#ลัทธิส่าย แฮชแท็ก ที่มีการพูดถึงในช่วง 1-2 วันนี้ กับแนวการสอนแปลก ของ “ติวเตอร์” คนหนึ่ง ที่พ่อแม่ส่งเสียลูกไปเรียน แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ “ติวเตอร์” รายนี้ เลือกใช้คำพูด “หยาบคาย” ในการสอน โดยบอกเหตุผลการใช้คำพูดหยาบนั้นว่า คือการนำโลกแห่งความจริงภายนอกมาไว้ในห้องเรียน และสิ่งที่สอนออกมา คล้ายกับการแนะนำการใช้ชีวิตในอนาคต เรียกว่า เหมือน “ครูแนะแนว”

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ “หมอเดว” หรือ นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ซึ่งหมอเดวได้ดูคลิปบางส่วนแล้ว โดยคำแรกที่หมอเดวพูดคือ “ผมประหลาดใจมาก ทำไมผู้ปกครองส่งลูกไปเรียน...”

นพ.สุริยเดว กล่าวว่า เท่าที่ดูคลิปถือว่ามีการสอนที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่อยากจะบอก ฝากไปยัง ครูติวเตอร์ ทุกคนว่า อย่าใช้ภาษาที่หยาบคายเลย วิธีการอาจจะเป็นการตลาด แต่...นั่นไม่ใช่คำตอบ เพราะการหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งขึ้นมาให้มาเป็นต้นแบบที่ดี เวลาจะสร้างพลังแห่งศรัทธา อาชีพ จำเป็นต้องใช้ “พลังบวก” ไม่ใช่การสร้างด้วยการด่าทอ ประเด็นที่สอง คือ คนที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องเคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่าไปเหยียบย่ำใคร เด็กต่อให้เขาอายุเท่าไร สถานะใด เพศสภาพอย่างไร คนเป็นครูต้องเป็นต้นแบบที่ดี

...

ระบบการศึกษาไทย ไม่ควรมีสถาบัน “ติวเตอร์”

ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่า สถาบันกวดวิชาทั้งหมด ไม่ควรจะมี เนื่องจากในระบบการศึกษาในวันข้างหน้า คือ ต้องยกระดับคุณภาพพลเมือง ไม่ใช้ระบบ “แพ้คัดออก” อีกทั้งปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง ฉะนั้น ที่นั่งในมหาวิทยาลัย น่าจะไม่สมดุลกันแล้ว แปลว่า ต่อไปในอนาคต เด็กจะมีที่เรียนทุกคน ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณภาพในระบบการเรียนการสอนในระดับปกติ ทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ดังนั้น หากมีการพิจารณาดีๆ เราจะพบว่า “สถาบันกวดวิชา” แทบไม่มีความจำเป็น...

“ภาษา” ในการสอนเด็ก สำคัญแค่ไหน นพ.สุริยเดว ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อเราตั้งคำถามว่า เวลาเด็กดูสื่อที่มีความรุนแรงจะเป็นอย่างไร หรือมีการบูลลี่กัน แล้วเป็นอย่างไร สรุปคือ มันเป็น “ต้นแบบ” ที่ไม่ดี

ผลที่ออกมา อาจจะได้ 2 รูปแบบ คือ 1. เด็กรู้สึกไม่ดี 2. เด็กเห็นแล้วลอกเลียนแบบ สิ่งที่เขาทำ หากประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นการฝังค่านิยมใหม่ที่ทำให้เห็นว่า มีแนวการสอน “เฉพาะตัว” โดยไม่สนใจวัฒนธรรมและภาษา

สอนด้วยคำด่า “สมอง” อาจไม่พัฒนา

สำหรับเรื่องที่ “หมอเดว” ขีดเส้นใต้ให้ความสำคัญคือ เวลาเรียน กายต้องพร้อม ใจเปิด

กายพร้อม หมายถึง การได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอนหลับเพียงพอ ได้รับอาหารที่ดี

ส่วนใจเปิด คือ หากจะทำให้สมองเกิดการเรียนรู้เต็มที่ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Limbic System ลิมบิก สมองส่วนอารมณ์ ซึ่งหากใช้วิธีการ ด่า ใช้อารมณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม

“วิธีการเหล่านี้จะทำให้ 'ลิมบิก' ปิด สมองจะไม่เกิดการเรียนรู้ แต่มันจะเป็นการเรียนรู้แบบสัญชาตญาณ สิ่งที่ทำได้ อาจจะทำได้แค่การท่องจำซ้ำๆ”

แต่การที่ “ลิมบิก” จะเปิดได้ หรือ Brain Executive Function เพิ่มขึ้นอยู่กับระบบ “สมาธิ” การวางสติ สมาธิ ไม่ใช่แค่การนั่งวิปัสสนา แต่ยังมีวิธีอื่นๆ เช่น การใช้เพลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโทนเสียงของเพลงด้วย จะมาใช้เพลงร็อก เพลงป๊อป ก็ไม่ได้ แต่เขาใช้เพลงคลาสสิก เช่น บีโทเฟน โมสาร์ท ที่มีความนุ่มนวล มีเสียงนุ่มนวล เพลงเหล่านี้จะช่วยให้สามารถตั้งสมาธิได้ดี เพราะคลื่นไฟฟ้าในสมอง จะมีประสิทธิภาพ

“เวลาหน่วยความจำจะเพิ่มขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามีสติและสมาธิ เหมือนมีการจัดแฟ้มข้อมูลให้เป็นระเบียบในสมอง ทำให้สมองมีพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น ฉะนั้น การด่าทอ ประชดประชัน หรือดูถูกดูแคลน จะทำให้ระบบ Brain Executive Function ลดลง ไม่พูดถึงวัฒนธรรม และค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง” นพ.สุริยเดว กล่าวและว่า

การใช้คำหยาบในการสอนกับเด็กวัยมัธยม มีผลกับเด็กแค่ไหน ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า จะมีผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “ทุนชีวิต” ของเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนมีทุนชีวิตต่างกัน

...

“ทุนชีวิต” หมายถึง ระบบนิเวศของตัวเด็ก เช่น หากเด็กมีบ้านที่อบอุ่น โรงเรียนที่ดีมีความสุข เพื่อนดี แม้สังคมรอบบ้านจะไม่ดีบ้าง แต่เมื่อมาเจอการเรียนแบบนี้ ก็จะไม่มีผลอะไร

ตรงข้าม หากเด็กมี “ทุนชีวิตต่ำ” ครอบครัวมีปัญหาอยู่แล้ว และยิ่งมาเจอแบบนี้ จะกลายเป็นการส่งเสริมให้แย่ลง

“เด็กที่ถูกด่า ถูกว่าที่บ้าน โรงเรียน มาเรียนพิเศษ ก็มาเจออีก มันจะนำมาสู่ความตึงเครียด ในขณะที่คนที่พูด คนที่ด่าเอง ก็เชื่อว่าไม่มีสารเอ็นโดร์ฟิน (สารแห่งความสุข) หลั่ง เชื่อว่า ทั้งคนฟังและคนพูด จะมีสาร “คอร์ติซอล” สารแห่งความตึงเครียด

หมอเดว กล่าวว่า การยกระดับคุณภาพการศึกษา ยกระดับพลเมือง ไม่ได้ใช้ “พลังลบ” ในการสร้างศรัทธาต่อกัน แสดงว่า “ศรัทธาแห่งวิชาชีพ” ก็เสียไปด้วย เป็นการติวเพื่อไปเรียนเพื่อแพ้คัดออก

ความสำคัญของ “วิชาแนะแนว” กับนักเรียนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ความสำคัญของ “ครูแนะแนว” คือ ใจต้องเป็นกลาง และดูจุดแข็งของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก เพื่อให้เด็กค้นพบจุดบวกของเขา

...

ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งที่เป็นคนไข้ เขาได้ลาออกจากระบบการศึกษาทั้งหมด แล้วมาเรียนอยู่ที่บ้าน เขาพูดกับหมอว่า... “หมอจะเอาอะไรกับผมอีก ชีวิตนี้ผมถูกผู้ใหญ่กระทำมามาก”

จากนั้น เด็กคนนั้นก็พูดว่า “หมออย่าย่ำจุดอ่อนของผม จนแกนชีวิตผมเสีย...”

เด็กพูดแบบนี้ จนผมต้องทิ้งงานอื่นทั้งหมด เพื่อมานั่งคุยกับเขา

ฉะนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนต้องตระหนักกับคำพูดแบบนี้ ผู้ใหญ่ทุกคนมัก “ย่ำจุดอ่อน” แต่ไม่ค้นหา “จุดแข็ง”

ฉะนั้น ครูฝ่ายแนะแนว ต้องขยายจุดแข็งตรงนี้ คนเป็นพ่อแม่ ต้องเปิดใจ ยอมรับ และแก้ไขด้วยตนเอง เฉกเช่นคนเป็นครู ไม่ใช่แค่ครูแนะแนว ยิ่งขึ้นชื่อว่าเป็น “ครูติวเตอร์” ต้องตระหนัก และเป็นต้นแบบที่ดี เมื่อได้รับความนิยม ต้องกระตุกต่อมจิตสำนึกในการคืนกำไรให้กับสังคม

ครูแนะแนว กับระบบการศึกษาไทย

หมอเดว สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการศึกษาไทยว่า ที่ผ่านมา โครงสร้างของครูแนะแนว ไม่ถูกมุ่งเน้นจากผู้บริหารมากนัก นอกจาก ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังมีปัญหาเรื่อง “คุณภาพของครู” ด้วย

คุณภาพของครูแนะแนว ขึ้นอยู่กับโรงเรียนจริงๆ บางโรงเรียนดีมาก แต่บางโรงเรียนมีปัญหามากจริงๆ คือ ไม่รู้จักเด็กรายบุคคล และไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้บรรลุผลของเด็กแต่ละคนบนจุดแข็งของเด็กได้เลย

นี่คือ จุดอ่อน ของ “ระบบครูแนะแนว”

การเป็นครูแนะแนว ไม่ใช่แค่แนะแนวอาชีพ แต่คุณต้องแนะแนวการใช้ชีวิตด้วย หลายครั้งครูเองแค่แนะนำ แค่ว่าจะเรียนต่อสายไหน แต่แค่นี้ไม่พอ “ครูแนะแนว” คล้ายนักจิตวิทยา เพียงแต่เติมงานด้านการศึกษา เรียกว่า เป็นครู ที่มีความรอบรู้ในระบบการศึกษา และมีความเป็นนักจิตวิทยาด้วย เพราะต้องสังเกตการใช้ชีวิต สามารถแนะนำการศึกษา และการดำเนินชีวิตได้

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