“ฟางเส้นสุดท้าย” คำๆ นี้ บ่งบอกถึง ความรู้สึกจากหัวใจ ที่สุดแสนจะอัดอั้น แต่แล้ว...เมื่อวันหนึ่งมีอะไร หรือ การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อย หรือ ใหญ่หลวงขนาดไหน มันก็ระเบิดออกมาเพราะมัน “สุดจะทน” แล้ว...

“ดิว อริสรา” ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ Inside Thailand ถึงสาเหตุ ต้องใช้แผน “นารีพิฆาต” แฉเครือข่าย ล้มอาณาจักร “มาเก๊า 888” เพราะบางส่วนทำร้ายร่างกาย จิตใจ และ “ฟางเส้นสุดท้าย” คือ มีชาย 2 คนอ้างเป็นตำรวจ มาถ่ายรูปที่ร้านในค่ำวันที่ 7 ก.พ. จากนั้น วันที่ 8 ก.พ. ก็ปรากฏชาย 2 คน อ้างเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ มาติดตามคนร้าย “ลักทรัพย์” ที่เป็นต่างด้าว แต่...ลูกน้องของเธอก็ไหวพริบดี ในการขอดูบัตรตำรวจ

และนี่เองคือ “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่เธอสุดจะทน ที่จะขอเดินหน้าชนต่อ...เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีตำรวจมาที่ร้าน แต่พอแฉเรื่องที่ถูกต้อง กลับมีตำรวจมาที่ร้าน...?

ไม่ทันข้ามวัน คำถามของ “ดิว” ก็ได้รับคำตอบจาก พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ทองหล่อ ออกมาเปิดเผย กรณีดังกล่าวว่า ชาย 2 คนที่เห็นในภาพกล้องวงจรปิดนั้น เป็นตำรวจจริง ยศ สิบเอก และ สิบโท ซึ่งนายตำรวจทั้ง 2 นาย ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และ ไม่ทราบว่าเป็นร้านของ “ดิว อริสรา”

...

ส่วนกรณีว่า ที่ผ่านมา ไม่มีตำรวจมาตรวจสอบเลย ผกก.สน.ทองหล่อ กล่าวว่า ปกติแล้วไม่ทราบว่ามีตำรวจเข้าออกมากน้อยเพียงไร จึงต้องพิจารณาแผนในการป้องกันอาชญากรในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากการกระทำของตำรวจ ทั้ง 2 นาย ไม่ชอบก็จะถูกดำเนินการตามวินัยและขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการตรวจค้น โดยเจ้าหน้าที่ หรือ บุคคลที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ควรมีหลักการป้องกันตัวเองอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง หัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อธิบายว่า

โดยหลักการการมาขอตรวจค้นสถานที่ เบื้องต้น เราต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นตำรวจ “จริง” หรือไม่ ก็คือ ต้องขอดูบัตรตำรวจก่อน ถ้าตำรวจที่ทำตามหน้าที่จริงๆ ถึงแม้จะเป็นนอกเครื่องแบบ ก็จะทำการโชว์บัตรตำรวจ และหมายค้น

“ยกเว้น” กรณี การ “กระทำความผิดซึ่งหน้า” เช่น มีการทำร้ายร่างกาย ก่อเหตุฆาตกรรม หรือ ลักทรัพย์ใครมา แล้ววิ่งหนีเข้ามาหลบในบ้าน หรือ ร้าน แบบนี้ อาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดซึ่งหน้า ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น แต่ก็ต้องโชว์บัตรตำรวจ

การอ้างเหตุซึ่งหน้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเพียงข้ออ้าง หรือเหตุการณ์จริง ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า หากมีเหตุซึ่งหน้าจริง แปลว่ามันต้องมีเหตุก่อนหน้า เช่น คนร้ายก่อเหตุ มีเลือด มีแผล มีอาวุธ หรือ หลักฐานบางอย่างนำมา ที่มีเหตุ “อันควรสงสัย” เช่นพฤติกรรมหลบหนีการกระทำความผิด มีอาวุธซุกซ่อนในร่างกาย เรียกว่า มีเหตุ “อันควรสงสัย” ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ร้านของ “ดิว อริสรา” นั้น คือ ร้านทำเล็บ ซึ่งปกติแล้ว คนทั่วไปสามารถเดินเข้าออกได้ตามปกติหรือไม่ หากเป็นร้านที่คนเข้าออกได้ ตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นที่ “รโหฐาน” ฉะนั้น การที่ตำรวจเข้าไปที่ร้าน ก็สามารถทำได้ แต่หากต้องการไปตรวจธรรมดา ก็จำเป็นต้องแสดงบัตรประจำตัวตำรวจ และขออนุญาตตรวจแรงงานต่างด้าวได้ ถือว่าเป็นการทำงานตามขั้นตอน...

