ส่วยทางหลวง ผู้ประกอบการแฉถึงแพ็กเกจ ที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหมื่นบาทต่อเดือน คาดว่ามีรถบรรทุกกว่า 20% จ่ายส่วยในแต่ละเดือน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มหาศาล ขณะที่ขบวนการทำส่วย มีสติกเกอร์กว่า 50 แบบ ทั่วประเทศ สะท้อนถึงวงจรสีเทาแทรกซึมอยู่ในระบบราชการ

อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า ส่วยทางหลวง มีความรุนแรงมากขึ้นช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเส้นทางอีสาน สระบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี และพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ รถที่จ่ายส่วยเป็นรถพ่วงสิบล้อ สิบแปดล้อ รถเหล่านี้ หากเป็นพื้นที่เมืองจะวิ่งช่วงกลางวัน ถ้าเป็นเขตต่างจังหวัด จะวิ่งช่วงกลางคืน

ราคาส่วยที่จ่ายแบ่งเป็นตามไซส์ โดยไซส์ S จ่ายไม่กี่พันบาท/เดือน ส่วนไซส์ M สามารถวิ่งข้ามจังหวัดได้ จ่าย 4,000-5,000 บาท/เดือน ไซส์ L ราคาตั้งแต่ 10,000-15,000 บาท/เดือน สุดท้ายไซส์ XL 20,000-27,000 บาท/เดือน

ส่วยที่ผู้ประกอบการนิยมใช้อยู่ที่ราคา 8,000-10,000 บาท/เดือน เป็นแพ็กเกจ ที่ผู้ประกอบการหลายคนมองว่าคุ้มค่า แต่สำหรับคนที่บรรทุกตามน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด มองพวกที่จ่ายส่วยเอาเปรียบ เพราะการบรรทุกเกินกว่ากำหนด ทำให้ถนนเสียหาย จนเกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

...

ที่ผ่านมาสหพันธ์ฯ มีรถสมาชิกประมาณ 4 แสนคัน โดยรถที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก มีทั้งหมด 1.5 ล้านคัน คาดว่ามีรถที่จ่ายส่วยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

สติกเกอร์ ที่จ่ายส่วยตอนนี้มีประมาณ 50 แบบ ทั่วประเทศ มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐรับเงินส่วยทำขึ้น โดยให้ลูกน้องนำสติกเกอร์ ออกมาเร่ขาย ส่วนอีกกลุ่มเป็นเจ้าของกิจการ ที่มีเส้นสายสามารถจัดการได้ เมื่อสติกเกอร์เหลือจากการติดรถในกลุ่มก็นำมาเร่ขาย เหมือนกับห้างสรรพสินค้า สามารถเลือกได้ว่าต้องการรูปแบบไหน

“ส่วยทางหลวง เป็นเรื่องที่โหดร้าย เพราะเป็นการทำลายชีวิตคนทางอ้อม เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินทำให้ถนนเสียหาย จึงเป็นอีกสิ่งที่เป็นอันตราย ผู้ประกอบการและผู้จ้างรถเหล่านี้ ควรมีจิตสำนึกรับผิดชอบกับส่วนรวม เพราะถ้าจะแก้ปัญหาให้ถึงต้นตอ ต้องมีการเอาผิดผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างในการบรรทุกน้ำหนักเกิน”

ขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไป เมื่อพบเห็นรถที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ควรมีการถ่ายวิดีโอ แจ้งไปยังสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อให้ทำการตรวจจับลงโทษผู้กระทำผิด ขณะเดียวกัน ตำรวจควรมีระบบการแจ้งเหตุรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินแบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้ส่งรูปรถที่กระทำผิด ที่ตรวจสอบย้อนหลังได้

การออกมาให้ข่าวของผู้การทางหลวง โดยมุ่งเป้าไปที่ต้นเหตุของผู้ประกอบการบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่อีกมุมหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในกฎระเบียบ ไม่แตกแถวไปรับส่วยอย่างที่เป็นอยู่

การเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องส่วยทางหลวงของพรรคก้าวไกล เป็นแนวทางในเบื้องต้น โดยจะมีการยื่นหนังสือเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และควรนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา

“หากยังไม่มีการแก้ไขเรื่องส่วย อย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการที่ทำตัวเป็นคนดี อยู่ภายใต้กฎหมาย จะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไร้ความหมาย และถ้ายังแก้ไม่ได้ คนดีๆ ก็จะกลายเป็นโจรตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นผู้ประกอบการจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ทั้งที่คนทำดี ก็มีเงินจะจ่ายส่วย แต่ไม่อยากทำ เพราะพวกเราหนีวัฏจักรนี้มาตลอด 20-30 ปี ”.