ไทยเราได้มีโอกาสชื่นใจอีกครั้ง เมื่อได้เห็นตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ "ทะลุ 10 ล้านคน" เป็นที่เรียบร้อย เมื่อ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา แม้ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับก่อนการระบาดโควิด-19 แต่ก็เป็นสัญญาณเชิงบวกเกินคาดกว่าที่หลายๆ คนคิดเอาไว้ และถือว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยังเป็นความหวังของไทย นับจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เจอมรสุมอย่างหนักหน่วงที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา จากการปิดประเทศ จนนักท่องเที่ยวหายไป แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่จะเป็นเรือธง ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้อีกทางหนึ่ง แม้กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เป็นเป้าหมายของธุรกิจท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมา จากการที่จีนยังไม่ผ่อนคลายมาตรการมากนัก แต่ในปี 2566 หลายฝ่ายต่างฟันธงว่า ยังพอเห็นถึงโอกาสที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ในเวที "สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO" นโยบายพลิกโฉมท่องเที่ยวต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคเปลี่ยนผ่านสู่ Post-Pandemic "นายยุทธศักดิ์ สุภสร" ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พูดถึงสถานการณ์ของการฟื้นของธุรกิจท่องเที่ยวไทยไว้น่าสนใจ พร้อมกับฉายภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในปี 66 

...

"ผู้ว่าฯ ททท." พามองย้อนกลับไปดูภาคท่องเที่ยวไทย เมื่อปี 2562 ก่อนการระบาดโควิด-19 ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณ 17% มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศรวมเกือบ 40 ล้านคน เป็นท่องเที่ยวในประเทศ 172 ล้านคนต่อครั้ง ทั้งมูลค่ารวมทั้งสองตลาด กว่า 3 ล้านล้านบาท แต่เมื่อถึงช่วงเดือนเมษายน 2563 การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดน่านฟ้า ในช่วงการระบาด มีความพยายามฟื้นการท่องเที่ยวมาเป็นระยะ ทั้ง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ มาถึงปี 2564 มีการระบาดของเชื้อโอมิครอนสถานการณ์ดีขึ้นและตัวเลขนักท่องเที่ยวลงมาเหลือ เเค่ 4 แสนกว่าคน

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

แต่เมื่อมาถึงปี 2565 มีการตัดสินใจเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งทำให้ ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 10.3 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 6-7 หมื่นคน กลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยว จาก มาเลเซีย อินเดีย ที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้ เริ่มมีนักท่องเที่ยวรัสเซีย เข้ามา วันละประมาณ 5,000 คน เป็นผลจากมีการเพิ่มเที่ยวบินจากรัสเซียบินตรงมายัง กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเริ่มมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินตรงมาลงสนามบินอู่ตะเภา คาดว่า ในปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีถึง 11.5 ล้านคน เมื่อรวมกับการท่องเที่ยวในประเทศ 175 ล้านคนต่อครั้ง รายได้รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ครึ่งหนึ่งของมูลค่ารวม ปี 62

แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะน้อยแต่รายได้ก็สูง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อมาแล้วจะพักอยู่ไทยค่อนข้างนาน ค่าเฉลี่ยต่อคนต่อทริป ในช่วงไตรมาสแรกของปี ขึ้นไปที่ 77,000 บาท และลดลงมาในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นช่วงท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ทำให้ค่าใช้จ่าย ลงมาที่ 55,000 บาท ต่อคนต่อทริป ยังสูงกว่าช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งอยู่ที่ 48,000 บาทต่อคนต่อทริป ขณะเดียวกัน หลายประเทศยังไม่เปิดการท่องเที่ยว ทำให้คนไทยยังคงท่องเที่ยวใช้จ่ายอยู่ในประเทศด้วย จึงทำให้บรรลุเป้าหมายในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา

ส่วนปี 2566 รัฐบาลมีการตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยว ประมาณ 80% ของรายได้ที่เคยทำได้ไว้ในปี 62 ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว 50% ของปี 62 หรือ ประมาณ 20 ล้านคน แต่มีเงื่อนไขสำคัญที่อยากจะพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยไม่อยากให้กลับไปเป็นแบบเดิม แต่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ แต่ให้รายได้เป็นไปตามเป้า ภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยน่าจะออกมาในลักษณะ วีเชฟ และ "ไทยน่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวเร็วที่สุดในโลก" ซึ่งยังไม่รวมจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่ได้เข้ามาท่องเที่ยวในไทย

...

ตลาดสำคัญอย่าง "จีน" หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางมาเยือนไทย มีการนำเสนอข้อมูลเชิงบวก ทำให้เกิดการรับรู้ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น จีนแม้ประชาชนจะอยู่ในมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ก็ยังอนุญาตให้บางส่วนเดินทางได้ กลุ่มของนักธุรกิจและนักเรียน มีการประเมินไว้ว่า นักท่องเที่ยวจีนอาจจะเริ่มกลับมาในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า เพราะจะมีการจัดประชุมของ 2 สภา เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวจีนก็คงอยากจะมาด้วยอารมณ์ ที่เรียกว่า "revenge spending" หรือการ "เที่ยวล้างแค้น"

"ในช่วงที่ผ่านมาพยายามทำให้ประเทศไทยเป็น "top of mind" ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้นักท่องเที่ยวอยากจะมาท่องเที่ยวในไทย"

