ปี 2566 ถือเป็นการเปิดศักราช ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยอยู่ในอาการ “โคม่า” เพราะเจอพิษ “โควิด-19” จนหลายธุรกิจล้มหายตายจากไป แรงงานในระบบต้องดิ้นหนีตายไปทำอาชีพอื่น หรือบางคน ยอมที่จะไป “ตายเอาดาบหน้า” ด้วยการโดดทัวร์หนีไปทำงานต่างประเทศ...
ล่าสุด ทางการจีนได้ผ่อนปรนมาตรการ “Zero COVID-19” เปิดประเทศ โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ รวมถึงปล่อยให้คนจีนไปเที่ยวต่างประเทศ เพียงแต่ก่อนกลับประเทศ ต้องมีผลการตรวจ PCR ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งในประเด็นนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่าจะปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวจีนอย่างเท่าเทียม และลดหลั่นตามความเหมาะสม ซึ่งหากต้องตรวจก่อนกลับ ก็ขอให้มีการซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการตรวจรักษาโรคโควิด-19 เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระ ซึ่งคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทยในช่วง 3 เดือนแรก มกราคม-มีนาคม ประมาณ 3 แสนคน
...
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็เปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้จัดทำประกาศนักบิน (NOTAM) เรื่องข้อกำหนดในการเข้าประเทศไทยสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มใช้วันที่ 9 ม.ค. 2566 เวลา 08.00 น. ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2566 เวลา 00.59 น. โดยมีข้อปฏิบัติ 7 ข้อ ประกอบด้วย
1. ผู้โดยสารอายุมากกว่า 18 ปี ต้องแสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือจดหมายจากแพทย์ที่รับรองว่าหายจากโรคโควิด-19 แล้วไม่เกิน 6 เดือน (180 วัน) ส่วนผู้โดยสารที่ไม่ได้รับวัคซีน ต้องมีจดหมายจากแพทย์พร้อมแสดงเหตุผล
2. ผู้โดยสารที่มาจากประเทศที่มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดโควิด-19 เดินทางกลับเข้าประเทศ จะต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาเดินทางในประเทศไทย และบวกเพิ่มอีก 7 วัน สำหรับผู้มาประกอบภารกิจรวมถึงลูกเรืออาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพรับรองแทน
3. ผู้โดยสารที่ถือพาสปอร์ตไทย ได้รับการยกเว้นในการตรวจสอบเอกสารการได้รับวัคซีนและเอกสารประกันสุขภาพ
4. ผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่องหรือต่อเครื่อง ได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบเอกสารการได้รับวัคซีนและเอกสารประกันสุขภาพ โดยผู้โดยสารเหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดของประเทศปลายทาง
5. สายการบินต้องตรวจสอบเอกสารตามที่กล่าวมา ถ้าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารเหล่านี้ได้ สายการบินจะต้องปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารเดินทาง
6. สายการบินต้องยึดตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามคู่มือแนวทางตามความเหมาะสม เช่น ขอให้ผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากตลอดการเดินทาง ยกเว้นช่วงรับประทานอาหาร หรือในภาวะฉุกเฉิน ฯลฯ
7. ผู้โดยสารที่มีอาการของโรคโควิด-19 ระหว่างการเดินทาง จะได้รับการแนะนำให้ทำการตรวจการติดเชื้อ เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมาย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “เอกชน” ไม่มีประเด็นในเรื่องการเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนแต่อย่างใด เพียงแต่สิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมจัดการ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องคือ
1. สาธารณสุข : เรื่องนี้ นายอนุทิน รมว.สาธารณสุข ได้มีการประกาศไปแล้ว
2. การจัดการการบิน : เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนเท่าใดนักว่าจะมีการจัดการกันอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่การท่าอากาศยาน และกรมการบินพลเรือน ต้องหารือการจัดการในหลายประเด็น เช่น ความจุของสนามบิน การจัดการภาคพื้นดิน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐวิสาหกิจ และราชการต้องจัดการ
3. แรงงาน : โดยเฉพาะไกด์ ที่เป็นไกด์จริงๆ ซึ่งปัจจุบัน อาจจะมีจำนวนหนึ่งที่ไม่ต่อใบอนุญาต ก็ต้องกลับมาขอต่อใบอนุญาตให้เรียบร้อย รวมถึงรถที่ใช้ การปรับปรุงด้านภาษา ที่อาจจะต้องเติมในส่วนภาษาจีน
...
นายภูมิกิตติ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการอาจจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมมาก เพราะเราก็รับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว เงื่อนไขที่เกิดขึ้นทุกอย่างเกิดขึ้นจากทางภาครัฐ ถ้าหากมีการประเมินว่า จะมีคนจีนเดินทางมาอีก 5 ล้านคน ความจุสนามบิน ก็อาจจะแน่นๆ แล้ว ถ้ามาอีก 5 ล้าน ก็ต้องถามทางท่าอากาศยานว่ามีความพร้อมแค่ไหน พร้อมจริงไหม สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีคนเพิ่มแล้วใช่ไหม ทางสาธารณสุขเตรียมพร้อมแล้วใช่ไหม
ขากลับ กับขั้นตอนจัดการหากนักท่องเที่ยวมีผลบวก
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ย้ำว่า เงื่อนไขในการเดินทางเข้าไม่มีอะไรน่ากังวล...แต่ในการเดินทางออก จะมีการสวอบ (Swab) หากตรวจแล้วเป็นบวก ขั้นตอนหลังจากนี้คืออะไร...? แบบนี้คือสิ่งที่เรายังเห็น รู้แต่เงื่อนไขในการรับ แต่ออกล่ะ? ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เอกชนกำหนดไม่ได้ เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเป็นผู้กำหนดเท่านั้น โดยในชาติอื่นๆ ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับประเทศแล้ว
...
“สิ่งที่ รมว.สาธารณสุขพูดว่า ใช้มาตรการที่เท่าเทียมถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะเราไม่สามารถแยกแยะได้ อะไรที่เป็นหลักปฏิบัติสากล ก็นำมาปรับใช้กับนักท่องเที่ยวจีน แต่อะไรที่เป็นสิ่งที่ประเทศเขาต้องการ เช่น การตรวจ RT-PCR ก่อนกลับประเทศ 48 ชั่วโมง ก็ต้องจัดให้เขา อำนวยความสะดวกให้ โรงแรม ที่กักตัว”
เที่ยวบิน และความหนาแน่น ที่ต้องเร่งจัดการ
นอกจากปัญหาด้านสาธารณสุขแล้ว นายภูมิกิตติ์ รู้สึกเป็นห่วงเรื่องจราจรการบิน บุคลากรในการต้อนรับ และจัดการสนามบิน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า มี 15 สายการบิน แจ้งความประสงค์ทำการบิน เพื่อขอตารางทำการบิน (Slot) เส้นทางระหว่างไทย-จีนเข้ามาแล้ว แต่เพื่อลดความแออัด สนามบินสุวรรณภูมิ จึงประสานกับ กพท.เพื่อกระจายเที่ยวบินไปยังสนามบินในต่างจังหวัดมากขึ้น อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานและภาคใต้ โดยเฉพาะเส้นทางบินคุนหมิง-หาดใหญ่ ที่ต้องการกลับมาบินอีกครั้ง
“ตอนนี้ยังพอมีเวลาจัดการ เพราะไฟลต์บินที่เข้ามา ยังไม่เยอะ ไฟลต์บินที่จะมาภูเก็ตแบบบินตรง จะเริ่ม 18 มกราคม แต่ก็ต้องคิดและอำนวยความสะดวกในส่วนของสนามบิน และ ตม. เพิ่มอีกหน่อยก็จะดี ต้องคิดว่าทำอย่างไร ไม่ให้เป็นคอขวด ไม่ล่าช้า สำหรับตำแหน่งที่ขาดแคลนในเวลานี้ น่าจะมีมากกว่า 15,000 ตำแหน่ง”
...
**หมายเหตุ จากข้อมูล ที่หลายหน่วยงานในภาคท่องเที่ยวเก็บ ณ วันที่ 5 ธันวาคม พบว่า สถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการแรงงาน จำนวน 1,423 แห่ง รวม 17,173 อัตรา ส่วนมากคือ ธุรกิจโรงแรม ที่พัก ภาคบริการธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจ ซึ่งตำแหน่งที่ต้องการมากที่สุด คือ พนักงานต้อนรับส่วนหน้า รองลงมา คือ พนักงานบริการอาหารเครื่องดื่ม และพนักงานนวดสปา**
“การเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่สามารถเทียบกับปี 2019 ได้ เพราะนักท่องเที่ยวที่กลับมา ไม่เทียบเท่า ส่วนตัวมองว่านักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในเดือนมกราคม ไม่น่าจะมาก แต่หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น สาเหตุเพราะไฟลต์บินเข้าประเทศ ไม่ได้มากันง่ายๆ” นายภูมิกิตติ์ กล่าว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