน โดยเฉพาะคนไข้ที่มาคลอดบุตรมีจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงถึงคนละ 10,000 บาท

ส่วนคนไข้ชาวเมียนมาที่มาในโรงพยาบาลจะแบ่งเป็นกลุ่มคนไข้นอกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนไข้ในประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยคนไข้ทั้งสองส่วนนี้จะไม่มีเงินเพียงพอมาจ่ายค่ารักษา ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับรายจ่ายค่อนข้างมาก

ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณ นอกจากต้องพึ่งงบประมาณของภาครัฐแล้ว อาจมีงบประมาณจากภาคเอกชน ที่มาร่วมบริจาค แต่ยังไม่เพียงพอกับการดูแลคนไข้ ตอนนี้ทางโรงพยาบาลยังขาดแคลนยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดสัญญาณชีพ ตู้อบเด็กทารกแรกเกิด ตอนนี้มีคนที่มาคลอดบุตรมากขึ้น เฉลี่ยปีละ 1,000 ราย

หากดูจำนวนคนไข้ที่เป็นชาวต่างด้าว เข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ แม้พื้นที่ของเมียนมาส่วนนี้ไม่มีการรบกันระหว่างชนกลุ่มน้อยกับทหาร แต่ด้วยเป็นพื้นที่ห่างไกล มีหมู่บ้านตั้งอยู่ตลอดแนวชายแดน ทำให้ระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึง ประกอบกับพื้นที่ริมชายแดน สามารถเดินข้ามไปมาหาสู่กันได้ง่าย ทำให้ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ เลือกจะเดินทางมาพบแพทย์ฝั่งไทย โดยเฉพาะเคสที่มีอาการหนัก
การแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณ หากโรงพยาบาลได้รับเพิ่มเป็นปีละ 20 ล้านบาท จะช่วยทำให้อุดรอยรั่วงบประมาณที่เป็นอยู่ได้

โดยโรงพยาบาลริมชายแดนส่วนใหญ่ประสบปัญหา เรื่องงบประมาณ จากการเข้ามารักษาของประชากรประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรงพยาบาลใน จ.ตาก หลายแห่งประสบปัญหาหนักเช่นกัน เนื่องจากชายแดนเป็นแนวยาวกว่า 500 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามมีหมู่บ้านตั้งอยู่ตลอดแนว ต่างจากริมชายแดนใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่แนวชายแดนเป็นภูเขา กว่าจะถึงหมู่บ้าน ต้องเดินเข้าไปในป่าลึก ทำให้ไม่มีประชากรหนาแน่น

...

สำหรับหน่วยงานเอกชน หรือผู้มีจิตศรัทธาอยากจะช่วยเหลือโรงพยาบาล ผู้ยากไร้ ทั้งในส่วนของงบประมาณ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถติดต่อมาได้ที่โรงพยาบาล เพราะทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากอุปกรณ์การแพทย์ยังขาดแคลน

ทั้งนี้ แม้มีการเสนอทางออก ให้ออกเลขบัตรให้กับเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลของไทย เพื่อให้ได้สวัสดิการในการรักษาพยาบาล แต่เป็นทางเลือกที่เป็นความเสี่ยง เพราะจะเพิ่มภาระให้กับระบบสาธารณสุขไทยในภาพรวมเช่นกัน.