หลังสโมสรเรือใบสีฟ้า “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ได้รับการติดอาวุธด้านเงินทุนจาก Abu Dhabi United Group หรือ ADUG ตั้งแต่ปี 2008 จนเถลิงอำนาจขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่ม Big Teams ของพรีเมียร์ลีกอังกฤษเป็นต้นมา “เพื่อนบ้านผู้น่ารำคาญ” ตามคำนิยามของ “บรมกุนซืออเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” ฟาดแชมป์ลีกไปแล้วทั้งสิ้น 6 สมัย ลีกคัพ 6 สมัย และ FA คัพ อีก 2 สมัย รวมถึงได้ไปอวดฝีเท้าในแชมเปียนส์ลีกทุกฤดูกาล นับตั้งแต่ ฤดูกาล 2011-2012 จนถึงปัจจุบัน (ฤดูกาล 2022-2023)

แต่แล้วจู่ๆ ใครจะเชื่อว่าได้เกิด “ปรากฏการณ์ฟ้าผ่ากลางเมืองแมนเชสเตอร์” จากการที่ “พรีเมียร์ลีก” แจ้งข้อกล่าวหากับสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ว่า มีการละเมิดกฎ “Financial Fair Play” หรือ FFP รวมกันมากกว่า 101 ครั้ง ภายในระยะเวลา 9 ปี ระหว่างฤดูกาล 2009-2018 และแม้จนถึงปัจจุบัน (ปี 2023) ก็ยังคงมีการกระทำเช่นนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง จนสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษขั้นรุนแรงด้วยการ ริบแชมป์พรีเมียร์ลีก, หักคะแนน, จ่ายปรับเงินก้อนโต, ยกเลิกการซื้อขาย หรือลงทะเบียนนักเตะที่ซื้อมา เรื่อยไปจนกระทั่งถึงขั้น “ถูกปรับตกชั้น!” อะไรคือปมปัญหาของเรื่องนี้ วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปคลี่คลายกันทีละประเด็น

...

ทำความเข้าใจกฎ “Financial Fair Play” :

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แต่ละสโมสรในยุโรปใช้จ่ายเงินเกินตัวจน กระทั่งนำไปสู่การเกิดวิกฤตทางการเงิน "สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า" จึงมีการนำกฎดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ ฤดูกาล 2011-2012 เป็นฤดูกาลแรก

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ยูฟ่า ต้องนำ FFP หรือหากจะอธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ “สามารถหาเงินมาได้เท่าไรก็ใช้ได้เท่านั้น” มาบังคับใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากในปี 2009 “ยูฟ่า” พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของสโมสรฟุตบอลในยุโรปซึ่งมีมากกว่า 665 สโมสร กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน และในจำนวนนี้มากถึง 20% มีฐานะทางการเงินเข้าสู่ภาวะวิกฤติขั้นเลวร้าย

ทั้งนี้ “ยูฟ่า” มีการปรับเปลี่ยน กฎ FFP มาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดจากภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งทำให้สโมสรฟุตบอลน้อยใหญ่ต้องขาดรายได้ก้อนโต ยูฟ่า จึงมีการแก้ไขกฎ FFP โดยอนุญาตให้แต่ละสโมสรสามารถ มีผลประกอบการที่ขาดทุน 60 ล้านยูโร ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 30 ล้านยูโร

นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนให้แต่ละสโมสรค่อยๆ ปรับเพดานการใช้จ่ายเงินค่าเหนื่อย, ค่าตัวนักเตะและเอเย่นต์ เอาไว้ที่ 70% ของรายได้สโมสร รวมถึงชำระหนี้คงค้างทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3 ปี (สิ้นสุดฤดูกาล 2025-2026) ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 ที่ผ่านมาด้วย

ความแตกต่างระหว่าง FFP ของ ยูฟ่า และพรีเมียร์ลีก :

แม้โดยรวม กฎ FFP ของ ยูฟ่า และพรีเมียร์ลีก จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่พรีเมียร์ลีก จะมีรายละเอียดยิบย่อยในเรื่องข้อกำหนดต่างๆ ที่จะนำไปสู่การตรวจสอบสถานะทางการเงินมากกว่า เช่น การแจ้งยอดการซื้อขายนักเตะ, เงินเดือน และใบกำกับภาษีให้ตรงเวลาที่กำหนดเป็นต้น

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ ข้อกล่าวหาละเมิด FFP :

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ถูกตั้งข้อหานี้ เนื่องจากเมื่อ ปี 2020 สโมสรเรือใบสีฟ้า เคยถูก “ยูฟ่า” สอบสวนเรื่องการละเมิดกฎ FFP มาแล้ว โดยในครั้งนั้น แมนฯซิตี้ ”ถูกลงโทษปรับเป็นเงินถึง 30 ล้านยูโร และถูกแบนจากฟุตบอลยุโรปเป็นเวลา 2 ฤดูกาล"

...

อย่างไรก็ดี หลังมีการยื่นคำร้องต่อ "อนุญาโตตุลาการการกีฬา (Court Arbitration for Sport) หรือ CAS" กลับมีคำตัดสินให้ “ยกเลิกโทษแบน” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และให้ลดค่าปรับลงเหลือเพียง 10 ล้านยูโร โดย “ข้อโต้แย้งหลัก” ที่ทำให้ “อริร่วมเมืองของพรรคพลปิศาจแดง” หลุดพ้นโทษขั้นอุกฤษฏ์ในครั้งนั้นมาได้เป็นเพราะ....

