ทีมสิงโตน้ำเงินคราม “เชลซี” กลายเป็นแชมป์สโมสรเจ้าบุญทุ่มประจำตลาดฤดูหนาวปี 2023 (1 ม.ค.-31 ม.ค. 23) ไปทันที หลัง “ท็อดด์ โบห์ลี” (Todd Boehly) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจ้าของความมั่งคั่ง 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการประเมินของ Forbes ใช้เงินมากมายถึง 323 ล้านปอนด์ (12,996 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 ก.พ. 23) หอบผู้เล่น 8 คน ละลิ่วเข้าสู่รั้ว “สแตมฟอร์ดบริดจ์” ทำให้นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ที่ “ชายผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของทีมเชลซี” เป็นต้นมา มีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อนักเตะไปรวมกันแล้วถึง 553.95 ล้านปอนด์! (22,306 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 ก.พ. 23)

ปัจจุบันทีมชุดใหญ่ของเชลซี มีนักเตะกี่คน :

การทุ่มเงินซื้อนักเตะอย่างชนิดไม่แคร์มูลค่า ทำให้ปัจจุบัน (สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 23) “เชลซี” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 10 ของตารางพรีเมียร์ลีก มีจำนวนนักเตะทีมชุดใหญ่มากมายถึง 34 คน ในขณะที่สโมสรอันดับหนึ่ง และอันดับสอง บนตารางคะแนนพรีเมียร์ ณ ปัจจุบัน อย่าง "อาร์เซนอล" และ "แมนเชสเตอร์ ซิตี้" มีจำนวนนักเตะชุดใหญ่เพียง 23 และ 24 คนเท่านั้น!

...

ท็อดด์ โบห์ลี ซื้อนักเตะไปแล้วกี่คน :

นับตั้งแต่ก้าวขึ้นเป็นเจ้าของทีมเชลซี ต่อจาก เสี่ยหมี “โรมัน อับราโมวิช” ฟ่อนธนบัตรที่ “ท็อดด์ โบห์ลี” ออกหว่านในตลาดนักเตะนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 เป็นต้นมา เป็นจำนวนเงินรวมกันแล้วทั้งสิ้น 553.95 ล้านปอนด์ โดยกองธนบัตรก้อนนี้แลกเปลี่ยนเป็นนักเตะ (ทั้งยืมและซื้อขาด) ได้รวมกันทั้งสิ้น 17 คน โดยแยกเป็น...

ผู้รักษาประตู 1 คน : คือ กาเบรียล สโลนินา 8 ล้านปอนด์

กองหลัง 5 คน : 1. คาลิบาดู คูลิบาลี 33 ล้านปอนด์ 2. มาร์ค คูคูเรยา 57.5 ล้านปอนด์ 3. เวสลีย์ โฟฟานา 70 ล้านปอนด์ 4. เบอนัวต์ บาดียาชีล 33.7 ล้านปอนด์ 5. มาโล กุสโต 26.75 ล้านปอนด์

กองกลาง 5 คน : 1. คาร์นีย์ ชุคเวเมก้า 20 ล้านปอนด์ 2. เซซารา คาซาเด 13.3 ล้านปอนด์ 3. เดนิส ซากาเรีย ค่ายืมตัว 2.7 ล้านปอนด์ บวกออปชันซื้อขาด 30 ล้านปอนด์ 4. อันเดรย์ ซานโตส 11.1 ล้านปอนด์ 5. เอ็นโซ เฟอร์นันเดซ 106.8 ล้านปอนด์

กองหน้า 6 คน : 1. ราฮีม สเตอร์ลิง 47.5 ล้านปอนด์ 2. ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง 10.3 ล้านปอนด์ 3. ดาวิด ดาโทร โฟฟานา 10.6 ล้านปอนด์ 4. เจา เฟลิกซ์ ค่ายืมตัว 9.7 ล้านปอนด์ 5. มิคไฮโล มูดริก 62 ล้านปอนด์ 6. โนนี มาดูเอเก 30 ล้านปอนด์

จำนวนเงินที่เชลซีจ่าย เฉพาะตลาดนักเตะฤดูหนาว 2023 :

