เหตุร้ายระหว่างการแข่งขันเจ็ตสกี ชิงแชมป์โลก ที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อนักแข่งชาวเกาหลีใต้ วัย 40 เกิดอุบัติเหตุร่างกระแทกกับคลื่นทะเล หมดสติเสียชีวิต ท่ามกลางปริศนาถึงความแรงของคลื่น เมื่อเสียหลักแล้วร่างกระแทกลอยละลิ่ว ทำให้หมดสติ ทั้งที่ใส่เสื้อชูชีพ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างแข่งขันเจ็ตสกี ชิงแชมป์โลก ที่พัทยา 17 ธ.ค. 65 เมื่อนักกีฬาทีมชาติเกาหลีใต้ เข้าสู่จุดสตาร์ตด้วยสีหน้า และร่างกายปกติ เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเจ็ตสกีพุ่งทะยานด้วยความเร็วสูง ปะทะยอดคลื่นในโค้งแรก แต่นักกีฬาแดนโสมเสียหลัก ร่างลอยละลิ่วกระแทกคลื่นอย่างแรง

จากนั้นทีมช่วยเหลือในสนามแข่งขันรีบเข้าไปช่วย พยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิต นำตัวส่งโรงพยาบาล แต่สัญญาณชีพนักแข่งรายนี้กลับไม่ตอบสนอง เบื้องต้นแพทย์สรุปการเสียชีวิตมาจากขาดอากาศหายใจ ขณะที่อาการบาดเจ็บส่วนอื่นของร่างกายไม่พบ

“พิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล” รองประธาน หน่วยกู้ภัยฮุก.31 ผู้เชี่ยวชาญการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางน้ำ กล่าวว่า ด้วยความที่เจ็ตสกี มีการใช้ความเร็วสูง เมื่อพลัดตกแล้วร่างกระแทกกับคลื่นบริเวณศีรษะ หรือช่วงต้นลำคอ จะทำให้หมดสติ กระดูกหัก และเสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็ว

"การแข่งขันกีฬาทางน้ำ เมื่อต้องใช้ความเร็ว พอเจอคลื่นซัดไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ จะมีแรงปะทะหนักหลายเท่าตัว เหมือนกับขับรถเร็วๆ แล้วพุ่งชนกำแพงคอนกรีต แม้น้ำทะเลจะเป็นของเหลว แต่ก็ทำให้เสียชีวิตมาแล้วหลายราย”

สำหรับอุบัติเหตุการแข่งขันกีฬาทางน้ำ การหมดสติของนักกีฬาสามารถเกิดขึ้นได้ ประกอบกับเสื้อชูชีพที่นักกีฬาใส่ เป็นแบบพยุงตัว ต่างจากเสื้อชูชีพทั่วไป ที่มีโฟมหนาบริเวณส่วนหน้าอก เมื่อตกน้ำส่วนอกจะลอยเหนือน้ำ ทำให้หายใจได้สะดวก

...

ส่วนเสื้อพยุงตัวที่นักกีฬาสวมใส่ เหมาะกับคนที่ว่ายน้ำเป็น แต่ก็มีความอันตราย หากนักกีฬาหมดสติ แล้วลอยตัวในท่าคว่ำหน้า เนื่องจากเสื้อพยุงตัว มีโฟมบริเวณหน้าอกน้อย ดังนั้นนักกีฬาที่ใส่ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา โดยจะต่างจากเสื้อชูชีพแบบปกติ ไม่ว่าจะตกน้ำท่าไหน แต่ชูชีพจะช่วยให้ร่างกายลอยตัวแบบหงายหน้า ให้หายใจได้สะดวก

"การขับเจ็ตสกี ที่ใช้ความเร็วสูง ถ้ามีการล้มในน้ำที่ผิดท่า และถูกแรงกระแทกของน้ำในส่วนที่เป็นจุดเปราะบางของร่างกาย จะทำให้กระดูกหัก เช่น การขับเจ็ตสกีด้วยความเร็ว เมื่อเสียหลัก ศีรษะของคนขับ ล้มแบบปักลงไปในน้ำ จะทำให้คนขับหมดสติและคอหักได้ทันที แม้จะสวมใส่หมวกกันน็อก"

การช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำ สิ่งสำคัญจะต้องช่วยให้ทันภายในเวลา 4 นาที ถ้าจมน้ำนานกว่านี้ มีโอกาสเสียชีวิตสูง และต้องทำการปั๊มหัวใจ เพื่อให้คนจมน้ำมีสติกลับคืนมา เพราะในการแข่งขันกีฬาทางน้ำ จะต้องเข้าไปช่วยเหลือนักกีฬาอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาเคยมีนักกีฬาเจ็ตสกีคนไทยซี่โครงหักระหว่างแข่งขัน โชคดีที่ทีมช่วยเหลือเข้าไปทันเวลา เพราะการบาดเจ็บลักษณะนี้ ทำให้สูญเสียการประคองตัวในน้ำ จนอาจจมน้ำเสียชีวิตได้

สำหรับผู้ที่สนใจการเล่นกีฬาทางน้ำ ควรใส่เครื่องป้องกัน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับการบาดเจ็บ ขณะที่ผู้จัดควรมีทีมช่วยเหลือที่พร้อมเข้าไปช่วยทันที เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายลักษณะนี้ขึ้นอีก.