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่า ประเด็นนี้เป็นการข่มขู่หรือคุกคาม ก็สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจ หรือ สน. หรือ สภ. ในพื้นที่ แต่ถ้าไม่มั่นใจก็สามารถร้องเรียนในระดับที่สูงกว่าได้

...

ชำแหละ ปัญหา “คอร์รัปชัน” ในวงการตำรวจ

หัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กล่าวถึงรากเหง้าของปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจว่า สาเหตุมาจาก การให้ความสำคัญกับตำรวจน้อยเกินไป...

ปัญหาคอร์รัปชัน จะเกิดขึ้นสูง ในสังคมที่มีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหา ถ้าสังคมใดขาดการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจอย่างเข้มแข็ง ขาดการเอาใจจากผู้บังคับบัญชา หรือ รัฐบาลใดไม่เอาใจใส่คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตำรวจ เช่น ให้เงินเดือนไม่เหมาะสมกับภาระหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการ “ถูกแทรกแซง” จากหน่วยงานภายนอก หรือ ฝ่ายการเมือง

จากปัญหาเหล่านี้ ทำให้ “คนที่เป็นตำรวจมืออาชีพ” มองไม่เห็นหนทางในอนาคต ส่งผลต่อ “ขวัญ” และ “กำลังใจ” ในการทำงาน ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยถอยลง ทำให้ตำรวจรู้สึกว่าเป็น “อาชีพไม่มั่นคง” ด้วยเหตุนี้ จึงมีตำรวจบางกลุ่ม คิดว่า ต้องทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ตัวเองมียศและตำแหน่งสูงขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ เช่น อยากรวย มีเงินทองใช้ จึงใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น รีดไถ รับส่วย ใช้อิทธิพลในอาชีพในการทำผิดกฎหมาย เป็นหุ้นส่วนธุรกิจสีเทา สีดำ เว็บพนัน โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่มาเอื้ออำนวย

...

“ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้เนิ่นนาน คนเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้น มันก็ยิ่งกัดกร่อน ชื่อเสียง เกียรติยศวงการตำรวจ จากนั้นวงการนี้มันก็อยู่ไม่ไหว”

ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล ระบุว่า การที่วงการตำรวจเป็นอย่างนี้ต่อไป ผลร้ายไม่ได้เกิดขึ้นกับวงการตำรวจ แต่จะตกอยู่กับประชาชน เพราะขาดที่พึ่ง ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญ อาจจะขาดการได้รับความเป็นธรรม จากการทำหน้าที่ของตำรวจ

ตัวอย่างการแก้ปัญหา “คอร์รัปชัน” ในต่างประเทศ

สำหรับตัวอย่างในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน ในวงการตำรวจของต่างประเทศ อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เผยว่า ไม่ว่าหน่วยงานไหน ที่ทำหน้าที่ Law Enforcement หรือ การบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล หรือ ในต่างประเทศ ที่สหรัฐฯ อย่างหน่วยข่าวกรอง FBI ในหลักการถือว่า หน่วยงานเหล่านี้นั้นพิเศษ

“สามารถให้คุณให้โทษ ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีอำนาจจับกุม คุมขัง ตรวจค้น นั้น มีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย โดยมีโอกาสที่จะ “แสวงหาผลประโยชน์” ได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้น การใช้ “ดุลพินิจ” นั้น เขาจะมีการปลูกฝัง มโนธรรม คุณธรรมให้สูง ด้วยการศึกษาอบรม”

...

ขณะเดียวกัน เขาก็รู้ว่า สาเหตุการ “คอร์รัปชัน” นั้น มาจากเงิน และค่าครองชีพ เขาจึงให้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ต่อการรักษาเกียรติภูมิในตนเอง ให้สามารถพยุงความยุติธรรมได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ต้องสนใจในอามิสสินจ้าง หรือ ต้องไปทำธุรกิจสีเทาเพื่อไม่ให้ตำรวจไปยุ่งกับอบายมุข ไม่จำเป็นต้องไปประกอบอาชีพอื่น แค่ทำอาชีพตำรวจก็เลี้ยงชีพได้แล้ว

ขณะเดียวกัน มีระบบการตรวจสอบทุจริตที่เข้มแข็ง ลงโทษที่รุนแรง เฉียบขาด พบว่าผิดจริง ให้ออกเลย โดยส่วนมากแล้ว คนเหล่านี้จะถูกปลูกฝังเรื่องการระมัดระวังความผิด

“เมื่อเล็งเห็นว่า คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ ฉะนั้น รัฐบาล จึงทุ่มเทงบประมาณในการสรรหาบุคลากร ให้เพียงพอแก่การทำงาน ให้ค่าตอบแทนที่สูง มีสวัสดิการที่เหมาะสม มีบ้านพัก เบี้ยงเลี้ยง โอที”

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับมาดูประเทศไทย หากภาครัฐ กับตำรวจให้เป็นเจ้าหน้าที่ ที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงในหน้าที่การงาน คนในองค์กรมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ และมีเส้นทางในการเจริญก้าวหน้าในอาชีพ อย่างมั่นคง หากเป็นเช่นนี้ จะไม่มีใครกล้า ที่จะกระทำความผิด เพราะไม่มีใครเอาตำแหน่งหน้าที่การงานไปแลกกับผลประโยชน์ เพราะมันไม่คุ้มค่า

ตัวอย่างรายได้ “ตำรวจ” ในต่างประเทศ 

ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล เผยว่า อาชีพที่เด็กเยอรมนีใฝ่ฝันอยากจะเป็นมากที่สุด คือ นักฟุตบอล รองลงมา คือ ตำรวจ เพราะ ได้เงิน ค่าครองชีพสูงมาก สวัสดิการดี มีประกันชีวิต มีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ ทุกอย่างตั้งแต่หัวจรดเท้า รัฐบาลดูแลหมด นอกจากนี้ ก่อนเป็นตำรวจ เขาจะถูกตรวจสอบประวัติหนี้สิน หากเป็นหนี้เสีย เขาจะไม่รับเข้าทำงาน

“ได้เงินเดือนเฉลี่ย ตั้งแต่ชั้นประทวนปีละ 42,762 ยูโร ถึง 73,311 ยูโร เฉลี่ย อาชีพตำรวจเฉลี่ยปีละ 59,457 ยูโร หรือเฉลี่ยเป็นเงินเดือน ปีละ 2,141,548 เดือนละ 178,462 บาท โดยมีรายได้ต่อชั่วโมงที่ 28.59 ยูโร หรือ 1,029 บาท โบนัสเฉลี่ยต่อปี 1,373 ยูโร หรือ 49,453 บาท (หมายเหตุ ค่าเงิน ยูโร 1 เท่ากับ 35.94 บาท ข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.พ.) ซึ่งถือว่าแตกต่างจากเราที่ส่วนมาก จะเริ่มเป็นหนี้ ตั้งแต่เริ่มเป็นตำรวจเลย” ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ เงินเดือนและสวัสดิการของ “ตำรวจญี่ปุ่น” ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย พบว่า มีค่าเฉลี่ยรายได้ปีละ 6,178,679 เยน (1,579,251 บาท) ค่าเฉลี่ยต่อชั่วโมง 2970.52 เยน (759 บาท) โบนัสเฉลี่ย ปีละ 142,727 เยน (36,480 บาท) คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2571 จะมีการขึ้นเงินเดือน ประมาณ 11% จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 6,875,433 เยน (1,757,797 บาท)



ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจของสหรัฐฯ มีเงินเดือนและสวัสดิการ เฉลี่ย อยู่ที่ $71,922 ต่อปี (2,407,229 บาท) มีรายได้ต่อชั่วโมงที่ $34.58 (1,157 บาท) โบนัสเฉลี่ย ที่ $1,661 (55,593 บาท) โดยคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2571 จะมีการขึ้นเงินเดือน ประมาณ 21% มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ $87,168 (2,914,897 บาท)

**หมายเหตุ ค่าเงิน ดอลลาร์สหรัฐ 1 : 33.47 บาท ค่าเงินเยน 100 : 25.58 บาท ณ วันที่ 9 ก.พ.)

ส่วนตำรวจไทย ฐานเงินเดือนบวกกับสวัสดิการ มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 652,518 บาท อัตรารายได้ต่อชั่วโมง 313.71 บาท โบนัสเฉลี่ย 15,073 บาท/ปี คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2571 จะมีการขึ้นเงินเดือน ประมาณ 21% จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 809,273 บาท ทั้งนี้จากข้อมูลทั้ง 3 ประเทศ ระบุว่า ตำรวจส่วนใหญ่กว่า 72 เปอร์เซ็นต์ ล้วนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น

**หมายเหตุ ค่าครองชีพแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน อ้างอิงข้อมูล salaryexpert.com**

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

กราฟิก : Varanya Phae-araya

อ่านบทความที่น่าสนใจ