ช่วงตลาดนักเตะฤดูหนาวที่ผ่านมา “เชลซี” ใช้เงินซื้อนักเตะไปรวม 323 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 41% ของจำนวนเงินรวม 780 ล้านปอนด์ (31,409 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 ก.พ. 23) ที่ทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้ในตลาดหน้าหนาวนี้ ในขณะที่อันดับ 2 คือ "สโมสรเซาแธมป์ตัน" ใช้เงินไปเพียง 60.9 ล้านปอนด์ (7.81%) ส่วนอันดับที่ 3 "สโมสรอาร์เซนอล" ใช้เงินไป 59 ล้านปอนด์ (7.56%) เท่านั้น

สำหรับนักเตะที่มีราคาแพงที่สุดของเชลซี คือ “เอ็นโซ เฟอร์นันเดซ” มีค่าตัวมากถึง 106.8 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 33% ของจำนวนเงินที่เชลซีใช้ในตลาดหน้าหนาวนี้

...

ขณะที่รายได้จากการขายและให้ยืมนักเตะในตลาดครั้งนี้ “เดอะบลูส์” สามารถสร้างรายรับได้เพียง 12 ล้านปอนด์ จากการปล่อยยืมนักเตะ 3 คน และขายขาดอีก 2 คน ทำให้มียอดค่าใช้จ่ายสุทธิที่ 311.3 ล้านปอนด์

รายได้ของ เชลซี :

จากรายงานการประเมินของ “ดีลอยท์” (Deloitte) บริษัทผู้ตรวจบัญชีระดับโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า รายได้ของสโมสรเชลซี ในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 481.3 ล้านปอนด์ (19,381 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 ก.พ. 23) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มีรายได้ 436.6 ล้านปอนด์ ประมาณ 15%

โดยในจำนวนนี้ แยกเป็น 1. รายได้เชิงพาณิชย์ 178 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 37% 2. รายได้จากการถ่ายทอดสด 235.84 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 49% 3. รายได้จากวันแข่งขัน (Match Day) 67.38 ล้านปอนด์ 14% นอกจากนี้ "เชลซี" ยังสามารถลดสัดส่วนค่าจ้าง (เงินเดือนเจ้าหน้าที่และนักเตะ) ต่อรายได้ ลดลงมาเหลือ 71% หรือ ลดลง 6% จากปี 2021 อีกด้วย

...

เชลซี กับกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ :

จากรายงาน Global Transfer Markt ของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ตลาดซื้อขายนักเตะทั่วโลกที่ประสบภาวะซบเซาจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขรวมทั่วโลกสูงถึง 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 33.5% จากตัวเลข 4,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021

ด้วยเหตุนี้การที่ “เชลซี” ทุ่มเงินมากมายถึง 389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดนักเตะฤดูหนาวเพียงตลาดเดียว รวมถึงใช้เงินสำหรับการซื้อนักเตะไปรวมกันแล้วถึง 666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 10% ของมูลค่าการซื้อขายนักเตะในปี 2022 หลังเปลี่ยนเจ้าของใหม่ มันจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า “เมื่อใช้เงินไปมากมายขนาดนี้ มีความเสี่ยงที่จะเข้าข่ายผิดกฎ Financial Fair Play ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า มากน้อยแค่ไหน?”

เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิด กฎ Financial Fair Play “เชลซี” จึงเลือกใช้วิธีเซ็นสัญญากับนักเตะระยะยาวเพื่อทำให้ “ต้นทุนสำหรับการซื้อนักเตะ” เฉลี่ยออกไปหลายๆ ปีตามระยะเวลาในการเซ็นสัญญา ด้วยเหตุนี้จึงได้เห็น “เบอนัวต์ บาดียาชีล” อายุ 21 ปี ได้รับเซ็นสัญญา 7 ปีครึ่ง “ดาวิด ดาโทร โฟฟานา” อายุ 20 ปี ได้รับสัญญา 6 ปี ครึ่ง และ “มิคไฮโล มูดริก” อายุ 22 ปี ได้รับสัญญา 8 ปีครึ่ง หรือกองหน้าแชมป์โลกหมาดๆ อย่าง “เอ็นโซ เฟอร์นันเดซ” อายุ 22 ปี ก็ได้รับสัญญา 8 ปีครึ่งเช่นกัน!

