เป็นอีก 1 นโยบายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล นอกจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 350 บาทบวกลบ ในขณะนี้ เป็น 450 บาททันที (ใน 100 วัน) แล้ว ยังมีอีก 1 นโยบาย เรื่องการลาคลอด 180 วัน ซึ่งในปัจจุบัน สิทธิของลูกจ้างทั่วไปอยู่ที่ 98 วัน (โดยยังได้เงินเดือน 45 วัน จากบริษัท และ 45 วัน จาก ประกันสังคม ส่วนอีก 8 วันกฎหมายไม่ได้บังคับให้นายจ้างจ่าย) โดยในแผนนโยบายของก้าวไกล ระบุไว้มีสาระสำคัญดังนี้ 

คือเพื่อ ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสุขภาพของเด็กแรกเกิด โดยแม้องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ออกคำแนะนำว่าลูกควรได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน เนื่องจากเป็นแหล่งโภชนาการที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองและเชาวน์ปัญญา (IQ) ของเด็ก แต่สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับเผยว่ามีเพียง 14% ของทารกทั้งหมดในประเทศไทย ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต

การขยายสิทธิลาคลอดให้แม่ได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่กับลูกช่วงแรกเกิดโดยไม่สูญเสียความมั่นคงทางรายได้ จึงเป็นหนึ่งในวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว (ซึ่งอาจทำได้ควบคู่กับการพิจารณามาตรการสนับสนุนให้มีห้องให้นมตามสถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ หรือสถานที่สาธารณะ)

...

สำหรับ ข้อกังวลอย่างหนึ่งที่สังคมมักมีเกี่ยวกับการขยายสิทธิลาคลอด คือการเลือกปฏิบัติโดยผู้ว่าจ้าง ที่อาจเลือกจะจ้างงานผู้หญิงน้อยลงเพราะกังวลถึงผลกระทบที่ตามมาหากผู้หญิงดังกล่าวตั้งครรภ์และลางานด้วยการใช้สิทธิลาคลอด แม้พฤติกรรมเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันขจัดในทุกกรณี แต่การเพิ่มความยืดหยุ่นให้พ่อ-แม่เลือกว่าต้องการแบ่งวันลา 180 วัน ระหว่างกันอย่างไร (เช่น ลาทั้ง 2 คนร่วมกัน 3 เดือน / คนหนึ่งลา 5 เดือน อีกคนลา 1 เดือน) เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งในมิติของการส่งเสริมให้การเลี้ยงลูกเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งพ่อและแม่ (ไม่ใช่แค่แม่ฝ่ายเดียว) และในมิติของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้คู่รักในการวางแผนการเลี้ยงดูและการงาน โดยไม่บีบให้คู่รักต้องเลือกให้ฝ่ายแม่เป็นฝ่ายลาจากงานเป็นหลักและเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสทางการงาน เพียงเพราะสิทธิลาคลอดทั้งหมดถูกจำกัดให้กับเพียงฝ่ายแม่ฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาที่ “ก้าวไกล” เตรียมไว้ คือ เพื่อสนับสนุนให้ SME เติบโตและแข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างเป็นธรรม จึงมีหลายมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น การลดภาระภาษี SME โดยการให้นำค่าแรงมาหักภาษีได้ 2 เท่า เป็นระยะเวลา 2 ปี และการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME 

จากประเด็น เพิ่มสิทธิลาคลอด จาก 98 วัน เป็น 180 วันนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย

ลาคลอด 6 เดือน เอกชนไหวไหม ดร.โสภณ ในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ระบุว่า 10 ประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดสูงสุด มีดังนี้  

• บัลแกเรีย 58.6 สัปดาห์
• กรีซ  43 สัปดาห์
• อังกฤษ  39 สัปดาห์
• สโลวาเกีย  34 สัปดาห์
• โครเอเชีย  30 สัปดาห์
• ชิลี  30 สัปดาห์
• สาธารณรัฐเช็ก  28 สัปดาห์
• ไอร์แลนด์  26 สัปดาห์
• ฮังการี  24 สัปดาห์
• นิวซีแลนด์  22 สัปดาห์

**ที่มาข้อมูล skuad.io**

สำหรับในประเทศอาเซียน ดังนี้

• สิงคโปร์ 12 สัปดาห์
• มาเลเซีย  8 สัปดาห์
• ฟิลิปปินส์  8 สัปดาห์
• ไทย 14 สัปดาห์ (98 วัน)

ดร.โสภณ ระบุ เห็นได้ว่าในขณะนี้ ระยะเวลาในการลาคลอด อาจจะถือว่าสูงสุดในอาเซียนอยู่แล้ว

“เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิด ในช่วงปี 2565 มีประชากรไทยเกิดรอดจำนวน 502,107 ราย หากแม่เด็กมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท หากต้องจ่ายเพิ่มอีก 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็นเงิน 45,190 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงตัวเลขกลมๆ เท่านั้น ยังไม่รวมว่า จะมีแรงงานในระบบทั้งหมด หากรวมตัวเลขดังกล่าวจริงๆ ก็คงมีไม่มากเท่านี้” 

...

สำหรับเงินที่จะช่วยเหลือ ปกติแล้ว จะมาจากบริษัท 45 วัน ประกันสังคม อีก 45 วัน หากจะเพิ่มเป็น 90 วัน ทางเอกชน หรือประกันสังคม จะไหวหรือไม่ นายโสภณ กล่าวว่า หากจะให้เอกชนเป็นฝ่ายออกเพิ่ม ก็คงไม่ไหวหรอก ขณะที่จะให้ประกันสังคม รับภาระก็คงจะเป็นปัญหา เช่นเดียวกัน ดังนั้นทางออกประการหนึ่งก็คือการให้รัฐบาลจัดงบประมาณเพิ่มเติมมาจ่ายให้กับลูกจ้างที่เป็นหญิงคลอดใหม่น่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด

“อีกทางออกหนึ่ง คือ รัฐบาล อาจจะช่วยลดภาษีให้กับทางเอกชน เพราะเชื่อว่า บริษัทหนึ่งคงมีคนลาคลอดไม่มาก หากเป็นบริษัท SME เล็ก ก็น่าจะได้ประโยชน์อยู่ เพราะการลดภาษีก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับทางบริษัท อย่างไรก็ตาม ในวงการนายจ้างเขาก็มองว่า อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ บริษัทที่มีลูกจ้างเยอะๆ เขาก็ติดตามประเด็นนี้อยู่” ดร.โสภณ กล่าว 

 อีกด้านหนึ่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ แหล่งข่าว ในแวดวง “นายจ้าง” มองเรื่องการ “ลาคลอด” 180 วันว่า ในมุมมองเห็นว่ามีข้อดีคือ ความเป็นสากล ลูกจ้างที่จะคลอดบุตรก็จะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เหมือนกับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากได้พักแล้วยังได้เงินเดือนด้วย แต่ถ้ามองในมุมนายจ้าง ที่จะให้เขามารับภาระ มันจะยากและคิดว่าน่าจะทำใจได้ยาก โดยเฉพาะบริษัท SMEs ที่ประเทศไทยมีถึง 3 ล้านราย ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ มีเพียง 3 แสนราย 

...

ยกตัวอย่างในบริษัทเล็กๆ มีพนักงานอยู่ 10 คน 1 คนท้อง ลาไป 6 เดือน 9 คนที่เหลือจะรับตรงนั้นได้หรือไม่ หรืองานประเภทนั้น จำเป็นต้องใช้แรงงาน ทางบริษัท อาจจะต้องจ้างคนที่ 11 มาช่วยทำงานชั่วคราว หรือไม่ 

การจะทำอะไรสักอย่าง บางครั้งต้องมองไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจด้วย ว่าตอนนี้เศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร สภาพ SME ในเวลานี้เป็นอย่างไร แล้วสิทธิตรงนี้สำหรับประเทศไทยมีความเหมาะสมอย่างไร หรือไม่ หากเป็นบริษัทฝรั่ง เขาอาจจะทำได้ เพราะเขาไม่ได้ทำงานเหมือนกับเรา

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจ ที่มีแรงงานดูแลจำนวนมาก ระบุว่า เราต้องยอมรับความจริงว่า หากมีการจ้างงานเพิ่ม สิทธิในการดูแลทางกฎหมายของนายจ้างก็ต้องเพิ่มเติม ยกเว้น ว่างานตรงนั้นไม่ต้องทำ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะหากไม่มีคนทำ 9 คนที่เหลือก็ต้องมาทำแทน เชื่อว่า พนักงาน 9 คนนั้น “บ่นแน่นอน” ยกเว้นเสียว่า งานดังกล่าวจำเป็นต้องทำ 10 คน ทางออกก็คือต้องจ้างเพิ่ม 

หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่นายจ้างจะต้องคิด คือการหาเทคโนโลยี มาใช้แทนคน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศจีน ก็ใช้วิธีการนี้ การใช้คนมากๆ ต้องรับภาระหลายทาง อาทิ การขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 450 บาท หยุดลาคลอด 6 เดือน เพราะแบบนี้หรือไม่ ที่จะบีบให้ไปพึ่งพาแรงงานเครื่องจักร หรืออาจจะเปลี่ยนวิธีการทำงาน ด้วยการ “สั่งของ” จากประเทศจีน ที่มีสินค้าราคาถูกมาขาย ดีกว่าตั้งโรงงานเอง 

...

ที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจมันทรุด จากโควิด ตอนนี้เรียกว่าเพิ่งจะฟื้นมา ยิ่งรัฐบาลจะเสนอนโยบายค่าแรง 450 บาท ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการคิด และเปลี่ยนวิธีการลงทุน หรือ อาจจะย้ายฐานการผลิตไปเลยก็ได้ เพราะแรงงานใกล้บ้านเราก็ถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา หรือ กัมพูชา ล้วนค่าแรงถูกกว่าประเทศไทย แค่ย้ายข้ามฝั่งไปนิดเดียว 

สิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมมองนายจ้างก็มี 2 ทาง คือ การจ้างคนน้อยลง หรือหาเครื่องจักรมาแทนที่ ในมุมมองนายจ้างมองว่า สิ่งที่ต้องทำในเวลานี้ คือ ความพยายามในการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน หากต้นทุนมนุษย์สูงขึ้น ก็ต้องคิด

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องแวดวงนายจ้าง มองว่า ถึงแม้ปัจจุบัน จะมีอัตราการมีลูกต่ำ แต่จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท รวมไปถึง การให้หยุด 6 เดือน มันเหมือน “นายจ้าง” ถูกรังแก...

เมื่อถามว่า การให้สวัสดิการลักษณะนี้ จะส่งผลต่อการจ้างงาน “ผู้หญิง” น้อยหรือไม่ แหล่งข่าวคนเดิม มองว่า ไม่ถึงขั้นนั้น เพราะงานบางประเภท ก็เหมาะกับแรงงานหญิง และเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประเด็นสำคัญ เท่ากับการขึ้นค่าแรง 450 บาท 

การให้สวัสดิการหญิง 6 เดือน ในมุมผู้ประกอบการ อาจจะยังไม่มีปัญหาเท่ากับ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ถ้าสองอย่างนี้รวมกัน นายจ้างจะเหมือนถูกรังแก ยิ่งต้องจ่ายล่วงหน้าทีเดียวหลายเดือน นี่ก็ยิ่งต้องคิดหนักเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่รวมสิทธิของผู้ชาย ที่จะต้องอนุญาตให้ลาไปดูลูก หากเป็นอย่างนั้น ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะสภาพความเป็นจริง ก็ต้อง 2 มุม เพราะหากนายจ้างไม่ไหว เขาก็เลิก

สิ่งที่อยากจะสื่อ คือ ตอนนี้ไม่อยากให้เร่งเร้ามากจนเกินไป ทั้งเรื่องค่าแรง และการเพิ่มสิทธิต่างๆ เพราะ SME จำนวนมาก เพิ่งฟื้นไข้จากโควิด แต่มาโดนชกซ้ำเข้าไปอีก 

หากขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาท จริง คนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด คือ แรงงานต่างด้าว เพราะเขาได้ปรับฐานตรงนี้ ส่วนแรงงานบางประเภท ที่ได้ค่าแรงเกิน 500 ไปแล้ว ก็อาจจะขยับขึ้นอีก เพราะมันจะเหมือน “ลูกคลื่น” ปัญหาที่จะตามมา นอกจากนี้ ค่าครองชีพทุกอย่างจะขึ้น จากปัจจัยราคาพลังงาน สงครามรัสเซีย-ยูเครน คนที่ทำงาน ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่หากต้องเลี้ยงดู พ่อแม่ลูก คนอื่นๆ ในครอบครัว จะกลายเป็นว่า สภาวะค่าครองชีพขึ้นเท่าตัว แม้ได้เงินที่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม ยกเว้นว่า รัฐบาลบอกว่าจะสามารถควบคุมค่าครองชีพได้ คำถามคือ จะคุมอย่างไร...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