ดราม่าวงการตำรวจ เมื่อเพจดังแฉตำรวจหญิงนายหนึ่ง ใช้เวลา 4 ปี ตำแหน่งขึ้น 8 ชั้นยศ ท่ามกลางความสงสัยของบรรดาตำรวจชั้นผู้น้อย ที่คอมเมนต์ถึงความยากลำบาก กว่าจะได้ปรับตำแหน่ง และถึงเวลาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปฏิรูปการพิจารณาเพื่อเลื่อนขั้น และปรับเงินเดือนให้กับตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างเท่าเทียม
เพจเฟซบุ๊ก พระจันทร์ ลายกระต่าย V2 โพสต์ภาพและระบุข้อมูลว่า จาก ส.ต.ต.หญิง สู่ ร.ต.อ.หญิง ใช้เวลาไม่ถึง 3-4 ปี ผมที่เป็นตำรวจมา 9 ปี จะติดจ่าปีหน้า เปิดสอบมีแต่สาย อก. กว่าจะเปิดแต่ละปี เปิดเเต่ละทีก็รับน้อย สายปราบปรามก็มีแต่ให้ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ สาย กอส. กอป. ก็รู้ๆ กันในตำรวจเรา นามสกุลดังๆ ทั้งนั้นมาบรรจุ ส.ต.ต. ปีเดียวก็ขึ้นสัญญาบัตรกันหมดแล้ว งานการสายตำรวจไม่รู้ทำกันเป็นหรือเปล่า แอ็กเท่ สวยหล่อ เอาเวลาไปอัปสตอรี่ ไอจี อัปติ๊กต่อก โพสต์เฟซอวดตัวเอง ผู้บังคับบัญชาก็ชื่นชมว่าเป็นหน้าเป็นตาของสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ
หลังโพสต์มีตำรวจชั้นผู้น้อยและครอบครัวมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจโดยเร็ว เพื่อให้ตำรวจชั้นผู้น้อยมีกำลังใจทำงาน สร้างระบบพิจารณาเงินเดือนของกำลังพลให้เป็นธรรรมเท่าเทียม
...
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) อดีตคณะกรรมมาธิการด้านการปฏิรูปตำรวจ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ด้านการเมืองและกิจการพิเศษ ให้ข้อมูลว่า กรณีที่เกิดขึ้นต้องมีการชี้แจงว่าตำรวจหญิงนายนี้ มีการเข้าไปในหลักสูตร กอส. หรือ หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรหรือไม่
“ผู้ที่เข้าในหลักสูตร กอส. ส่วนใหญ่จะเป็นลูกของข้าราชการที่เสียชีวิต ถ้าไม่ได้เข้าตามเงื่อนไขดังกล่าว การเลื่อนชั้นยศ 4 ปี ไปถึง 8 ขั้น ถือว่ารวดเร็วมากในระบบราชการตำรวจ แต่เคยมีการเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”
ปกติการเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ จะเริ่มจากพิจารณาในขั้นเงินเดือน ถ้าทำงานครบ 6 เดือน มีการปรับฐานเงินเดือนให้ในรอบครึ่งปีแรก และปรับให้ 1 ขั้น หรือครึ่งขั้น ซึ่งถ้าได้ปรับ 1 ขั้น ในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสได้ปรับขึ้นอีก 1 ขั้น สรุปแล้ว 1 ปี มีโอกาสได้เลื่อน 2 ขั้น ถือเป็นตำแหน่งที่ก้าวกระโดด แต่ที่สำคัญการเลื่อนขั้นปีละ 2 ขั้น ไม่สามารถทำได้ในปีที่ 3 ในการรับราชการ เพราะการเลื่อน 2 ขั้น สามารถทำได้ 2 ปีติดกัน เว้นมีตำแหน่งการเลื่อนขั้นของสำนักนายกฯ มาให้ ซึ่งมีน้อย ยกเว้นนายตำรวจที่มีวาสนาสูง ถึงได้รับการเลื่อนขั้นลักษณะนี้
จากโพสต์นายตำรวจหญิงดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิจารณ์จากตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งแนวคิดในการปฏิรูปตำรวจควรให้ความสำคัญกับตำรวจชั้นผู้น้อย เพราะถือว่ามีจำนวนมากกว่าตำรวจในระดับสูง ถือเป็นบุคลากรสำคัญในการลงพื้นที่และใกล้ชิดกับประชาชน เพราะตำรวจชั้นผู้น้อยในระดับประทวนมีกว่า 2 แสนคน ขณะที่นายตำรวจสัญญาบัตร มีประมาณแสนคน
แนวคิดการปฏิรูปตำรวจ ควรมีการปรับฐานเงินเดือนตำรวจชั้นประทวนให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพราะถือว่ามีจำนวนคนมากกว่า และควรมีฐานเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าตำรวจสัญญาบัตร ขณะเดียวกันการปรับตำแหน่งในแต่ละปี ต้องเพิ่มโควตาให้ตำรวจชั้นประทวนมากขึ้นเป็น 25% ขณะเดียวกันต้องกำหนดอัตราเงินเดือนตำรวจชั้นประทวน ในแบบก้าวหน้า
“การปฏิรูปตำรวจอนาคต ต้องแยกระหว่างการปรับเงินเดือนกับการเลื่อนชั้นยศออกจากกัน และต้องปรับให้ตำรวจชั้นนายพลมีน้อยลง ทำให้ตำรวจใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับจังหวัด จะมีสูงสุดที่พลตำรวจตรี แต่ฐานเงินเดือนสูงเทียบเท่าผู้บัญชาการ ขณะที่กำลังพลส่วนกลาง ปัจจุบันมีตำแหน่งพลตำรวจเอก ประมาณ 10 คน ต้องตัดให้เหลือประมาณ 4 คน แต่เงินเดือนในตำแหน่งชั้นยศรองๆ สามารถสูงขึ้นเทียบเท่าได้”
...
การเลื่อนขั้นของตำรวจ ต้องยึดโยงกับประชาชนในท้องถิ่น ไม่ใช่มาจากการสนับสนุนของผู้มีอำนาจ หรือการซื้อขายตำแหน่ง โดยเป้าหมายอนาคตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องลดนายพลให้น้อยกว่า 50% และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับตำรวจท้องถิ่นมากขึ้น.