...

และเพื่อให้เห็นภาพนี้ได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ปีกจอมเทคนิคสัญชาติยูเครน “มิคไฮโล มูดริก” เจ้าของค่าตัวประมาณ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับ สัญญา 8 ปีครึ่ง จะทำให้ “เชลซี” มีต้นทุนสำหรับค่าตัวของ “มิคไฮโล มูดริก” เพียงประมาณ 8.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือกรณีของ “เอ็นโซ เฟอร์นันเดซ” ที่มีค่าตัวแพงลิบลิ่วถึง 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีต้นทุนเพียงประมาณ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์ด้านการลงทุนส่วนหนึ่งมองว่า แม้วิธีการนี้อาจได้ผลดีในระยะสั้น หากแต่ในระยะยาวถือว่า “มีความเสี่ยงสูง” นั่นเป็นเพราะ “ไม่มีหลักประกันใดๆ” ที่สามารถการันตีได้เสมอไปว่าบรรดา Wonder Kids ที่สู้อุตส่าห์ลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้ จะสามารถเล่นได้ดีและแจ้งเกิดได้สำเร็จทุกคน เพราะหากในจำนวนนี้เกิดมีสัก 2-3 คน เล่นไม่เข้ากับทีม, ฟอร์มตก หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด “ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงขึ้นมา”

นอกจากจะทำให้มูลค่านักเตะที่ซื้อมาเพื่อเก็งกำไรลดต่ำลงแล้ว ต้นทุนที่ลงไปทั้งค่าเหนื่อยหรือค่าตัวที่ “เชลซี” จะต้องจ่ายให้กับ “ความไม่คุ้มค่า” ก็จะมีระยะเวลาที่ยาวนานด้วยเช่นกัน และที่สำคัญมากไปกว่านั้น “ด้วยทั้งค่าเหนื่อยและค่าตัว” ที่แพงลิบลิ่วนี้ หากเกิดไม่มีสโมสรที่มีฐานะทางการเงินในระนาบเดียวกันมาขอซื้อตัว “การปล่อยตัวนักเตะที่ไม่ต้องการก็จะแสนยากลำเค็ญไปด้วยแน่นอน!”

** หมายเหตุ ยูฟ่า เพิ่งปรับเปลี่ยนกฎ Financial Fair Play โดยมีการกำหนดเพดานสำหรับแต่ละสโมสรในการใช้จ่ายเงินค่าเหนื่อย, ค่าตัวนักเตะและเอเย่นต์เอาไว้ที่ 70% ของรายได้สโมสร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยูฟ่า ได้มีการผ่อนปรนให้ทุกสโมสรมีเวลาสำหรับการปรับตัวตามกฎนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี

และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมปี 2023 ที่ผ่านมา ยูฟ่า ได้ประกาศว่ากำลังจะมีการปรับเปลี่ยน กฎ Financial Fair Play ในกรณีที่มีการซื้อขายนักเตะที่มีอายุสัญญาเกินกว่า 5 ปี ค่าตัวนักเตะสุทธิ (Transfer fee) หรือค่าตัวนักเตะที่แต่ละสโมสรจะได้รับ ซึ่งจะไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเอเย่นต์ หรือเปอร์เซ็นต์การย้ายทีมที่นักเตะจะได้รับนั้น สามารถนำมาเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายตามอายุสัญญาของนักเตะได้ เพื่อเป็นการช่วยแต่ละสโมสรไม่ให้มีค่าใช้จ่ายในแต่ละปีที่สูงเกินไป โดยจะมีผลบังคับใช้ในช่วงตลาดซัมเมอร์ปี 2023 เป็นต้นไป และไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ฉะนั้น การช็อปปิ้งในตลาดฤดูหนาวของเชลซี จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงกฎนี้แต่อย่างใด **

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

กราฟิก Theerapong C.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง