เสร็จสิ้นไปแล้วในการประชุมผู้แทนรัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อหาทางออกปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเรื่องความเหมาะสม ถูกตั้งคำถามในเชิงกาลเทศะเพราะจัดประชุมในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ มีผู้แทนระดับสูงจากลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน และเวียดนาม เข้าร่วม ส่วน 4 ชาติอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ไม่ได้เข้าร่วมหารือ

ก่อนการจัดประชุมระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงไม่ได้ประชุมในนามอาเซียน แต่เป็นการประชุมกลุ่มเพื่อนเมียนมา จัดขึ้นในไทยเป็นครั้งที่ 3 ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และหลังการประชุมเสร็จสิ้น ทางดอน ออกมาระบุผลการหารือไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ทุกอย่างทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศไทย เพราะมีชายแดนติดกับเมียนมา 2,000 กว่ากิโลเมตร และยืนยันไม่มีการลงนามข้อตกลงใดๆ

ข้ออ้างของดอน จากคำวิพากษ์วิจารณ์จะเชื่อได้หรือเพื่อประโยชน์ของไทยจริงๆ ยิ่งมีการจัดประชุมในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ อาจมีบางอย่างซ่อนเร้นจากข้อครหาเอนเอียงไปทางฝั่งรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาหรือไม่ โดยเฉพาะท่าทีของไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2564 มีการงดออกเสียงประเด็นระงับขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา จนมาถึงคราวนี้จัดประชุมหารือวิกฤติเมียนมาครั้งล่าสุด อาจส่งผลกระทบต่อไทยในเวทีโลกและอาเซียน

...

ในมุมมองของ "รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์" ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่าผลการหารือไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้นั้น แสดงว่า ไม่มีมติออกมา ไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่ได้หาข้อตกลงกัน นอกจากประเทศอินเดียที่เข้าร่วมประชุมไม่ได้คำนึงเรื่องประชาธิปไตย ในการจะเรียกร้องไปยังฝ่ายทหารเมียนมาก็เป็นไปไม่ได้ เป็นการผูกมัดตัวเองในการจะเอาอะไรไปให้เมียนมายอมรับกติกาประชาธิปไตย ไม่เคยเจรจาใดๆ ในประเทศเมียนมาทั้งสิ้น

“คิดว่าไทยจัดประชุมในเรื่องนี้ เป็นการแก้เก้อ จากกรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ออกมาพูดกรณีเมียนมา จะทำให้แผนสันติภาพ 5 ข้อของอาเซียนเป็นจริง จนได้รับการตอบรับจากประชาคมโลก และขโมยซีนนี้ไปจากรัฐบาล จนเป็นความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเข้ามาช่วยทำให้ปัญหาในเมียนมามีความคืบหน้า ก็เลยทำให้รัฐบาลต้องออกมาแสดงบทบาทจัดประชุม จนในที่สุดก็หน้าแตก เมื่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย ออกมาวิจารณ์แรงมากโดยไม่ไว้หน้า คงเบื่อหน่ายไทย ไม่ทำอะไรเลยในการช่วยกดดันเมียนมา ทั้งๆ ที่เป็นด่านสำคัญ”

โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ต้องอาศัยประเทศไทยในการเข้าช่วยเหลือผู้คนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แต่เมื่อถึงวันนี้รัฐบาลจะหมดอำนาจลง ก็เล่นบทพระเอกขี่ม้าขาว เหมือนกำลังสร้างบทบาทหาแสงให้กับตัวเอง เพื่อสร้างให้คนในประเทศได้ดู และคิดว่าคนจะชื่นชม หรือดอน ปรมัตถ์วินัย อาจพยายามแสดงโชว์ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นว่าในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มีน้ำยาพยายามมีบทบาทแข็งขันในเมียนมา แต่การจัดประชุมที่ผ่านมาไม่มีนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติให้บรรดาประเทศที่เข้าร่วมประชุม จะเข้าล็อบบี้ให้มีการเจรจาในเมียนมา ซึ่งไม่เชื่อจะเป็นไปได้และทำได้

ขณะที่จีนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับเมียนมาอยู่แล้ว เพราะเมียนมาเป็นประเทศพันธมิตรของจีน อีกทั้งความไม่เป็นประชาธิปไตยในเมียนมา เป็นเกราะคุ้มกันของประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งเวียดนามและลาวอีกด้วย นอกจากนี้กระแสคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับประเทศเพื่อนบ้าน มองว่าคนรุ่นใหม่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับไทย ในการใช้สัญลักษณ์สามนิ้ว ใช้โซเชียลมีเดียในการส่งต่อกัน ได้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้มาจากฮ่องกง และส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน

วิกฤติเมียนมา ต้องแก้ในนามอาเซียน ไทยไม่ใช่พระเอก

การที่ไทยจัดประชุมหาทางออกในเมียนมาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแสดงบทบาทเป็นผู้นำในอาเซียน ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำอะไรได้ แต่ไม่ได้แปลว่าไทยจะไม่ทำอะไรเลย เพราะไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา 2,000 กว่ากิโลเมตร หากปล่อยให้เมียนมาย่ำแย่ ก็จะกระทบกับไทย เนื่องจากไทยมีนักลงทุน และหากปล่อยให้เมียนมา มีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย ก็มีโอกาสลุกลามมายังไทยได้เสมอ

“ไม่ได้แปลว่าจะให้ไทยเป็นศัตรู หรือกองหน้าปะทะกับทหารเมียนมา แต่สามารถทำได้ในนามอาเซียน เพื่อลดการเผชิญหน้า เพราะไทยไม่ใช่พระเอก ต้องเอาตัวเองไปเผชิญ หากคุย 1ต่อ 1 ระดับทวิภาคี เมียนมาก็ไม่แคร์ ถ้าคุยในนามอาเซียน ก็จะคำนึงให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ลงทุนเป็นจำนวนมากในเมียนมา ต้องมีการพูดคุยในหลายระดับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผล 100%”

...

เพราะฉะนั้นแล้วอินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นประเทศมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ จะต้องมีบทบาทในอาเซียน อย่างในอดีตกรณีเวียดนามบุกกัมพูชา เพื่อขับไล่เขมรแดง หรือความขัดแย้งในกัมพูชาระหว่างฮุนเซนกับเจ้ารณฤทธิ์ ต้องอาศัยความร่วมมือของอาเซียน เพื่อจะได้มีพลัง และไทยต้องร่วมมือด้วย ในการแก้ปัญหาในเมียนมาให้กลับมามีสันติ มีประชาธิปไตย แม้อาจจะช้า แต่มีช่องทางเดียวเท่านั้นในการกดดันให้ทหารเมียนมาร์ที่ดื้อดึงอำมหิตโหดเหี้ยมโอนอ่อนผ่อนตามได้.