ทาสแมวทั้งหลายทนไม่ได้กับข่าวแมวเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ถูกทำร้ายฆ่าให้ตายไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ยากที่เจ้าของแมวจะทำใจได้ และยังมีแมวอีกหลายตัวหายไปอย่างไร้ร่องรอยไม่ทราบชะตากรรมจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร จนมามีข่าวล่าสุดหญิงสาวตามหาแมวพันธุ์เปอร์เซีย อายุ 5 เดือน หายไปจากบ้านในพื้นที่ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา

ด้วยความรักและเป็นห่วงเจ้าการ์ฟิลด์ แมวรักน่าเอ็นดู จึงได้เที่ยวตามหา และได้ยินเพื่อนบ้านเล่ากันว่าแมวจรในหมู่บ้านก็หายไปหลายตัวเช่นกัน สงสัยจะถูกนำมาบูชายัญด้วยการมัดขาแล้วจับทุบทุกวันพระโดยหญิงต้องสงสัยรายหนึ่งที่มีพฤติกรรมแปลกๆ สุดท้ายก็มาเจอแมวของตัวเองถูกฆ่าในสภาพถูกสับขา จับยัดใส่ถุงดำทิ้งข้างถังขยะริมถนนในหมู่บ้าน ช่วงค่ำวันที่ 17 ก.พ. นำไปสู่การร้องเรียนไปยังมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ และแจ้งความที่ สภ.ม่วงงาม

เมื่อตำรวจเข้าค้นบ้านหญิงวัย 44 ปี ผู้ต้องสงสัยฆ่าแมว พบว่าบนตู้เสื้อผ้ามีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม พระแม่อุมาเทวี และกุมารทอง ซึ่งเธอยอมรับว่าเคยเป็นร่างทรงพระแม่อุมาเทวี แต่หลังจากแต่งงานกับสามีได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่ได้บูชาและออกมาร่ายรำหน้าบ้านในคืนวันพระ และเป็นคนรักแมวเลี้ยงไว้ในบ้าน มีการเปิดเพลงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะแมวที่เลี้ยงไว้กำลังติดสัตว์ ส่วนแมวที่ตายได้เข้ามาในบ้าน ไม่ได้จงใจฆ่า แต่เป็นอุบัติเหตุขับรถไปเหยียบแมวเท่านั้น

จนมาช่วงเย็นวันที่ 20 ก.พ. หญิงผู้ต้องสงสัยถูกตำรวจนำตัวไปสอบสวน พบว่ามีสารเสพติด ก่อนแจ้งข้อหาเสพยาเสพติด และทารุณกรรมสัตว์ ขณะที่เพจมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ได้โพสต์แจ้งความคืบหน้าเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่าหญิงดังกล่าวรับสารภาพแล้ว อ้างว่าแมวฉี่ใส่พรม จึงกระทืบและจับหัวฟาดกับพื้นจนสิ้นใจ และตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมพบเป็นโรคไซโคพาธ กลุ่มโรคบุคลิกภาพผิดปกติ ญาติขอประกันตัว เตรียมส่งรักษาอย่างเร่งด่วน

...

แม้สถานการณ์การทำร้ายสัตว์ในไทยจะลดลง แต่ไม่ได้หมดสิ้นไป หลัง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 บังคับใช้มากว่า 8 ปี “ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล” ผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้คนโดนกล่าวหาได้รับความเดือดร้อน ถูกสังคมตัดสิน ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงมีอยู่นิดเดียว แต่หากมีข้อเท็จจริงก็ต้องถูกดำเนินคดี และหากไม่จริง ก็ต้องมีการชี้แจงกันไป เพราะสัตว์พูดไม่ได้ เรียกร้องให้กับตัวเองไม่ได้ และการเรียกร้องของคนเพื่อสัตว์ ก็ต้องมีความพอดี อยู่บนข้อเท็จจริง และเจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

