การตบเท้าออกมาให้ข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุขไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้คนไทย ต้องหันกลับมาตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง เมื่อการระบาดกำลังกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นอีกระลอก โดยข้อมูลจาก "กรมควบคุมโรค" ที่มีนัยสำคัญ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณของการกลับมาระบาดเพิ่มขึ้น คือ ตัวเลขผู้ป่วยโควิดรายสัปดาห์ ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ในช่วง วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 4,914 คน เฉลี่ยวันละ 702 ราย เพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันคน จากสัปดาห์ก่อนหน้า ช่วงวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน ที่พบผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล 3,957 คน ขณะที่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 319 ราย และเสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ยวันละ 10 ราย

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว และเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่า การระบาดจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ช่วงนี้ประชาชนมีความต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้นด้วย จึงมีการสั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เปิดจุดฉีดวัคซีนบริการประชาชน ถึงขนาดที่ว่า แม้จะมีคนมาฉีดเพียงคนเดียว ก็เปิดขวดวัคซีนฉีดให้ โดยเฉพาะ กลุ่มที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน และ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19

...

“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ลงพื้นที่ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เพื่อหาสำรวจว่า คนไทย ตื่นตัวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื่อกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างไร? และ ให้ความสำคัญกับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากน้อยแค่ไหน?

ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 ถือเป็นหนึ่งในศูนย์ฉีดวัคซีนของ "สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร" เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาตั้งแต่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้ว และเปิดฉีดวัคซีนมาต่อเนื่อง เดิมศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งนี้เปิดให้บริการในช่วงวันจันทร์ - วันศุกร์ แต่พบว่า ช่วงกลางปีที่ผ่านมายอดของผู้มารับบริการลดลง เพราะตอนนั้น เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสถานการณ์การระบาดกำลังดีขึ้น คนติดเชื้อลดลง จึงมาใช้บริการน้อยลง 

ทำให้ศูนย์ฯ ตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนมาให้บริการ เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา แต่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกัน ที่พบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผู้มาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น จากวันละ 500 - 600 คน เพิ่มเป็น กว่า 1,000 คน

บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด19 ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด19 ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

ศูนย์ฯ มีการประเมินว่า แนวโน้มการระบาดที่มากขึ้น จะทำให้มีผู้มารับวัคซีนมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย จึงมีการขยายการฉีดวัคซีนให้ต่อเนื่องในเดือนธันวาคมนี้ และเตรียมการรับมือในเดือนมกราคมปีหน้า เฝ้าระวังแนวโน้มหลังเทศกาลปีใหม่ว่า ยอดผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนอาคารกีฬาเวสน์ 1 เปิดจองคิวผ่านระบบ QueQ และ รับ walk in รองรับคนที่จะมาฉีดวัคซีนได้กว่า 2,000 คนต่อวัน ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงที่การระบาดเพิ่มขึ้น จะเป็นผู้มาฉีดวัคซีนถึง 1,700 - 1,800 คนต่อวัน

...

บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด19 ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด19 ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ "คุณกฤษรัตน์ เกตุสุวัฒนาวินิจ" อายุ 65 ปีซึ่งตัดสินใจเดินทางฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 5 เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 และช่วงปลายปีนี้ จะเดินทางไปต่างจังหวัด แม้จะรอดจากการติดโควิด-19 มาทุกซีซั่น เพราะเป็นคนระวังตัว หลีกเลี่ยงการไปที่ที่มีผู้คนแออัด แต่ก็ไม่วางใจ พราะคนรอบตัวก็ได้รับเชื้อกันหมด

กฤษรัตน์ เกตุสุวัฒนาวินิจ ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด19
กฤษรัตน์ เกตุสุวัฒนาวินิจ ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด19

...

คุณกฤษรัตน์ เล่าว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนได้พาคุณแม่ วัย 88 ปี มาฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 เช่นกัน ครั้งนั้นคนที่มาฉีดวัคซีนไม่เยอะ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็เสร็จ แต่มาถึงวันนี้ สังเกตว่าต่างกันชัดเจน เพราะใช้เวลานานขึ้นถึง 2 ชั่วโมง และมีผู้คนหนาตา โดยเฉพาะจุดที่นั่งพักคอยสังเกตอาการ เก้าอี้ไม่ว่างเลย และบางช่วงก็ไม่พอนั่ง ซึ่งต่างจากวันที่พาคุณแม่มาฉีด คิดว่าคนกลับมาให้ความสำคัญกับการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากขึ้น เพราะช่วงนี้ใกล้ถึงช่วงวันหยุดยาวที่คนจะมีการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะต้องรักษาตัวเองไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าในวันข้างหน้าจะได้รับเชื้อมาจากที่ไหน “คิดว่าทุกคนก็คงตระหนักและเป็นห่วงตัวเอง”

ขณะที่ "คุณอริยา ศรีสวัสดิ์" ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลางปี แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมาแล้ว 4 เข็มแต่ก็ยังติดเชื้อ และมีอาการค่อนข้างรุนแรง ทำให้ตัดสินใจว่าต้องมาฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ "ในช่วงที่ผ่านมาได้เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แล้วก็พบกับคนใกล้ชิดเริ่มติดเชื้อโควิด-19 กันมากขึ้น ทำให้ไม่มั่นใจว่าการระบาดจะรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่" และที่บ้านก็มีแม่เป็นผู้สูงอายุอยู่ด้วย ขนาดตัวเองมีสุขภาพแข็งแรง แต่เมื่อติดแล้วก็ยังมีอาการรุนแรง เลยนึกถึงที่บ้าน หากพ่อและแม่ซึ่งมีอายุมาก หากติดเชื้อร่างกายก็อาจสู้ไม่ไหว ซึ่งเทศกาลปีใหม่นี้ ตั้งใจไว้ว่าจะกลับไปที่บ้าน จึงเลือกที่มาฉีดวัคซีนป้องกันเอาไว้ก่อน

...

อริยา ศรีสวัสดิ์ , พิษณู พิกุลปาน ,  พนิตนาฏ สังข์วิจิตร  ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด19
อริยา ศรีสวัสดิ์ , พิษณู พิกุลปาน , พนิตนาฏ สังข์วิจิตร ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด19

"คุณพนิตนาฏ สังข์วิจิตร" ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนอีกคน เล่าว่า เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 4 เข็ม แต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19 ได้ จึงตัดสินใจเดินทางมารับวัคซีนเข็มที่ 5 เพราะกังวลกับการระบาดของโควิด-19 ที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น แม้จะใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 มาแล้วหลายปี ก็กลัวว่าจะมีโอกาสที่จะกลับไปติดเชื้ออีก เพราะการระบาดระลอกที่กำลังเผชิญอยู่ไม่รู้ว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ถ้ามีโอกาสฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีก เข็มที่ 6 จะตัดสินใจฉีดอีก

“การมารับวัคซีนครั้งนี้ก็เหมือนสร้างความอุ่นใจเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวังตัวเองเหมือนเดิม”

หลายคนพูดถึงวัคซีนเจเนอเรชันใหม่ แต่จนถึงขนาดนี้ก็ยังไม่ได้มีการนำมาฉีดในบ้านเรา ซึ่งหากเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าให้รอ ก็คงรอไม่ไหว ตอนนี้มีอะไรที่สามารถป้องกันตัวเองได้ก่อน ก็ควรที่จะรับวัคซีนก่อน

บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด19 ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
บรรยากาศประชาชนรอฉีดวัคซีนโควิด19 ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

"คุณเบญญาภา จันทร์เทศ" ฉีดวัคซีนมาแล้ว 3 เข็ม และเคยติดโควิด-19 มาแล้ว เห็นคนใกล้ตัวมีความตื่นตัวกับการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นกันมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานที่ก็มีความกังวลว่าอาจจะมีการติดเชื้อในที่ทำงาน ก็เริ่มหาข้อมูลเพื่อที่จะพากันไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะที่คนใกล้ตัวก็เริ่มมีการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นเช่นกัน จึงตัดสินใจมาฉีดวัคซีนและพาคนที่บ้านมาฉีดด้วย 

"คิดว่า วัคซีนยังเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์แบบนี้ แม้ว้าจะเคยติดเชื้อมาแล้ว แต่ก็กังวลเพราะยังมีคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19" ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่น 608 หรือ คนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน ตรงนี้ทำให้ยิ่งกังวลและไม่อยากจะติดอีก เพราะแม้จะหายแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าร่างกายไม่ปกติ รู้สึกเหนื่อยง่าย จึงเลือกที่จะมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม 

สิ่งสำคัญที่ "กระทรวงสาธารณสุข" เน้นย้ำ คือการให้คนไทยทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบอย่างน้อย 4 เข็ม และผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 4 - 6 เดือน ควรรีบไปฉีดวัคซีนเข็มถัดไป เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน หากติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง และลดโอกาสการเสียชีวิต.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง