ราคาทุเรียนไทยปีนี้ เฉลี่ยสูงกว่าปีก่อน เผยครึ่งทางปีนี้ส่งออกจีนทะลุ 5 หมื่นล้านแล้ว แต่...ไทยกำลังเจอคู่แข่งที่น่ากลัว ที่อาจสั่นคลอนบัลลังก์แชมป์

หากพูดถึง “ทุเรียน” แล้ว แน่นอนว่า “ตลาดใหญ่” ที่สุด ก็คือ “ประเทศจีน”

เวลานี้ หากใครได้ตามข่าวก็จะทราบว่า เริ่มมีหลายประเทศ หันมาส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน เหมือนประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะ เวียดนาม ที่ปีนี้ส่งออกโตเกือบ 300% โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ อัตราส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังจีน เติบโตเร็วสุด เพราะเพิ่มขึ้นถึง 291% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 56.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,934 ล้านบาท (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 34 บาท)

ที่สำคัญ นอกจาก “เวียดนาม” แล้ว ยังมีฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ ที่กำลังมองไปที่จีน สาเหตุเพราะที่ผ่านมา ประเทศไทย ทำเงินจาก “ทุเรียน” ส่งไปจีนปีละกว่าแสนล้านบาท เรียกว่า นอกจากจะเป็น “ราชาแห่งผลไม้” แล้ว ยังนั่งบัลลังก์การส่งออกด้วย แต่...ในอนาคตก็ไม่แน่ว่าจะรักษาแชมป์ได้หรือไม่  

...

เกษตรกรยิ้ม ค่าเฉลี่ยราคาทุเรียนไทย สูงกว่าปีก่อน  

นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด แห่งประเทศไทย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ราคาทุเรียนในปีนี้ถือว่า “แฮปปี้” กันมากแล้ว เพราะราคาทุเรียนในช่วงเดือนเมษายน ราคา 120-140 บาท ถือว่าดีมากแล้ว ในปีก่อน ราคาที่หน้าล้ง อยู่ที่ 80-90 บาท/กิโลกรัม พอมาปีนี้ ทะลุ 100 บาท ตลอด เฉลี่ยอยู่ที่ 130 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูง และหากเป็นทุเรียนในพื้นที่จันทบุรี ราคา เฉลี่ยมากกว่า 150 บาท/กิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก ส่วนปัญหาที่เราเจอ มีอยู่เรื่องเดียว คือ การเจอภัยธรรมชาติแล้วผลผลิตเสียหาย...

เวียดนาม น่ากลัว เพราะรัฐบาลเขาเก่งกว่า?

เมื่อถามว่า เวลานี้ประเทศจีนเริ่มปลูกทุเรียนได้แล้วหนักใจหรือไม่ ตัวแทนเกษตรกรทุเรียน ตอบว่า ไม่หนักใจ เพราะพื้นที่ที่เขาปลูก คือ “เกาะไหหลำ” นั้น มีพื้นที่ไม่มาก และยังมีปัญหาภัยธรรมชาติ เท่าที่ได้คุยกับคนจีนและไปศึกษาข้อมูลกับคนจีน ประเมินแล้วไม่น่ากลัว

ประเทศที่น่ากลัว ที่จะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของไทย คือ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา หรือลาว ซึ่ง 2 ประเทศหลังทราบว่า ทางจีนได้มาลงทุนไว้

“ตลาดที่น่ากลัวที่สุด คือ เวียดนามกับมาเลเซีย สาเหตุที่เวียดนาม เขาน่ากลัวเพราะว่า “รัฐบาล” ของเขาเก่งกว่าเรา เราต้องยอมรับความจริงว่า หากถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวผลงาน รัฐมนตรีของเราก็มาถ่ายรูป หรือจะมาหาเสียงก็จะเข้ามาหา...”

แต่...เวลามีปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดน ไม่มีใครมาแก้ปัญหาให้เลย โดยเฉพาะในพื้นที่จันทบุรี หรือยกตัวอย่างอีกกรณีคือ ช่วงที่ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และมีราคาแพง เคยเข้ามาแก้ปัญหาหรือไม่ สิ่งนี้คือการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพอถึงเวลาผู้ประกอบการ ต้องแก้ปัญหาและชนกับปัญหากันเอง

เมื่อถามว่า เราประเมินสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกอย่างไร กับประเทศคู่แข่ง เขาจะน่ากลัวภายในกี่ปี นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า “มันคือเรื่องปกติของการแข่งขัน หากนึกไม่ออกก็ลองดู “ข้าวหอมมะลิ” เมื่อก่อนเราครองแชมป์มาตลอด วันหนึ่งเราก็ถูกแซง”

“การขายทุเรียนก็เช่นกัน คนที่เป็นผู้นำประเทศ ผู้นำที่ดูแลต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ทุเรียนด้อยคุณภาพ” มันมีที่มาอย่างไร มาจากไหน มาตรฐาน GAP หรือ GMP ต้องไม่มีปัญหา ใครผ่าน ใครไม่ผ่าน ต้องชัดเจน ซึ่งที่ผ่าน ได้มีการปล่อยให้ดำเนินการไปตามกลไก แต่...เวลามีปัญหา ก็มาเล่นงานแต่ผู้ประกอบการ พ่อค้า ฮั้วราคากัน จะออกกฎหมายจับกุม” นายภาณุวัชร์ กล่าว

ทุเรียนปลูกในจีน
ทุเรียนปลูกในจีน

...

ทุเรียนอ่อน สวมสิทธิ์มาตรฐาน GMP รัฐต้องเร่งแก้ไข

สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การจัดการปัญหา “ทุเรียนอ่อน” คำถามคือ เวลานี้มีการออกกฎหมายมาแก้ปัญหาจริงจังหรือยัง ใครที่สวมสิทธิ์ตรวจมาตรฐาน GMP มีการจับกุมจริงจังหรือยัง ที่ผ่านมา มีแต่คนมา “ด่า” คนจีน ที่เข้ามาลงทุน ทำล้ง คำถามคือ ถ้าไม่มีพวกเขา มาช่วยทำระบบระบายสินค้าให้กับเรา แล้วเราจะทำอย่างไร

“ผมบอกตรงนี้เลยนะว่า มีคนไทยเพียง 5% ที่ส่งออกทุเรียนเอง นอกจากนั้น คนจีนทั้งหมด แต่...เราต้องบริหารจัดการอย่างไรต่างหาก ไม่ให้คนจีนถึงขั้นเข้ามาแพ็กสินค้าเอง หรือต้องให้คนไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วยกัน อย่าปล่อยให้เขาเข้ามาบริหารจัดการเอง ถ้าทำอย่างนั้นก็จบ สิ่งที่ต้องคิด คือ เราต้องบริหารจัดการอย่างไร การที่มีล้งที่มีเงินลงทุนมาจากจีน ส่วนตัวมองว่าเป็น “ผลดี” มากกว่า “ผลเสีย” เพราะเขามาช่วยระบายสินค้า

หากวันหนึ่งเขาไม่มา ไม่ซื้อทุเรียนไทย หรือแบนทุเรียนไทย ถามว่า เกษตรกรไทย จะเป็นอย่างไร

 

ส่งออกทุเรียนครึ่งทาง โกยแล้วมากกว่า 5 หมื่นล้าน

...

เมื่อถามว่า เวลานี้ยอดส่งออกทุเรียนไปจีน มีมูลค่าแค่ไหน นายภาณุวัชร์ กล่าวว่า ตอนนี้มาครึ่งทางแล้ว รายได้ประมาณ 50,000 กว่าล้าน หากได้แสนล้านตามเป้าเมื่อไหร่ ผู้ว่าฯ บอกจะเลี้ยงเลย

“สิ่งที่อยากจะฝากคือ หากเราไม่ทำลายกันเอง ในเรื่องของ “คุณภาพทุเรียน” ก็เชื่อว่าไม่มีปัญหา โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ต้องเป็นต้นแบบที่ดี ข้อที่เป็นห่วง บางครั้งเกษตรกรได้ขายทุเรียนทุกลูก บางครั้งเป็นโรคราดำ ก็ขาย ซึ่งหากทางการจีน เขาเจอเชื้อโรค เชื้อแมลง ระวังจีนก็จะแบนเรา”

เท่าที่รู้คือ เวลานี้ มีล้ง ประมาณ 10-20% ที่เป็นทั้งของคนจีนและคนไทย มีการบริหารจัดการไม่ได้เรื่อง ทำอะไรมั่วๆ เรื่องนี้ รัฐบาลต้องเร่งจัดการ ซึ่งเป็นพวก “เงินทุนสีเทา” เข้ามาแอบแฝง ส่วนล้งที่เป็นมืออาชีพอีก 80% เขาต้องรักษาหน้าตา และแบรนด์ของเขา

หวัง อนาคตทุเรียนไทยยังสดใส ฝากฝัง รัฐบาลใหม่ หนุนใช้เทคโนโลยี

สิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาลชุดใหม่ คือ รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งทำตลาดมากขึ้น โดยการขยายตลาดการส่งออก นอกจากจีน ก็อยากจะให้ไปถึงตลาดอินเดีย หากประเทศไทย ครองตลาดทุเรียนในอินเดียได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก

“อนาคตทุเรียนไทยส่วนตัวมองว่าแล้วน่าจะยังสดใสอยู่ ซึ่งราคาขั้นต่ำที่เกษตรกรไทย หวังคือ ต้องไม่ต่ำกว่า 80 บาท/กิโลกรัม แต่เป็นไปได้ก็อยากให้ได้สัก 100 บาทขึ้นไป นอกจากเรื่องราคาแล้ว ก็หวังว่าจะมีการส่งเสริมเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการวัดความแก่ของทุเรียน และค่าต่างๆ ของทุเรียน เชื่อว่า หากมีใครทำได้ รวยแน่นอน ซึ่งตอนนี้มีนักวิจัยไทยกำลังทำอยู่ แต่ยังไม่สำเร็จ”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...