การโคจรมาพบกันระหว่างทีมที่ได้ชื่อว่า มีสถิติการยิงประตูสูงสุด กับ ทีมที่มีสถิติเกมรับเหนียวแน่นที่สุด ในรอบรองชนะเลิศ "ฟุตบอลโลก 2022" ที่ประเทศกาตาร์ มีสถิติอะไรที่น่าสนใจ รวมถึง มีสถิติอะไรที่พอจะบ่งชี้ได้ถึง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ของทีมแชมป์โลก 2 สมัย อย่าง “ทีมชาติฝรั่งเศส” และ ทีมม้ามืดประจำฟุตบอลโลกครั้งนี้ อย่าง “ทีมชาติโมร็อกโก” ได้บ้าง วันนี้ “เรา” ค่อยๆไปร่วมกันพิจารณาทีละประเด็น
สถิติการลงเล่น :
ทีมชาติฝรั่งเศส : เล่น 5 นัด 450 นาที ชนะ 4 เสมอ แพ้ 1 (รอบแรก)
ยิง 11 ประตู เสีย 5 ประตู
ทีมชาติโมร็อกโก : เล่น 5 นัด 480 นาที ชนะ 3 เสมอ 2 (ชนะจุดโทษ 1)
ยิง 5 ประตู เสีย 1 ประตู (ทำเข้าประตูตัวเอง)
...
จุดแข็งของทั้ง 2 ทีม :
เกมรุกของฝรั่งเศส :
เกมรุกอันน่าทึ่งและดุดัน ทั้งๆที่ทีมขาดกลจักรสำคัญอย่าง “พอล ป็อกบา” , “เอ็นโกโล ก็องเต” และ “คาริม เบนเซมา” หากแต่การกลับมาเกิดใหม่ของ “อองตวน กรีซมันน์” (3 Assist) และ “โอลิวิเยร์ ชิรูด์” (4 ประตู) เมื่อบวกกับพลังทะลุทะลวงอันดุดันของ “คีเลียน เอ็มปัปเป” (5ประตู) ทำให้เกมรุกของฝรั่งเศสเต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพและเฉียบคมอย่างแท้จริง
โดยจากสถิติ 11 ประตูที่ทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้ทำได้ มาจากการกระหน่ำยิงถึง 78 ครั้ง เข้ากรอบ 28 ครั้ง (35.9%) โดยค่าเฉลี่ยต่อนัด มีโอกาสยิงฝ่ายตรงข้ามถึง 15.60 ครั้งต่อเกม ขณะที่ประสิทธิภาพของโอกาสยิงต่อครั้ง (xG) อยู่ที่ 9.55!
และแน่นอน “คีเลียน เอ็มปัปเป” คือ นักเตะที่อันตรายที่สุดในแผงกองหน้าของฝรั่งเศส โดยกระหน่ำยิงไปถึง 22 ครั้ง เข้ากรอบ 10 ครั้ง (45.5%) ได้มา 5 ประตู ประสิทธิภาพของโอกาสยิงต่อครั้ง (xG) อยู่ที่ 2.8 และมีค่าเฉลี่ยระยะทางในการเลี้ยงเข้าไปยิงประตูที่ระยะ 15.9 หลา จากประตูฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า “สปีดความเร็ว” ในการกระชากบอลซึ่งสามารถพาตัวเองเข้าสู่พื้นที่สังหาร คือ อาวุธเด็ดของกองหน้ารายนี้อย่างแท้จริง
เกมรับของโมร็อกโก :
จากการลงเล่น 5 นัด ทีมชาติโมร็อกโก เพิ่งเสียไปเพียง 1 ประตูเท่านั้นในฟุตบอลโลกครั้งนี้ แถมประตูที่เสียไปยังเป็นการทำเข้าประตูตัวเองเสียด้วย ทำให้เก็บคลีนชีตได้ถึง 4 นัด ซึ่งสถิติการป้องกันอันแข็งแกร่งในระดับนี้ เคยส่งให้ ทีมชาติสเปน และ อิตาลี คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้วในปี 2010 และปี 2006 โดยทั้งคู่เก็บคลีนชีตได้ 5 นัด ก่อนก้าวขึ้นเป็นแชมป์โลก!
โดยสถิติที่บ่งบอกถึงเกมรับอันแข็งแกร่งของโมร็อกโก คือ สถิติการเข้าเสียบสกัดรวมกันทั้งทีมที่สูงถึง 104 ครั้ง สำเร็จ 63 ครั้ง (60.58%) นอกจากนี้ยังเป็นทีมที่มีสถิติการเคลียร์บอลออกจากพื้นที่อันตรายสูงได้ถึง 144 ครั้งด้วย ซึ่งนักเตะที่มีสถิติการเข้าสกัดสูงสุดคือ “อาชราฟ ฮาคีมี” แบ็กขวาจอมแกร่งจาก สโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ซึ่งมีสถิติเข้าเสียบสกัด 19 ครั้ง ชนะ 13 ครั้ง (68.42%)
...