ทนายความของสโมสรเรือใบสีฟ้า หยิบยกประเด็นเรื่องการนำข้อมูลจากแหล่งที่มาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (มาจากฝีมือแฮกเกอร์ชาวโปรตุเกสที่เจาะระบบเข้าไปนำข้อมูลของแมนฯซิตี้ออกมาแฉ) รวมถึงหลักฐานชิ้นสำคัญดังกล่าว ยังพ้นกรอบระยะเวลา 5 ปี ที่ ยูฟ่า จะสามารถดำเนินการเอาผิดได้มาเป็นข้อต่อสู้จนกระทั่งทำให้ “แมนฯซิตี้” หลุดพ้นจากบ่วงนี้ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดีสำหรับคราวนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า “ข้อต่อสู้เดิมเรื่องกรอบระยะเวลาและแหล่งที่มาของข้อมูลไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” อาจ “ใช้ไม่ได้ผล”เนื่องจากพรีเมียร์ลีก “ไม่มีข้อกำหนดเรื่องกรอบระยะเวลาในการเอาผิดกับผู้ที่ทำผิดกฎ รวมถึง การได้มาของข้อมูลเหมือนกับข้อกำหนดของยูฟ่า”

...

แมนฯซิตี้ กับ ข้อกล่าวหาทำผิดกฎ FFP ของ พรีเมียร์ลีก :

พรีเมียร์ลีก ได้แจ้งข้อกล่าวหากับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เอาไว้ดังต่อไปนี้...1.มีการทำผิดกฎ FFP มากถึง 101 ครั้ง 2.ล้มเหลวในการส่งมอบข้อเท็จจริงอันเที่ยงธรรมเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของสโมสร 3.ล้มเหลวในการรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนผู้เล่น และผู้จัดการทีม ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎ FFP ทั้งในระดับชาติและระดับทวีป 4.ล้มเหลวในการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือพรีเมียร์ลีกในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง

โดยหลังจากได้รับการแจ้งข้อกล่าวหานี้แล้ว แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในลำดับถัดไป

...

ส่องผลประกอบการแมนฯซิตี้ ในฤดูกาลที่มีปัญหา :

ฤดูกาล 2010-2011 :
รายได้ 153.2 ล้านปอนด์ ขาดทุน 160.5 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 48.5 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 49.7%

ฤดูกาล 2011-2012 :
รายได้ 231 ล้านปอนด์ ขาดทุน 97.9 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 97 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 100%

ฤดูกาล 2012-2013 :
รายได้ 271 ล้านปอนด์ ขาดทุน 51.6 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 143 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 33%

ฤดูกาล 2013-2014 :
รายได้ 347 ล้านปอนด์ ขาดทุน 23 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 165.8 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 16%

ฤดูกาล 2014-2015 :
รายได้ 351.8 ล้านปอนด์ กำไร 10.7 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 173 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 4%

ฤดูกาล 2015-2016 :
รายได้ 391.8 ล้านปอนด์ กำไร 20.5 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 177.9 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 3%

ฤดูกาล 2016-2017 :
รายได้ 473 ล้านปอนด์ กำไร 1.1 ล้านปอนด์
รายได้จากสปอนเซอร์ 218 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 23%

** หมายเหตุ Abu Dhabi United Group (ADUG) เข้าซื้อสโมสรตั้งแต่ปี 2008
อ้างอิงข้อมูลรายงานผลประกอบการของสโมสรแมนฯซิตี้ ตั้งแต่ ฤดูกาล 2010-2017 **

จากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ว่าในฤดูกาลที่แมนฯซิตี้ ถูกกล่าวหานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สโมสรเป็นเงินที่ได้รับมาจาก “สปอนเซอร์” ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกปีๆ และสปอนเซอร์พันธมิตรหลักที่จ่ายหนักๆ ให้กับสโมสรแห่งนี้เสมอมา ก็คือ “สายการบินเอทิฮัด” (เริ่มเข้ามาสนับสนุนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ฤดูกาล 2011-2012) ซึ่งมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับ กลุ่มทุน ADUG ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของทีมเรือใบสีฟ้าอีกด้วย

และประเด็นนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งในประเด็นหลักที่พรีเมียร์ลีกจ้องเอาผิดกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เนื่องจากเชื่อว่า มีการเพิ่มมูลค่าข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ที่สูงเกินจริง เพื่อเปิดทางไปสู่การนำเงินของกลุ่มทุน ADUG เข้าสู่สโมสร และนำไปใช้จ่ายเกินรายได้ที่แท้จริง ระหว่างฤดูกาล 2012-2016

ผลประกอบการ 3 ฤดูกาลล่าสุด ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ :

จากรายงานผลประกอบการในช่วง 3 ฤดูกาลล่าสุดของ สโมสรเรือใบสีฟ้า ระบุว่า...
รายได้ ฤดูกาล 2021-2022 อยู่ที่ 613 ล้านปอนด์ มีผลกำไร 41.7 ล้านปอนด์
รายได้ ฤดูกาล 2020-2021 อยู่ที่ 569 ล้านปอนด์ มีผลกำไร 2.4 ล้านปอนด์
รายได้ ฤดูกาล 2019-2020 อยู่ที่ 478 ล้านปอนด์ ขาดทุน 126 ล้านปอนด์
และปัจจุบันมีการประเมินมูลค่าแบรนด์เอาไว้ที่ประมาณ 1,327 ล้านปอนด์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง