กลายเป็นกระแสวิจารณ์สนั่นโลกโซเชียล กรณีเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง จ.ชลบุรี อ้างว่าวัตถุคล้ายก้อนกรวดขนาดเล็กเป็นพระธาตุของแท้ เมื่อใส่เข้าไปในเปลือกตาก็ไม่ระคายเคือง มีพุทธคุณเสริมสิริมงคล ทำให้มีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งถ่ายคลิปพิธีกรรมลงบนโลกออนไลน์ ส่วนผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนา กล่าวว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่มีระบุไว้ในพุทธกาล พระธาตุที่อ้างเป็นเพียงสิ่งสมมติ
โดยคลิปพิสูจน์พระธาตุแท้ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 66 ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ได้เดินทางไปสอบถามเจ้าอาวาสรูปดังกล่าวที่ยอมรับว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ได้ศึกษามากว่า 40 ปี พระธาตุดังกล่าวเป็นของจริง เมื่อนำมาทดสอบจะไม่ระคายเคืองผิวมนุษย์ ลูกศิษย์จึงนำพระธาตุไปทดลองใส่ไว้ในเปลือกตา เมื่อลูกศิษย์ทดลองแล้ว อ้างว่าผิวของเปลือกตาไม่ระคายเคือง จึงเชื่อว่าพระธาตุนี้เป็นของจริง และเตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามากราบไหว้ขอพรที่วัด
ขณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาเตือนถึงพฤติกรรมดังกล่าว จะทำให้ดวงตาระคายเคือง เกิดการติดเชื้อขั้นรุนแรงจนตาบอดได้ จึงไม่ควรกระทำตามเป็นเด็ดขาด
...
สำหรับความเชื่อโบราณเกี่ยวกับพระธาตุ “อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และประวัติศาสตร์ศาสนา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตามตำราโบราณสมัยพุทธกาล ไม่มีพิธีกรรมที่นำพระธาตุมาใส่บริเวณเปลือกตา เพื่อทดสอบว่าเป็นของจริง ขณะเดียวกันก็ไม่มีกระบวนการที่จะทดสอบว่าพระธาตุเป็นของจริง หรือของปลอม จะมีแต่การเคารพเชื่อถือที่สืบทอดต่อกันมาเท่านั้น
โดยพระธาตุตามความเชื่อโบราณแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.พระบรมสารีริกธาตุ เป็นอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า 2.พระธาตุ อัฐิธาตุของพระสาวก หรือครูอาจารย์ผู้สำเร็จอรหันต์
“พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามีแบบที่เป็นอัฐิจริง ถูกส่งต่อมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กับอีกแบบที่มีจำนวนมากขณะนี้คือ ธาตุสมมติ โดยนำวัสดุจำพวกกรวด หิน หรือเศษแก้วต่างๆ มาแล้วสวมอ้างว่าเป็นพระธาตุ กรณีนี้จะเป็นคติความเชื่อใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล”
กรณีการอวดอ้างธาตุสมมติ ด้วยพฤติกรรมการโกหก ช่วงหลังพบลักษณะนี้จำนวนมาก หากเป็นพระสงฆ์ ถือว่าเข้าข่ายอวดอุตริ เพราะบางความเชื่อเกิดจากอุปทานส่วนตัวของพระสงฆ์รูปนั้น ก่อนส่งต่อให้ผู้ที่ศรัทธาเลียนแบบ ซึ่งถ้ามองในเชิงทางโลกคือ การสร้างเรื่องราวเพื่อให้เกิดจุดเด่นกับตัวเอง
หากมองตามความเชื่อโบราณ อัฐิธาตุของพระอรหันต์มีคุณวิเศษอยู่ในตัว เพราะบนสังขารจะมีการอธิษฐานจิตเพื่อทิ้งบารมีไว้ให้ค้ำจุนศาสนา หรือช่วยเหลือศิษย์ผู้ศรัทธา ดังนั้นการกราบไหว้จึงเป็นสิ่งมงคล โดยความเชื่อนี้สืบต่อกันมาเป็นพันปี
แต่ขณะนี้มีความสงสัยในกลุ่มผู้ที่ศึกษา กรณีที่กระดูกมนุษย์เมื่อเผาด้วยความร้อนอุณหภูมิสูง กระดูกจะเปลี่ยนเป็นผลึกใส ซึ่งเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ทางจิต เลยทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า กระดูกที่เปลี่ยนสีมาเป็นผลึกใส อาจไม่ใช่เครื่องยืนยันถึงความวิเศษของผู้นั้นเสมอไป เพราะเตาเผาศพสมัยใหม่ให้ความร้อนสูง ทำให้เกิดปฏิกิริยาลักษณะนี้ได้ ดังนั้นองค์ประกอบนี้เลยทำให้คนที่มีความเชื่อนี้อยู่เดิม เริ่มหันมาพิจารณาเป็นรายกรณีมากขึ้น
“ในไทยพระบรมสารีริกธาตุที่เป็นของพระพุทธเจ้า ที่มีการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ มีแห่งเดียวที่วัดภูเขาทอง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุตามวัดต่างๆ หากเป็นไปเพื่อการสืบต่อพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าสร้างความเชื่อเพื่อผลประโยชน์ จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ในลักษณะการหลอกลวง บิดเบือนให้คนในสังคมเกิดความงมงาย”
เหตุการณ์เกี่ยวกับความเชื่อหลายครั้งเกิดความผิดพลาดและบิดเบือนจากการกระทำของพระสงฆ์บ่อยครั้ง เนื่องจากพระสงฆ์ปัจจุบันบางรูปไม่ได้ศึกษาเหมือนกับยุคก่อน แต่อาศัยคำพูดที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นประชาชนทั่วไปต้องมีสติในการพิจารณาที่จะเชื่อสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินให้กับผู้ไม่หวังดี.