มีการสำรวจว่า หากเปิดให้คนจีนเดินทางได้ จะไปที่ไหน? คำตอบคือ มีไทยเป็นหนึ่งในใจ ซึ่งคนจีนชอบอาหารไทย ชอบทะเลเมืองไทย และแนวคิดบ้านพี่เมืองน้อง ทำให้ไทยยังคงเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวในใจคนจีน แต่หลังจากนั้นมา มีการประท้วง และมีการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดในจีน นักท่องเที่ยวจีนอาจเข้ามาเที่ยวไทยเร็วขึ้น จับตาในช่วงตรุษจีนช่วงเดินมกราคม แต่ด้วยนโยบายของจีน ก็อาจไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า แต่เชื่อว่าจะมีการเปิดประเทศแบบเป็นขั้นเป็นตอน อาจเริ่มจากบางพื้นที่ก่อน รวมทั้งอาจจะอนุญาตให้เดินทางไปได้เฉพาะบางประเทศ ซึ่งก็หวังว่าหนึ่งในนั้นจะเป็นประเทศไทย

...

นักท่องเที่ยวอินเดีย ก็มองไทยเป็นอีกจุดหมายหนึ่งในการท่องเที่ยวของกลุ่มนี้ ต้องยอมรับว่า พฤติกรรม ก็อาจแตกต่างจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ก่อนหน้านี้ มีเรื่องของการจัดงานแต่งงานของคนอินเดียที่นิยมมาจัดในไทยแบบที่จองทั้งโรงแรม และมีเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัว จุดหมายปลายทางที่กลุ่มนี้นิยม ก็คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเริ่มกระจายตัวไปที่ กระบี่ ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีกว่า 876,734 คน ในปี 2566 คาดว่า นักท่องเที่ยวอินเดียจะยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะได้เห็นตัวเลข 7 หลัก แต่กลุ่มนี้ มาเป็นครอบครัว ก็อยากจะได้เรื่องของการลดค่าธรรมเนียมวีซ่า ในสถานการณ์ที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา อินเดีย ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีศักยภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยทะลุเป้าหมาย 20 ล้านคน ในปี 2566

นักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดหลักของไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก่อนโควิด-19 ระบาด มีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถึงเกือบ 2 ล้านคน หากไม่มีสถานการณ์การสู้รบ ก็ยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ขณะที่กลุ่มยุโรป แม้ว่า ไม่ได้เป็นคู่กรณีกับความขัดแย้งโดยตรง แต่ก็มีผลกระทบเรื่องราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น พลังงานไม่เพียงพอ ประกอบกับอากาศหนาว จึงมีการประสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เดินทางมาเที่ยวไทย ซึ่งเป็นประเทศที่อบอุ่นตลอดเวลา แต่ก็มีผลกระทบด้านการบิน จำนวนที่นั่งไม่พอ จึงมีการประสานสายการบินเพื่อเพิ่มที่นั่งและความถี่เที่ยวบิน 

นักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลาง เป็นตลาดที่มาเติมในช่วงที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปลดลง โดยเฉพาะหลัง เดือนรอมฎอน จะมาท่องเที่ยวจำนวนมาก นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ที่ยังไม่รวมจากซาอุดีอาระเบีย มีจำนวนหลักแสนคน แต่หลังจากที่ไทย ฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้ มีนักท่องเที่ยว เฉพาะซาอุฯ เข้าไทย กว่า 9 หมื่นคน และปีหน้าคาดว่าจะมีถึง 2 แสนคน เช่นเดียวกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน ซึ่งมีการวางแผนจะทำตลาดกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างจริงจัง

...

"ไทยเที่ยวไทยยังจำเป็น" ต้องพยายามสร้างการท่องเที่ยวในไทยให้เป็นขาที่มั่นคง แม้ว่าเวลาที่มีปัญหานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหายไป เราจะฟื้นได้เร็ว จึงพยายามตรึงให้รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวในประเทศให้ได้ 36% แต่ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย ก็ยังให้ความสำคัญกับวันหยุดและวันหยุดยาว จะแน่นแค่บางช่วงเวลา เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาค การส่งเสริมเที่ยววันธรรมดา

"ปัญหา คือ การกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เรารู้ว่ามีดีมานด์ แต่ในช่วงโควิดระบาดแรงงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจออกไป เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวกลับมา ต้องยอมรับว่ามีปัญหานักท่องเที่ยวที่มาประจำก็คาดหวังกับการบริการที่ดี แต่เมื่อมาแล้วเจอการบริการที่เกิดปัญหาจากความล่าช้าของการปรับตัว จึงต้องพยายามเพิ่มทักษะและหาแรงงานป้อนธุรกิจ"

นโยบายที่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ท่องเที่ยวไทยปีหน้าเป็นไปตามเป้า?

ต้องทำเรื่อง Ease of Traveling หรือ การอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ต้องทำข้อจำกัดในการเดินทางให้น้อยที่สุด เพราะในช่วงโควิด คนเบื่อกับสถานการณ์ที่ไปไหนก็มีข้อจำกัดที่ต้องตรวจคัดกรอง ต้องมีการขยายเวลาพำนักให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งหลายคนก็อยากจะอยู่ให้นานขึ้น ต้องมองนักท่องเที่ยวคุณภาพ 3 กลุ่ม คือ 1.คนที่มาบ่อย 2.คนที่อยู่นาน 3.คนที่มาแล้วใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็กลับมาด้วยความคาดหวัง จึงต้องมีการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย หาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มารองรับ เช่น กลุ่มที่สนใจเรื่องสุขภาพ กลุ่มคู่รักฮันนีมูน หรือ ชูเรื่องของความยั่งยืน ให้ตอบสนองนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ขอบคุณภาพจาก ททท.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง