ไม่ว่าจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือ การสร้างทฤษฎีสมคบคิดมากมายกี่ทฤษฎี กับ ประตูที่ 2 ของ "ทีมชาติญี่ปุ่น" ที่นำไปสู่ชัยชนะเหนือ "ทีมชาติสเปน" แชมป์โลก 1 สมัย และ แชมป์ยุโรป อีก 2 สมัย และยังเป็นผลให้ ทีมแชมป์โลก 4 สมัย อย่าง อินทรีเหล็ก "ทีมชาติเยอรมนี" ต้องตกรอบแรก "ฟุตบอลโลก 2022" ไปอย่างเจ็บปวด แต่ในเมื่อมีการตัดสินด้วยเทคโนโลยี VAR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดของวงการกีฬาไปแล้วว่า “ลูกเจ้าปัญหานี้คือประตู” ทีมชาติญี่ปุ่นชุดนี้ จึงได้ชื่อว่า สามารถผ่านเข้าไปเล่นใน "รอบ 16 ทีมของฟุตบอลโลก" ด้วยสถิติที่ “สวยงามที่สุดในประวัติศาสตร์” ตั้งแต่สามารถผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 1998 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน!

ปัจจุบัน :

ญี่ปุ่น ทำสถิติอะไรแล้วบ้างในฟุตบอลโลก 2022 :

...

1. เอาชนะทีมที่เคยเป็นแชมป์โลกรวมกัน 5 สมัย อย่าง เยอรมนี (4 สมัย) และ สเปน (1 สมัย) ได้สำเร็จ

2. ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกได้ติดต่อกันเป็นครั้งแรก (ปี 2018 และ 2022) และยังเข้ารอบในฐานะทีมอันดับหนึ่งของกลุ่มได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2002 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้ด้วย

3. ญี่ปุ่นกลายเป็นทีมที่ 3 ต่อจาก ทีมชาติบราซิล (ปี 1938) และ เยอรมนี (ปี 1970) ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่ถูกทำประตูนำในครึ่งแรกแล้วกลับมาชนะได้ถึง 2 นัด

4. ในเกมที่เอาชนะทีมชาติสเปนได้สำเร็จ ญี่ปุ่นมีเปอร์เซ็นต์การครองบอลเพียง 18% ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่ต่ำที่สุดสำหรับทีมที่เก็บชัยชนะในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ (**หมายเหตุเริ่มมีการเก็บบันทึกสถิติครั้งแรกเมื่อปี 1966**)

และจากผลงาน แข่ง 3 นัด ชนะ 2 นัด แพ้ 1 ยิงประตูได้รวม 4 ประตู เสีย 3 ประตู (+1) เก็บไป 6 คะแนน ทำให้ "ทีมชาติญี่ปุ่น" ได้เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฐานะทีมอันดับหนึ่งของกลุ่ม E โดยจะเข้าไปพบกับ "ทีมชาติโครเอเชีย" ทีมอันดับสองของกลุ่ม F ต่อไป

Evolution :

การวางแผนเพื่อสร้างรากฐานอย่างเป็นระบบที่นำไปสู่ Evolution ของ วงการฟุตบอลญี่ปุ่น

หลังจากวางหมุดหมายสำคัญว่าจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2002 ญี่ปุ่นจัดการวางแผนระยะยาวเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน โดยขั้นตอนแรกคือการ สร้างฟุตบอลลีกเพื่อให้เป็นที่ฟูมฟักและดึงดูดนักเตะเยาวชนให้เข้าสู่ระบบอาชีพในปี 1992

และเพื่อเป็นการทำให้เยาวชนญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่ในเวลานั้นต่างหลงใหลได้ปลื้มกับกีฬาเบสบอลมากที่สุด หันมาสนใจ “กีฬาฟุตบอล” และลีกที่กำลังตั้งไข่ การสร้าง “ไอคอนนักฟุตบอล” ขึ้นมาเพื่อสร้างเสน่ห์ที่น่าหลงใหลจึงถูกหยิบฉวยขึ้นมาใช้ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น คิงคาซู "คาซูโยชิ มิอุระ" ที่มาพร้อมสตอรี่ชายที่มีความมุ่งมั่นไปแสวงหาความฝันนักเตะอาชีพที่ประเทศบราซิล หรือ สตอรี่เจ้าหนูดาวรุ่งนักเตะที่ได้ไปเล่นอาชีพที่อิตาลี ลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก (ณ เวลานั้น) อย่าง “ฮิเดโตชิ นากาตะ” รวมไปจนกระทั่งถึงการทุ่มเงินอย่างมหาศาลเพื่อดึงนักเตะระดับโลก อย่าง “เปเล่ขาว” ซิโก้ ตำนานแห่งบราซิล “แกรี ลินิเกอร์” หรือ “ซัลวาตอเร สกิลลาชี” อดีตดาวซัลโวฟุตบอลโลก (1986 และ 1990) มาเล่นในเจลีก ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ ได้แง่ดึงดูดความสนใจแล้ว นักเตะระดับโลกเหล่านี้ยังบ่มเพาะนักเตะญี่ปุ่นให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย

...

