ฝุ่น PM 2.5 กำลังวิกฤติหนักในภาคเหนือ หลายพื้นที่ในจ.เชียงใหม่และเชียงราย ต้องเผชิญฝุ่นเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อนำงบประมาณออกมาช่วยเหลือในห้วงประชาชนกำลังจะตายผ่อนส่ง จากการสูดอากาศปนเปื้อนสารก่อมะเร็งปอด
คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 จากการป่วยมะเร็งปอด ส่วนหนึ่งมาจากการสูดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน และการตรวจคัดกรองโรคในระยะแรกทำได้ยาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นในระยะที่ลุกลาม จึงมีอัตราเสียชีวิตสูง และงานวิจัยต่างประเทศประมาณว่าจะมีคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 กว่า 70,000 คน สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม
กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าช่วง 2 เดือนครึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–19 มี.ค. 2566 มีผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 จำนวน 1,730,976 คน และเพียงสัปดาห์เดียวพุ่งสูงถึง 228,870 คน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ผิวหนังอักเสบ และตาอักเสบ
...
ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ถูกตั้งคำถามว่าทำไมผู้เกี่ยวข้องไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ และโยนกันไปว่าอ้างถึงคำนิยามภัยจากฝุ่น ไม่ชัดเจนตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ทั้งที่ฝุ่น PM 2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับภัยอื่นๆ ไม่ว่าจากภัยธรรมชาติ จากอุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน แต่ท้ายสุดแล้วผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป
จี้หาความจริงโรงงานรอบๆ ต้นตอฝุ่น PM 2.5 หรือไม่
ในเรื่องนี้ทำให้ “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่าไม่มีเงื่อนไขอะไรที่ทำไม่ได้ ในการช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อน และการไม่กล้าประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ของจังหวัดและกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่เมื่อสถานการณ์ฝุ่นรุนแรงมากขนาดนี้ ทางภาครัฐควรเร่งระดมความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องหน้ากากป้องกัน และเครื่องฟอกอากาศ
“ทำให้รู้สึกว่าความช่วยเหลือจากภาครัฐตอนนี้น้อยมาก ในเรื่องปฏิบัติการช่วยเหลือคน หากประกาศภัยพิบัติ ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็จะแจกหน้ากากให้กับประชาชน แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้ไม่มีการประกาศภัยพิบัติ ก็ควรต้องแจกหน้ากากให้กับผู้ได้รับผลกระทบ รู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก และสาเหตุหลักมาจากการเผาพืชไร่จริงหรือไม่ ทำให้เกิดไฟป่าตามมา หรือผสมกันเพราะมีโรงงานไฟฟ้า โรงงานหลอมเหล็กต่างๆ ตั้งอยู่แวดล้อมในพื้นที่ด้วยหรือไม่ จนกลายเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น”
ที่ผ่านมาไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้เห็นภาพรวมที่เกิดขึ้นว่าจริงๆ แล้วเกิดจากสาเหตุใดเป็นหลัก ไม่ใช่แค่เพียงหาจุดความร้อน และไม่ชัดเจนว่าจุดความร้อนมาจากแหล่งกำเนิดใด มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่อาจมาจากโรงหลอม และโรงไฟฟ้าต่างๆ จากฝั่งเมียนมา และสปป.ลาว ซึ่งเป็นการแสวงหาข้อมูลที่น้อยเกินไป หรือถ้าเป็นหมอกควันมาจากพรมแดนใกล้ๆ ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะกันไปก่อน และต้องหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน หากมีการหารือกันจริงก็ต้องมีการประกาศไปสู่สาธารณะว่ามีมาตรการออกมาอย่างไร รวมถึงต้องมีผลการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน
หน้าที่ผู้ว่าฯ ต้องช่วยคน มีความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ
จากการตั้งข้อสังเกตแหล่งกำเนิดฝุ่นถ้ามาจากการเผาพืชไร่ต่อเนื่องมาหลายวัน อาจมีปัจจัยทางสภาพอากาศ และจากโรงงานต่างๆ หรือไม่ และการประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติ จริงๆ แล้วทางผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถทำได้ เช่น ให้หยุดงานกี่วัน ระดมความช่วยเหลือประชาชน ขอความร่วมมือจากเอกชนที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น ซึ่งอยู่ที่วิจารณญาณของผู้ว่าราชการจังหวัดในการตัดสินใจ
...
แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมีความเสี่ยงสูงจนเลยจุดสีแดงไป ถือว่าอันตรายต่อชีวิต จะต้องรีบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในทันที อาจไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติ แต่อาจประกาศเหตุฉุกเฉิน จะต้องแสดงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. อย่างกรณี จ.สมุทรปราการ เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะอย่างรุนแรง จนทางผู้ว่าจังหวัดสมุทรปราการ ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
“เรื่องชีวิตของคนในพื้นที่ ท้ายสุดแล้วผู้ว่าฯ ต้องสามารถดำเนินการในการรับผิดชอบช่วยเหลือประชาชน จากภาวะเสี่ยงภัยจากมลพิษทางอากาศ โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรเลยที่จะทำไม่ได้ในการช่วยเหลือคนในพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากฝุ่นที่รุนแรงหนัก”
ประกาศพื้นที่ประสบภัยฝุ่นพิษ หาแนวทางแก้ไขด่วน
...
ขณะที่ "สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ชี้ว่า ฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ สูงตั้งแต่ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน ต้องถือเป็นภัยพิบัติหรือสาธารณภัยตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งทางจังหวัดหรือท้องถิ่นสามารถออกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย เพื่อนำงบประมาณออกมาช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตายผ่อนส่งแบบนี้
แนวทางการป้องกันสุขภาพของประชาชนต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน ในการอพยพเด็กเล็ก คนป่วย คนชรา และคนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ไปอยู่ในอาคารที่จัดทำเป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งเป็นห้องติดแอร์ที่มีการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ด้วยแผ่นกรองอากาศชนิด HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ทำมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาสถักทอจนมีขนาดที่เล็กมากๆ ในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ได้เป็นอย่างดี และทางจังหวัดต้องแจกหน้ากากกรองฝุ่นชนิด N95 ให้ประชาชนใช้ทุกคน พร้อมกับสั่งให้ทุกคน Work from home และลดการเผาในที่โล่งทุกแห่ง เพื่อลดฝุ่นควันในพื้นที่
นอกจากนี้ต้องประกาศให้ประชาชนทราบและระดมกำลังทุกภาคส่วน ออกไปจับผู้ที่แอบเผานำมาลงโทษอย่างจริงจัง เร่งดับไฟป่าและไฟที่เกิดจากการเผาอื่นๆ ในพื้นที่ และแจ้งไปยังเลขาฯ สำนักงานอาเซียน ขอความร่วมมือให้ประเทศเพื่อนบ้านลดการเผาลง ส่วนแนวทางในระยะยาวกำหนดระยะเวลาห้ามเผาให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่เดือนก.พ.ถึงเดือนเม.ย. และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีการไถกลบตอซังฟางข้าว หรือรับซื้อไปใช้โรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป
การกระจายงบประมาณแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องให้ อปท.ทุกแห่ง และมอบอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้ลักลอบเผาในพื้นที่ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณดับไฟในพื้นที่ ส่วนรัฐบาลต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน จะไม่รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย มาจากการเผาตอซังและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และรัฐบาลต้องบังคับให้ภาคเอกชนไทยทำตามนโยบายดังกล่าวด้วย.
...