การเสียชีวิตของ ฌาน อารีย์กุล อดีตนักกีฬาโบว์ลิ่งเยาวชนทีมชาติ น้องชายของ เฌอปราง BNK48 พลัดตกจากที่สูงภายในคอนโดมิเนียม เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เสียชีวิต ทางญาติไม่สงสัยสาเหตุการเสียชีวิต ภายหลังดูกล้องวงจรปิดช่วงเวลาเกิดเหตุ โดยแพทย์ออกมาให้ข้อมูลถึงการเสียชีวิตของคนไทย ที่พลัดตกจากตึกสูง เกิดเหตุลักษณะนี้มากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน ขณะเดียวกันต้นเหตุภายในจิตใจ อาการป่วยเรื้อรัง เป็นอีกต้นเหตุสำคัญ ที่สังคมยังมองข้าม

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การเสียชีวิตจากการพลัดตกจากที่สูงเกิดขึ้นมากในกลุ่มคนวัยทำงาน ส่วนหนึ่งมาจากความกดดันของสังคม และปัญหาความล้มเหลวทางด้านการเงิน ขณะเดียวกันมีปัจจัยจากโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า หรืออาการป่วยทางจิตเวช

ต้นเหตุหลักการเสียชีวิต เกิดจาก 2 ปัจจัยคือ 1.การพลัดตกจากที่สูง โดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ลืมกุญแจไว้ในห้อง แล้วจะปีนเพื่อเข้าไปที่ระเบียงห้อง ขณะที่บางรายเมาสุรา เลยเกิดความคึกคะนอง 2.เกิดจากความตั้งใจ ฆ่าตัวตาย มาจากปมเหตุส่วนตัว ที่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน

...

การตกตึกเสียชีวิต สำหรับคดีที่มีปริศนา การพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ ต้องพยายามหาต้นเหตุการเสียชีวิตของผู้ตาย โดยต้องหาจุดสุดท้ายที่หล่นมาจากตึก เพื่อคลี่คลายข้อสงสัย แต่หลายกรณีกลายเป็นปริศนา เพราะหาจุดสุดท้ายที่หล่นลงมาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้เสียชีวิตไม่ได้พักอาศัยอยู่ในตึกนั้น โดยไม่มีพยานให้ปากคำในที่เกิดเหตุ

“กรณีเสียชีวิต โดยเจตนากระโดดลงมาจากตึก ร่างของผู้ตายมักไม่กระแทกกับสิ่งกีดขวาง ที่ยื่นออกมาจากตัวตึก แต่ถ้าเป็นการพลัดตกลงมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ร่างมักกระแทกกับสิ่งกีดขวางต่างๆ ดังนั้นการคลี่คลายปริศนาของผู้เสียชีวิตในคดีเหล่านี้ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และการให้ปากคำของพยาน จึงเป็นเรื่องสำคัญ มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก”

สำหรับผู้เสียชีวิตที่ฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มีมูลเหตุจูงใจ ดังนี้

  • ป่วยด้านร่างกาย มีโรคร้ายแรงเรื้อรัง ไม่อาจรักษาหายขาดได้ ทำให้เป็นปมในจิตใจ จนนำมาสู่การฆ่าตัวตาย

  • ป่วยด้านจิตใจ มีภาวะซึมเศร้า เชื่อมโยงมากับความผิดหวัง ด้านชีวิต ความรัก งาน สภาวะเศรษฐกิจ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจมีผลมาจากยากล่อมประสาท ในปริมาณสูงกว่าปกติ หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาเสพติด ทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งตามมา

    ต้นเหตุการฆ่าตัวตาย และแนวทางป้องกัน  


    สถิติคนที่ฆ่าตัวตาย จากการกระโดดตึก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้สถานะทางการเงินล้มเหลว โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 25-45 ปี

    การช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย คนรอบข้างต้องหมั่นสังเกต หากมีญาติในครอบครัวที่ป่วยทางด้านร่างกาย รุนแรง ต้องมีคนคอยช่วยเหลือดูแล ให้กำลังใจ และฟื้นฟูจิตใจในสภาวะที่เผชิญโรคร้าย เพราะที่ผ่านมาคนที่ฆ่าตัวตายบางส่วน ไม่มีผู้ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

    สำหรับคนที่มีภาวะทางจิต ญาติต้องนำคนไข้เข้าสู่กระบวนการรักษาต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้อาการของคนไข้ทุเลาลง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า คนไข้ที่รับการรักษาต่อเนื่อง มีโอกาสน้อยมากที่จะมีความคิดฆ่าตัวตาย
    ส่วนกลุ่มคนที่พลัดตกตึก ด้วยอุบัติเหตุ ควรมีการป้องกัน และเตือนไม่ให้เกิดความคึกคะนอง จนก่อให้เกิดเหตุร้ายมาแล้วหลายราย และด้วยสภาวะสังคมในเมือง ที่หลายคนอาศัยอยู่ในตึกสูง การสังเกต และช่วยเหลือกันเมื่อเกิดเหตุร้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

    ขณะเดียวกัน ระบบการรักษาความปลอดภัย ในการป้องกันเหตุร้าย ที่จะเกิดขึ้นเป็นอีกส่วนสำคัญ ที่คอนโดต่างๆ ต้องเฝ้าติดตาม สังเกตจุดเสี่ยง ที่จะเกิดเหตุร้าย เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิต เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา.