สถานการณ์ของประเทศไทย มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และใช้เวลาเพียง 17 ปีเท่านั้น ในการยกระดับจากสังคมสูงอายุ เป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์

จากสถานการณ์ในปี 2506-2526 สังคมไทย มีจำนวนการเกิดมากกว่า 1 ล้านคน หรือประชากรรุ่นเกิดล้านคน และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนการเกิดได้ลดลงเรื่อยๆ กระทั่งปี 2563 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน ส่งผลให้มีประชากรสูงอายุมากกว่าวัยเด็ก และในปี 2566 นี้ ประชากรรุ่นเกิดล้านคนรุ่นแรก เกิดในปี 2506 กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี อย่างสมบูรณ์

คาดการณ์ประชากรสูงอายุไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.0 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน เข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” เป็นกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรังเป็นลำดับต้นๆ ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนกำหนดมาตรการและแผนงานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้ทันท่วงที

เมื่อผู้สูงอายุมีอายุเพิ่มมากขึ้น มีปัญหาด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งมวลกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย เริ่มมีอาการบาดเจ็บ และเสื่อมลงตามกาลเวลา อีกทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในช่วงวัยทำงาน ส่งผลต่อสุขภาพอยู่ไม่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 ป่วยเป็นโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งโรคความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เบาหวาน และเข่าเสื่อม โดยมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว

...

กิจกรรมทางกาย การเข้าถึงของผู้สูงอายุไทย

การมีกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุไทยในช่วงปี 2555-2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2562 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอสูงที่สุดถึงร้อยละ 73.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.8 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยที่ ร้อยละ 1.9 ต่อปี และผู้สูงอายุเพศหญิง เริ่มให้ความสำคัญในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ใกล้เคียงกับผู้สูงอายุเพศชายมากขึ้นในทุกๆปี

ข้อมูลการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 59.3 ของผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในละแวก มีเส้นทางเดินหรือปั่นจักรยาน เพื่อการสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 65.2 ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในละแวกไม่มีเส้นทางเดิน หรือปั่นจักรยานเพื่อการสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 49.1

กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในละแวกพื้นที่ มีการออกแบบให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 61.4 ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในละแวก ไม่มีพื้นที่ที่ออกแบบให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 52.6

ในส่วนการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรณรงค์ การให้ความรู้ทางสุขภาพรวมถึงด้านกิจกรรมทางกายจากช่องทางการเรียนรู้ หรือช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 70.0 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารและไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 50.3

การได้รับบริการทางสุขภาพโดยมีการให้ความรู้ ข้อแนะนำและทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายจากสถานบริการทางสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุที่เข้าถึงความรู้ ข้อแนะนำและทักษะ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 60.3 ขณะที่ผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงความรู้ข้อแนะนำและทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายจากสถานบริการทางสุขภาพ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 55.7

ขณะที่ชุมชนที่มีการจัดกิจกรรมการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา พบว่า ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 62.3 ในขณะที่ชุมชนที่ไม่มีการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการต่าง ๆ ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 53.4

เมื่อผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการส่งเสริมและได้รับการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย จะเห็นได้ว่าระดับของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ มีมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับและไม่ได้เข้าถึงด้านนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการสื่อสารสาธารณะ เพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชนของผู้สูงอายุ ที่ส่งผลทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายมากถึง ร้อยละ 19.7

...

รองลงมาคือการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน มากกว่าร้อยละ 16.1 การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน มากกว่าร้อยละ 8.9 การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง มากกว่าร้อยละ 8.8 และการบริการสุขภาพ มากกว่าร้อยละ 4.6 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของระดับการมีกิจกรรมทางกาย ระหว่างการเข้าถึงและการใช้การบริการกับการเข้าไม่ถึง และไม่ได้รับบริการอย่างเห็นได้ชัด

ต้องลงทุนนโยบาย ส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกมิติ

การลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกมิติ มีความจำเป็นและความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้สูงอายุ โดยการสื่อสารข้อมูลข่าวสารและการรณรงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพและกิจกรรมทางกายผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ถือว่ายังคงมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีความคุ้มค่ามากที่สุด และยังคงอยู่ในรูปแบบของสื่อโทรทัศน์ วิทยุเป็นหลัก นอกจากนี้ศูนย์บริการสุขภาพระดับชุมชน ก็เป็นช่องทางช่วยสื่อสารข้อมูลข่าวสารกับผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย

รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงในการเดินทาง โดยการปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปลอดภัย และดึงดูดการใช้งานอย่างเหมาะสม เช่น การวางผังเมือง การปรับทางเดินเท้า ทางจักรยาน และทางที่นำไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ ที่เข้าถึงได้ง่าย เชื่อมต่อกัน และรองรับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มอัตราการเดิน การปั่นจักรยาน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นการลดปัญหามลพิษได้ไปในตัวร่วมด้วย

...

การส่งเสริมดำเนินการจัดกีฬาและนันทนาการ เน้นถึงประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน มีการออกแบบและโครงสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชน ให้เข้าถึงสถานที่ต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะร้านค้า โรงเรียน สถานบริการ สวนสาธารณะ อุปกรณ์นันทนาการ และมีถนนที่เชื่อมต่อกันในแต่ละสถานที่ เพื่อให้ผู้สูงอายุสะดวกต่อการเดินสัญจรและปั่นจักรยาน ไปยังจุดหมายหรือเอื้อให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกที่ทุกเวลา

นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้มีชุดปฐมพยาบาลและเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ประจำพื้นที่ที่ออกแบบให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และนันทนาการ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้ความรู้ ให้คำแนะนำกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องกับผู้สูงอายุ ในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยที่มารับบริการหรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีการเคลื่อนไหวน้อยในทุกระดับ.