พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 การก้าวสู่เก้าอี้นายกฯ ต้องฝ่าด่าน ส.ว. ที่ส่วนหนึ่งไม่สนับสนุน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุการเมือง แต่มุมมองอดีต 2 ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นว่า เป็นบทบาทบิดเบี้ยว และรับใช้ผู้มีอำนาจ มากกว่าฟังเสียงประชาชน
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ด้วยความที่ ส.ว. ปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ ทำให้จุดยืนมีความแตกต่างจากฝั่งประชาธิปไตย ทั้งที่จริง ส.ว. ควรฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เพราะ 20 กว่าล้านเสียง ออกมาแสดงให้เห็นถึงความต้องการ ผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ แต่ถ้า ส.ว.ยังดึงดัน ไม่เคารพเสียงประชาชน จะกลายเป็นต้นตอก่อปัญหาทางการเมือง ร้ายแรงต่อจากนี้ และฉุดรั้งให้ไทยล้าหลังมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามหลักประชาธิปไตย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ควรมีสิทธิเลือกนายกฯ แต่ถ้าให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ถึงจะสามารถโหวตนายกฯ ได้ เพราะคะแนนเสียงจากประชาชน ย่อมสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน และต้องนำคะแนนมารวมกับ ส.ส.
...
“การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ ถือเป็นรอยต่อสำคัญการเมืองไทย โดยเฉพาะการเลือกนายกฯ ที่ต้องทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าตามหลักประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเป็นแกนหลัก อยากให้ ส.ว. ทุกท่านมีสำนึก ยอมรับว่าเสียงของมหาชน เลือกคุณพิธา เป็นนายกฯ การที่ ส.ว.ไปฝืน มีแต่จะทำให้บทบาทของตัวเองแย่ลง”
ส.ว. ต้องไม่ลืมว่า เงินเดือนพวกคุณ 2-3 แสนบาท/เดือน เป็นเงินของประชาชน แล้วทำไมไม่ทำตามเจตนารมณ์ ของประชาชนที่จ่ายเงินเดือนให้พวกคุณ จึงอยากวิงวอนให้ ส.ว. ปฏิบัติตนเอง ให้เป็นไปตามระบบรัฐสภา ที่เดินไปข้างหน้าอย่างเป็นประชาธิปไตย และได้รับการยอมรับจากประชาชน โดยไม่สนใจถึงอำนาจส่วนตัว
เตือน ส.ว. กลายเป็นผู้จุดไฟความรุนแรง
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อุบลราชธานี กล่าวกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ส.ว. ชุดนี้ควรสำนึกว่าตัวเองถูกเลือกมาตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรไปรับใช้ผู้มีอำนาจ ไม่อย่างนั้นบทบาทจะไม่ต่างกับ ส.ส. ที่ได้เข้าสภามาจากการสนับสนุนของนายทุน ทั้งที่จริง ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ ส.ว. 250 คน ที่ดำรงตำแหน่งตอนนี้มาจากการคัดเลือกของผู้มีอำนาจ
สิ่งที่ ส.ว.ชุดนี้สรรหาข้ออ้าง เพื่อไม่โหวตให้คุณพิธา เป็นนายกฯ เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะสิ่งสำคัญจะต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ การเลือกตั้งครั้งนี้ ชัดเจนว่าเสียงของประชาชนให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่มาเป็นอันดับ 1
“ถ้า ส.ว. เป็นผู้มีปัญญาและทรงคุณวุฒิ จะต้องมีหน้าที่ตอบสนองกับประชาชนตามหลักประชาธิปไตย ข้อแก้ตัวต่างๆ ที่พยายามยกมา มันหลอกสังคมไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขารู้ว่า ส.ว.บางคนกำลังรับใช้ใคร แม้พูดให้ดูสวยหรู แต่เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ”
...
หากยังปลุกความขัดแย้งไปสู่การเผชิญหน้ากัน ส.ว.250 คน จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าอยู่บนเบื้องหลังความรุนแรงทางการเมือง อยากเตือนผู้ที่มีอำนาจ ที่กำลังใช้กลวิธีแทรกแซงแบบเก่าว่า คุณจะกลายเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่ถูกสาปแช่ง แทนที่ทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่สิ่งดีขึ้น แต่กลายเป็นตัวถ่วง จนทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองแบบเก่าได้ สิ่งนี้จะทำให้ประชาชนทนไม่ได้
บทบาทของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ โดยมีการกำหนดว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่การแต่งตั้งหรือสรรหา ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นที่มาของ ส.ว.ชุดนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ตรงตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ส.ว.ต้องตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร และต้องมีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย
“สังคมต้องพยายามดึงรั้ง ให้ ส.ว. ทั้ง 250 คน เข้ามาอยู่ในโลกของความเป็นจริง โดยต้องถามพวกเขาว่าอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง สิ่งนี้ประชาชนต้องออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ ส.ว. ยอมรับมติส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นหลัก ไม่อย่างนั้นสังคมไทย จะไม่สามารถก้าวข้ามกับดักความรุนแรงไปได้”.