กลายเป็นประเด็นร้อนในการแข่งขันซีเกมส์ 2023 ที่กัมพูชา เป็นเจ้าภาพ มีกำหนดกีฬา “กุน ขแมร์” มาแทน “มวยไทย” จนมีการโต้แย้ง ถึงขนาดบางประเทศเตรียมไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน แต่ถ้ามองเชิงศิลปะกีฬาการต่อสู้ มวยทั้งสองแบบมีอาวุธหนัก โดดเด่นใกล้เคียงกัน ถ้านำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน จะได้ยอดมวยรุ่นใหม่ มาประดับวงการระดับโลก

หากเปรียบมวยกันแบบหมัดต่อหมัด เชิงอาวุธของมวยทั้งสองแบบมีความแตกต่างกัน โดย “ดร.ยศพนธ์ สุกุมลนันทน์” ผู้ช่วยอธิบดีกรมพลศึกษา อธิบายให้ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ฟังว่า ศิลปะการป้องกันตัวในประเทศอาเซียนมีรากฐานเดียวกัน แต่ต่างกันเชิงเทคนิคการออกอาวุธ ทั้งนี้ การต่อสู้ด้วยมือเปล่าไม่ได้มีแค่ “มวยไทย” กับ “กุน ขแมร์” แต่เมียนมา ก็มีเรียกว่า “และเหว่” ประเทศลาว เรียกว่า “ไลลาว”

“มวยทุกชาติล้วนมีพื้นฐานใกล้เคียงกัน แต่พอมีการกำหนดกติกาแข่งขัน หลายประเทศมีการกำหนดกติกาของตัวเอง โดยไทยเริ่มมีกติการการชกมวย เมื่อมีเวทีมวยราชดำเนิน แต่มวยไทยแต่ละท้องถิ่นจะมีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น มวยหมัดหนักโคราช มวยไชยา มวยลิงลพบุรี”

เชิงวัฒนธรรมศิลปะการต่อสู้ของประเทศอาเซียน มีความใกล้เคียงกัน แตกต่างกันในรายเอียดเชิงเทคนิค แต่ถ้ามองในมุมแข่งขันระดับสากล กติกามวยไทย ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิก ดังนั้น การแข่งขันระดับนานาชาติ ควรยึดถือกติกา ที่ได้รับการรับรองระดับสากล กรณีดราม่าที่เกิดขึ้น ผู้พิจารณาคือ คณะมนตรีซีเกมส์

...

แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเชิงมวยของ มวยไทย และ กุน ขแมร์ มีความแตกต่างในการก้าวย่าง โดย กุน ขแมร์ มีเทคนิคการก้าวย่างเข้าหาคู่ต่อสู้แบบกระโดดเข้าหารวดเร็ว ส่วนมวยไทยค่อยๆ สืบเท้าช้ากว่า แต่เน้นความมั่นคง

การออกหมัด กุน ขแมร์ มีเทคนิคใช้หมัดฟาด เพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ แต่มวยไทยเน้นออกหมัด ด้วยสันหมัด ที่มีความหนักหน่วง ขณะเดียวกันมวยไทยไม่เน้นเทคนิค “ทุ่ม ทับ จับ หัก” แต่มวยกัมพูชา มีเทคนิคเหล่านี้ เพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ในระยะประชิด

ส่วนการฟันศอก กุน ขแมร์ เน้นศอกตัด ศอกตรง แต่มวยไทย มีศอกงัด ศอกตี ศอกกระทุ้ง ขณะที่การแทงเข่า มวยกัมพูชา เน้นเข้าที่ชายโครง ขณะที่มวยไทย เช่น ค่ายลูกพระบาท มีทั้งเข่าโค้ง เข่าตรง เข่าเจาะ สร้างยอดมวยระดับขุนเข่า มาประดับวงการแล้วหลายราย

“จุดเด่นมวย กุน ขแมร์ มีความว่องไว ในการเคลื่อนที่ทั้งรุกและรับ แต่ถ้าความหนักแน่นในการออกอาวุธ มวยไทยจะได้เปรียบกว่า แต่มวยทั้งสองแบบ ไม่ได้มีใครเหนือกว่าใคร แต่ถ้านักมวยหรือคนที่ศึกษา สามารถประยุกต์ใช้เทคนิคความโดดเด่นในเชิงมวยมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ จะทำให้พัฒนายอดมวยรุ่นใหม่ ที่มีความเก่งกาจมาประดับวงการได้”

ดราม่าที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้คนไทยและกัมพูชา มองในเชิงชาตินิยม เพราะทั้งสองประเทศก็ล้วนมีความโดดเด่นในเชิงมวยเหมือนกัน ที่ผ่านมาโปรโมเตอร์ไทย ไปจัดมวยในกรุงพนมเปญ บ่อยครั้ง ถือเป็นเรื่องดี ช่วยส่งเสริมวงการมวยในระดับภูมิภาค

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อยากให้คนในสังคมแยกเป็น 2 ประเด็นคือ กติกาการแข่งขันระดับชาติ ที่องค์กรกีฬาจะต้องไปประชุมลงความเห็นร่วมกัน แต่ประเด็นด้านวัฒนธรรม การต่อสู้ร่วมกัน มีมาแต่โบราณ จึงอยากให้นำส่วนดีของแต่ละประเทศ มาพัฒนาวงการมวยไทย เพื่อสร้างรายได้ และพัฒนาทักษะนักมวยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกต่อไป”.