อย่างล่าสุดได้รับแจ้งมีลูกสุนัขใน จ.ระยอง โดนยาเบื่อ 4 ตัว ได้แนะนำให้ไปแจ้งความ แต่เมื่อตำรวจลงพื้นที่กลับบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์การตรวจสารเสพติดในซากสุนัข ทำให้คดีไม่คืบหน้า จนเจ้าของลูกสุนัขเกิดความไม่สบายใจ จึงร้องเรียนมายังสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และเมื่อมีการประสานกับทางผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ หรือหากไม่เป็นข่าวดัง ไม่เป็นกระแสออกมาก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐสนใจ

“การดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ ไม่มีต้นทุนอะไร ทำให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และการนำแมวมาบูชายัญ ไม่เคยได้ยินว่าเกิดขึ้นในไทยมาก่อน หากมีก็น้อยมาก ไม่แน่ใจว่ามีข้อเท็จจริงหรือไม่ จะต้องติดตามดู ถ้าหญิงสาวคนนั้นทำจริงกับแมว ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ หรือคนปกติทำก็คงเกิดขึ้นได้ แต่อาจน้อยมาก บางทีคนที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้อาจมีอาการไม่สบาย และบางคนทำสัตว์ ก็อ้างมีปัญหาสุขภาวะทางจิตบ้าง อ้างว่าบ้าป่วยทางจิต เพื่อจะพ้นผิด อาจอ้างได้ แต่ถ้ามีเจตนารับรู้ขณะที่กระทำ ก็ไม่ได้รับการยกเว้น แต่ถ้าไม่รับรู้เลย ถือว่าขาดเจตนา”

ในฐานะที่ทำงานในด้านนี้มาหลายปี พบว่าเรื่องสัตว์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องระหว่างคนกับคน และลากเอาเรื่องสัตว์เข้าไปเกี่ยวข้อง จะต้องดูมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญเจ้าหน้าที่ควรยึดข้อกฎหมายเพื่อรักษาความถูกต้อง หากใครก็ตามมีเจตนาทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานจนเจ็บปวด เจ็บป่วย ถือว่าเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์อยู่แล้วจากผลของการกระทำ แต่ส่วนใหญ่จะอ้างว่าไม่เจตนา ยกเว้นตามมาตรา 20 (6) ฆ่าสัตว์เพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิต หรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน

...

การกระทำกับสัตว์ต้องดูเหตุและผล หรือมีทางเลือกอื่นในการปัดป้องหรือไม่ หากหมา หรือแมวเข้ามาในบ้าน สามารถใช้วิธีการไล่หลายอย่าง โดยไม่ต้องทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ หรือตายก็ได้ ต้องดูที่เจตนาในการกระทำ และดูสภาพทางจิตว่าบ้าจริงๆ หรือไม่ จะต้องไม่รู้สึกสำนึก หรือการอ้างว่าสัตว์ไปทำลายทรัพย์สิน ก็ต้องเลือกที่จะปัดป้องจะดีกว่า ซึ่งจะดูสมเหตุสมผล อย่างบางคนฆ่าแมว จับฟาดกับพื้น ถือว่าท้าทายกฎหมายมาก ในการเลือกที่จะจัดการกับสัตว์ด้วยตัวเอง

“เรื่องสัตว์ก็เป็นปัญหาสังคม บางคนมองว่าสัตว์สร้างความรำคาญ ทำให้มีทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หลัง พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ บังคับใช้ และมาพร้อมกับปัญหาสัตว์จรจัดที่เพิ่มมากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจ และโควิด จนไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ ต้องไปปล่อยในที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่มีความผิด โทษปรับสูงสุด 4 หมื่นบาท หากทำครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 จนมาครั้งที่ 4 โดนปรับสูงสุด แต่ในทางปฏิบัติและทางสังคมก็เอื้อให้กัน และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ไม่ทำกัน และไม่ใช่หน้าที่ตำรวจ”

...

สรุปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงของสังคมไทยว่าเรื่องหมาๆ อย่าไปยุ่ง ทำให้คนฆ่าคนด้วยกันตาย ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองสัตว์อะไรมาก และ 8 ปีที่ พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์บังคับใช้ พบว่าสุดท้ายแล้วมีคนติดคุก 1 ปี เพราะเรื่องหมาๆ แมวๆ เพียง 1 คน และนอกนั้นรอลงอาญาเกือบทั้งหมด เพราะด้วยความเป็นสังคมไทย.