สถิติการครองบอล :
ฝรั่งเศส : มีสถิติการครองบอลเฉลี่ย 54.8% (อันดับที่ 9 ของฟุตบอลโลกครั้งนี้)
จำนวนครั้งการสัมผัสบอลรวม : 3,504 ครั้ง จากนักเตะรวม 24 คน (เฉลี่ยคนละ 146 ครั้ง)
พื้นที่การครอบครองบอล :
พื้นที่กรอบเขตโทษตัวเอง 269 ครั้ง (7.68%)
แดนหลัง 921 ครั้ง (26.28%)
แดนกลาง 1,705 ครั้ง (48.66%)
แดนหน้า 919 ครั้ง (26.23%)
พื้นที่กรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้าม 136 ครั้ง (3.88%)
โมร็อกโก : มีสถิติการครองบอลเฉลี่ย : 32.4% (อันดับที่ 31 ของฟุตบอลโลกครั้งนี้) จำนวนครั้งการสัมผัสบอลรวม : 2,390 ครั้ง จากนักเตะรวม 22 คน (เฉลี่ยคนละ 108 ครั้ง)
พื้นที่การครอบครองบอล :
พื้นที่กรอบเขตโทษตัวเอง 372 ครั้ง (15.56%)
แดนหลัง 1155 ครั้ง (48.33%)
แดนกลาง 892 ครั้ง (37.32%)
แดนหน้า 368 ครั้ง (15.40%)
พื้นที่กรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้าม 51 ครั้ง (2.13%)
...
จากสถิติจะเห็นได้ชัดว่า “โมร็อกโก” เน้นการเล่นแบบรัดกุมแล้วอาศัยการโต้กลับอย่างฉับพลันเป็นหลัก ในขณะที่ “ฝรั่งเศส” จะเน้นเกมรุกชนิดเต็มสูบ
โดยนักเตะที่น่าจับตาในแดนกลางของ โมร็อกโก คือ Holding Midfield ที่มีชื่อว่า “อัซเซดีน โอนาฮี” นักเตะวัยเพียง 22 ปี จากสโมสรอองเชร์ ในลีกเอิง ซึ่งมีสถิติเข้าเสียบสกัดสำเร็จสูงถึง 87.50% และมีสถิติผ่านบอลสำเร็จสูงถึง 77.8%
ส่วนนักเตะในแผงมิดฟิลด์ของฝรั่งเศสที่น่าจับตา คือ “โอเรเลียง ชูอาเมนี” มิดฟิลด์วัย 22 ปี จาก รีล มาดริด ซึ่งรับบทมิดฟิลด์ Box to Box แทน “เอ็นโกโล ก็องเต” ได้อย่างไร้ที่ติ โดยลงเล่น 5 นัด เป็นตัวจริง 5 นัด รวมเวลาในสนาม 411 นาที ซึ่งมากที่สุดของทัพเลอ เบลอส์ ในฟุตบอลโลกครั้งนี้
โดยนอกจากจะยิงได้ 1 ประตู แล้ว แข้งดาวรุ่งผู้นี้ ยังมีสถิติการผ่านบอลถึง 355 ครั้ง สำเร็จ 331 ครั้ง (93.2%) โดยคิดเป็นระยะทางในการส่งบอลรวมกันถึง 5,847 หลา โดยในจำนวนนี้ยังเป็นการส่งบอลระยะไกลเกิน 30 หลา ถึง 31 ครั้ง สำเร็จ 23 ครั้ง (74.2%) ซึ่งมากที่สุดในทีมอีกเช่นกัน!
...
สถิติการยิงประตู :
ทีมชาติฝรั่งเศส :
ยิง 78 ครั้ง เข้ากรอบ 28 ครั้ง ได้ 11 ประตู (35.9%)
ค่าเฉลี่ยยิงประตูต่อนัด 15.60 ครั้ง ค่าเฉลี่ยยิงเข้ากรอบต่อนัด 5.60 ครั้ง
ประสิทธิภาพของโอกาสยิงประตูต่อครั้ง (xG) 9.5
ทีมชาติโมร็อกโก :
สถิติการยิงประตู :
ยิง 39 ครั้ง เข้ากรอบ 13 ครั้ง ได้ 5 ประตู (33.3%)
ค่าเฉลี่ยยิงประตูต่อนัด 7.31 ครั้ง ค่าเฉลี่ยยิงเข้ากรอบต่อนัด 2.44 ครั้ง
ประสิทธิภาพของโอกาสยิงประตูต่อครั้ง (xG) 4.5
นักเตะที่น่าจับตา :
ทางด้านฝรั่งเศส “คีเลียน เอ็มปัปเป” คือ มหันตภัยร้ายดังที่ “เรา” ได้ร่ายยาวไปแล้วตั้งแต่ช่วงบรรทัดแรกๆ ส่วนทางฝ่าย “โมร็อกโก” นักเตะที่อันตรายมากที่สุดในแนวรุกชุดนี้ ย่อมหนีไม่พ้น “ฮาคิม ซิเยค” โดยยอดมิดฟิลด์เชิงสูงจากเชลซีรายนี้ นอกจากยิงได้ 1 ประตูแล้ว ยังทำสถิติสร้างโอกาสในการยิงประตูให้กับทีมได้ถึง 11 ครั้ง จากทั้งหมด 66 ครั้ง (16.67%) โดยแบ่งเป็นการผ่านบอลขณะเคลื่อนที่ 5 ครั้ง , ลูกนิ่ง 4 ครั้ง , เลี้ยงบอลจนนำไปสู่การยิงประตูอีก 2 ครั้ง เรียกได้ว่าเป็น หัวใจสำคัญในแนวรุกของทีม Atlas Lion เลยก็ว่าได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :