ผู้ประกอบการรถสองแถวไม่เห็นด้วยกับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามผู้โดยสารยืนบนรถสองแถว เพราะส่งผลกระทบต่อต้นทุน ที่แบกรับภาระค่าน้ำมันวันละประมาณ 800-1,000 บาท ขณะที่ช่วงเร่งด่วน ไม่สามารถห้ามผู้โดยสารให้ยืนบนรถได้ จึงอยากให้ผ่อนผันมาตรการ เพราะจะเป็นข้ออ้างให้เจ้าหน้าที่รีดไถ

สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ประกอบการรถสองแถว เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ. 2566 โดยเนื้อหาบางส่วนระบุถึงผู้โดยสารรถสองแถวห้ามยืน และต้องวิ่งไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากฝ่าฝืน มีโทษทางกฎหมายจราจร

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยังผู้ประกอบการรถสองแถว รายหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ โดยเปิดเผยว่า การออกกฎหมายห้ามยืนบนรถสองแถว ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร ที่ใช้บริการช่วงเร่งด่วน เพราะความเป็นจริง ผู้โดยสารก็ยอมยืน เนื่องจากต้องการไปธุระให้เร็วที่สุด ส่วนสองแถวไม่สามารถห้ามผู้โดยสารให้ยืน หรือปฏิเสธรับผู้โดยสารได้ เนื่องจากเคยมีกรณีผู้โดยสาร โทรไปร้องเรียนที่กรมขนส่งเรื่องไม่จอดรับผู้โดยสารมาแล้ว

...

“ปกติผู้โดยสารมีจำนวนมากช่วงเช้าและเย็น เส้นทางที่วิ่งเริ่มจากท่าน้ำศิริราช ถึงพุทธมณฑล หากตำรวจมีการบังคับใช้กฎหมายจับจริง จะส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการ เพราะกรมขนส่งกำหนดให้รถสองแถวนั่งได้ 11 คน ยืนได้ 7 คน ที่ผ่านมาทางวินพยายามบริหารจัดการไม่ให้รถขาดช่วง เพื่อลดปริมาณผู้โดยสารยืนให้น้อยที่สุด แต่บางครั้งด้วยการจราจรติดขัด ทำให้รถขาดช่วง ผู้โดยสารจึงต้องยืนมากกว่าปกติ”

ถ้าคิดรายได้ตามความเป็นจริง หากกฎหมายกำหนดไม่ให้มีผู้โดยสารยืน จะรับผู้โดยสารได้ 11 คนต่อเที่ยว เก็บค่าโดยสารคนละ 8 บาท ได้เงินทั้งหมด 88 บาท แต่บางเที่ยวผู้โดยสารอาจไม่เต็มคันรถ จึงไม่คุ้มค่าน้ำมัน ดังนั้น กฎหมายใหม่ทำให้คนขับรถสองแถวมีความกังวล เพราะถ้าไม่รับผู้โดยสารก็ถูกร้องเรียน แต่ถ้ารับมาแล้วยืนก็โดนตำรวจจับ

“ผู้โดยสารมีทั้งนักเรียน แม่ค้า คนทำงาน ด้วยความที่ต้องวิ่งรถในชุมชน ทำให้ต้องจำกัดความเร็ว ดังนั้นกฎหมายใหม่ที่ควบคุมความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ แต่อาจมีปัญหากับวินรถสองแถวตามชานเมืองมากกว่า”

จึงเรียกร้องให้ผ่อนผันมาตรการ กรณีผู้โดยสารต้องยืน เพราะเฉลี่ยรถสองแถวต้องจ่ายค่าน้ำมันวันละ 800-1,000 บาท ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักหลังเกิดวิกฤติโควิด เนื่องจากน้ำมันมีราคาสูง แต่ผู้ประกอบการรถสองแถว พยายามทนมาตลอด เพราะหลายคนลงทุนทำรถ และมีค่าผ่อนรถที่ต้องจ่ายในทุกเดือน 

ด้วยต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ รถสองแถวต้องวิ่งวันละ 10 เที่ยว เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ซึ่งถ้ามีการปรับตามกฎหมายใหม่ขึ้นมาอีก ก็จะยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการรถสองแถว ต้องวิ่งรับคนในแต่ละวันเพิ่มขึ้นไปอีก

“สำหรับผู้ประกอบการรถสองแถว อยากให้รัฐบาลช่วยเข้ามาดูแลเรื่องราคาน้ำมัน เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถเพิ่มค่าโดยสารได้ เนื่องจากกรมขนส่ง จำกัดเพดานค่าโดยสารอยู่ที่ 8 บาทตลอดสาย และถ้ายิ่งมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ห้ามยืน จะเป็นช่องทางทำให้เจ้าหน้าที่บางราย เป็นข้ออ้างในการเรียกรับผลประโยชน์ได้”

ห่วงเจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ให้ความเห็นกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า กฎหมายนี้เกิดจากแนวคิดในการละเว้นติดตั้งเข็มขัดให้กับผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงค่อนข้างทำได้ยาก เพราะรถลักษณะนี้ใช้ผิดประเภทมายาวนาน ถ้ามองในความเป็นจริง รถสองแถวจำกัดให้นั่งได้แค่ 6 คน ก็ไม่คุ้มกับต้นทุนของผู้ประกอบการ กรณีนี้อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้รถสองแถวกับตำรวจที่บังคับใช้กฎหมาย

...

“ลองคิดดูว่า รถสองแถวนั่งได้แค่แถวละ 3 คน จริงอยู่ว่าตามหลักวิชาการทำให้เกิดความปลอดภัย แต่แนวทางบางอย่างที่นำไปใช้ในต่างประเทศ อาจใช้ไม่ได้ในไทย ทั้งที่เจตนากฎหมายนี้ต้องการให้เกิดความปลอดภัย แต่สภาพสังคมไทยตอนนี้ทุกคนต่างปากกัดตีนถีบ เลยทำให้มองข้ามความปลอดภัยมาทีหลัง”

สิ่งที่น่าห่วงเมื่อออกกฎหมายนี้มาแล้ว จะเป็นช่องทำให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากช่องว่างกฎหมายนี้ได้ เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า มีการแสวงหาผลประโยชน์ลักษณะนี้อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการรถสาธารณะขณะนี้ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายในการจดทะเบียนต่างๆ เป็นเงินจำนวนมาก แต่กรมขนส่งทางบก กลับยังดูแลผู้ประกอบการเหล่านี้น้อย

การบังคับใช้กฎหมายห้ามยืนบนรถสองแถว ควรจะมีการแถลงให้ชัดเจนถึงแนวทาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ส่วนผู้ประกอบการรถสองแถว ก็จะได้ไม่วิตกกังวลกับการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่.