การพัฒนาผลงานในฟุตบอลโลกของทีมชาติญี่ปุ่น

ฟุตบอลโลก 1998 :

"ทีมชาติญี่ปุ่น" ได้มีโอกาสสัมผัสฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ซึ่งญี่ปุ่นสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญนี้ได้หลังจากก่อตั้ง “เจลีก” มาได้เพียง 6 ปี หากแต่ผลงานการเปิดตัวในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็เป็นไปอย่างที่คาด ญี่ปุ่น ภายใต้การคุมทีมของ “ทาเคชิ โอกาดะ” กุนซือจอมเครียด ซึ่งตัดสินใจอย่างห้าวหาญด้วยการตัด "คิงคาซู" ออกจากทีมชุดนี้ พ่ายแพ้ไปทั้ง 3 นัด โดยเสียประตูไปถึง 4 ลูก ยิงคืนมาได้เพียงประตูเดียวเท่านั้น (ประตูได้เสีย -3) ทำให้ไม่มีแม้แต่สักแต้มเดียว สำหรับการเดินทางกลับโตเกียว

โดยนักเตะญี่ปุ่นในชุดนั้นซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และมี “ฮิเดโตชิ นากาตะ” เป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น (21 ปี) โดย “ไม่มีแม้แต่สักคนเดียว” ที่มีโอกาสไปค้าแข้งในต่างแดน

...

** หมายเหตุ หลังจบ “ฟรองซ์ 98” “ฮิเดโตชิ นากาตะ” ได้ไปทดสอบฝีเท้าที่อิตาลีและได้สัญญานักเตะอาชีพกับสโมสรเปรูจาในที่สุด **

ฟุตบอลโลก 2002 :

ฟุตบอลโลกบนแผ่นดินเอเชียครั้งแรก ภายใต้การเป็นเจ้าภาพร่วมของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ชาวญี่ปุ่นตั้งความหวังกับนักเตะชุดนี้ไว้สูงขึ้น หลังเมล็ดพันธุ์นักเตะรุ่นเยาว์ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็น “Golden Generation” ของญี่ปุ่น เริ่มผลิดอกออกผล ไม่ว่าจะเป็น “ฮิเดะ” ที่แข็งแกร่งขึ้นและเพิ่งพาสโมสรโรมา คว้าแชมป์เซเรีย อา “ชินจิ โอโนะ” Super Rookie ที่ฉายแสงเปล่งประกายกับ เฟเยนูร์ด ร็อตเธอร์ดัม หรือ แม้กระทั่ง "จุนอิจิ อินาโมโตะ" มิดฟิลด์ดาวรุ่งที่ถูกดึงไปเล่นที่ อาร์เซนอล ภายใต้การสร้างทีมในระยะยาวของ พ่อมดขาว "ฟิลลิปป์ ทรุสซิเยร์" กุนซือชาวฝรั่งเศส ที่มารับหน้าที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 1998

...

แต่ถึงกระนั้นสำหรับฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 “ญี่ปุ่น” จบเส้นทางของตัวเองลงแค่เพียงรอบ 16 ทีมสุดท้ายเท่านั้น ด้วยสถิติ แข่ง 4 นัด (ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย) ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด แพ้ 1 นัด ยิงได้ 5 ประตู เสีย 3 ประตู (ประตูได้เสีย +2) เก็บคะแนนมาได้ถึง 7 คะแนน โดยทีมมีอายุเฉลี่ยลงมาอยู่ที่เพียง 24.4 ปี และมีนักเตะไปค้าแข้งในต่างแดน 4 คน คือที่ อิตาลี 1 คน เนเธอร์แลนด์ 1 คน และ อังกฤษ 2 คน (คิดเป็นสัดส่วน 17.39% ของจำนวนนักเตะทั้งหมด 23 คน)

ฟุตบอลโลก 2006 :

ภายใต้การคุมทีมของ “ซิโก้” และการก้าวขึ้นมาโดดเด่นของมือปืนสไนเปอร์ “ชุนสุเกะ นากามูระ” จอมทัพหมายเลข 10 ที่เล่นได้ราวกับนักเตะระดับโลกในศึกคอนเฟดเดอเรชันคัพ 2005 ทำให้ชาวญี่ปุ่น “คาดหวังเป้าหมายไว้สูงกว่าเดิม” หากแต่ “ความจริง” คือ “ความแตกแยก” ภายในทีมที่ปรากฏผ่านสื่อจากการให้สัมภาษณ์ของ “นากามูระ” ซึ่งกล่าวตำหนิ “ฮิเดะ” ผู้มากบารมีอย่างดุดันในเรื่องแท็กติกการเล่น และกดดันให้ “ซิโก้” จำยอมถอย “อดีตซุปเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของทีม” ลงไปเล่นต่ำและรับผิดชอบเกมรับให้มากขึ้น ได้สร้างบาดหมางรอยร้าวลึกภายในทีมจนกระทั่งทำให้ “ตกรอบแรก” ไปในที่สุด หากแต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ หลังจบฟุตบอลโลกครั้งนี้ “ฮิเดะ” ได้ตัดสินใจประกาศแขวนสตั๊ดไปด้วยวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น

โดยจาก 3 นัด ญี่ปุ่น ทำได้เพียง เสมอ 1 นัด และแพ้ 2 นัด ยิงได้เพียง 2 ประตู และเสียประตูไปถึง 7 ลูก (ประตูได้เสีย -5) เก็บแต้มมาได้เพียง 1 คะแนน โดยอายุเฉลี่ยของนักเตะชุดนี้เริ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 27.7 ปี และมีนักเตะออกไปค้าแข้งในต่างแดนมากถึง 6 คน โดยเล่นที่ เยอรมนี 1 คน ฝรั่งเศส 1 คน อังกฤษ 2 คน สกอตแลนด์ 1 คน และ สวิตเซอร์แลนด์ 1 คน (คิดเป็นสัดส่วน 26.09% ของจำนวนนักเตะทั้งหมด 23 คน)

ฟุตบอลโลก 2010 :

ญี่ปุ่น ตัดสินใจกลับมาใช้บริการของ “ทาเคชิ โอกาดะ” กุนซือผู้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง และนั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะภายในทีมกำลังร้อนระอุไปด้วย การแก่งแย่งความเป็น “เอส” ของทีมระหว่าง “นากามูระ” และ นักเตะดาวรุ่งที่กำลังร้อนแรง (ในเวลานั้น) อย่าง “เคสุเกะ ฮอนดะ” โดยคลิปที่ทั้งสองมีปากเสียงกันเพื่อแย่ง “ยิงฟรีคิก” ซึ่งแต่เดิมถือเป็นหน้าที่ผูกขาดของ “นากามูระ” และไม่มีใครหน้าไหนในทีมกล้าท้าทาย กลายเป็นไวรัลที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งความบาดหมางที่เกิดขึ้น ทำให้ “ทาเคชิ โอกาดะ” ต้องตัดสินใจเลือก และเขาก็ตัดสินใจเลือก “เคสุเกะ ฮอนดะ” ซึ่งเล่นเข้ากับแท็กติก “รับให้เหนียวแน่นเพื่อรอสวนกลับมากกว่า” พร้อมกับดรอป “จอมทัพหมายเลข 10” ลงไปนั่งเป็นตัวสำรอง และได้สัมผัสกับฟุตบอลโลกครั้งนี้เพียง 27 นาทีเท่านั้น!

การสยบความบาดหมางได้สำเร็จทำให้ ญี่ปุ่น โชว์ฟอร์มได้ดีขึ้น โดยลงแข่ง 4 นัด (ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย) ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด แพ้ 1 นัด ยิงได้ 4 ประตู เสีย 2 ประตู (ประตูได้เสีย +2) เก็บคะแนนไปได้ถึง 7 คะแนน โดยอายุเฉลี่ยของนักเตะชุดนี้อยู่ที่ 27.6 ปี และมีนักเตะออกไปค้าแข้งในต่างแดน 4 คน โดยเล่นที่ อิตาลี 1 คน ฝรั่งเศส 1 คน รัสเซีย 1 คน และ เยอรมนี 1 คน (คิดเป็นสัดส่วน 17.39% ของจำนวนนักเตะทั้งหมด 23 คน)

ฟุตบอลโลก 2014 :

ฟุตบอลโลกคราวนี้ ญี่ปุ่นกลับไปใช้บริการกุนซือต่างชาติจอมแท็กติก อย่าง "อัลแบร์โต ซัคเคโรนี" ชาวอิตาลี ผู้เคยพาเอซี มิลาน คว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา แถมผ่านงานคุมทีมน้อยใหญ่ในอิตาลี มาแล้วอย่างมากมาย หากแต่ “ผลงาน” ของ ญี่ปุ่น กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง นั่นเป็นเพราะ “ทีมซามูไรบลู” ตกรอบแรก ไปอย่างสิ้นท่า

ลงแข่ง 3 นัด เสมอ 1 นัด และแพ้ 2 นัด ยิงได้ 2 ประตู เสียถึง 6 ประตู (ประตูได้เสีย-4) เก็บมาได้เพียง 1 คะแนน โดยทีมชุดนี้มีอายุเฉลี่ย 27.7 ปี และมีนักเตะที่ไปค้าแข้งในต่างแดนมากถึง 12 คน โดยเล่นที่ เยอรมนี 7 คน อังกฤษ 2 คน อิตาลี 2 คน และ เบลเยียม 1 คน (คิดเป็นสัดส่วน 57.17% ของจำนวนนักเตะทั้งหมด 23 คน)

ฟุตบอลโลก 2018 :

เมื่อใช้บริการกุนซือต่างชาติแล้วไม่ประสบความสำเร็จ คราวนี้ ญี่ปุ่น จึงมอบหมายหน้าที่ให้ “อากิระ นิชิโนะ” นำทัพซามูไรบลู ซึ่งผลงานที่ออกมาก็กลับมา “ดีเกินคาดอีกครั้ง” โดยลงแข่ง 4 นัด (ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย) ชนะ 1 นัด เสมอ 1 นัด แพ้ 2 นัด ยิงได้ 6 ประตู เสีย 7 ประตู (ประตูได้เสีย -1) เก็บคะแนนมาได้ 4 คะแนน โดยไฮไลต์ของฟุตบอลโลกคราวนี้ คือ ญี่ปุ่น “เกือบ” ทะลุถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรก หลังออกนำ “เบลเยียม” ยุค “Golden Generation” ถึง 2 ประตู 0 ก่อนจะโดนยิงคืน 3 ลูกรวด ในช่วง 30 นาทีสุดท้าย แถมประตูชัยของเบลเยียม ยังเป็นการยิงในช่วงนาทีบาป (90+4) จนทำให้ญี่ปุ่นต้องตกรอบไปอย่างน่าเสียดายอีกด้วย

สำหรับอายุเฉลี่ยของนักเตะชุดนี้อยู่ที่ 29.2 ปี และมีนักเตะไปค้าแข้งในต่างแดนมากถึง 14 คน โดยเล่นอยู่ที่เยอรมนี 7 คน อังกฤษ 2 คน สเปน 2 คน เม็กซิโก 1 คน ฝรั่งเศส 1 คน และ ตุรกี 1 คน (คิดเป็นสัดส่วน 60.87% ของจำนวนนักเตะทั้งหมด 23 คน)

ฟุตบอลโลก 2022 :

สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค. 22 ญี่ปุ่นภายใต้การคุมทีมของ “ฮาจิเมะ โมริยาสุ” ลงแข่ง 3 นัด ชนะ 2 นัด แพ้ 1 นัด ยิงประตูได้ 4 ประตู เสีย 3 ประตู (ประตูได้เสีย +1) เก็บคะแนนมาได้ถึง 6 คะแนน โดยอายุเฉลี่ยของขุนพลนักเตะชุดนี้อยู่ที่ 28.6 ปี และมีนักเตะไปค้าแข้งในต่างแดนมากถึง 19 คน โดยเล่นที่ เบลเยียม 2 คน อังกฤษ 2 คน สกอตแลนด์ 1 คน สเปน 2 คน ฝรั่งเศส 3 คน เยอรมนี 8 คน และ โปรตุเกส 1 คน (คิดเป็นสัดส่วน 82.61% ของจำนวนนักเตะทั้งหมด 23 คน)

สรุปผลงาน :

จากสถิติจะเห็นได้ว่า การที่ "ซามูไรบลู" ใช้บริการกุนซือคนบ้านเดียวกัน ได้ให้ผลลัพธ์ในแง่ของผลงานที่ดีกว่า การใช้บริการกุนซือต่างชาติ โดยจากสถิติเมื่อใช้กุนซือญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก “ทีมซามูไรบลู” มีค่าเฉลี่ยชนะ 35.71% เสมอ 14.29% แพ้ 50% จากสถิติการลงเล่นรวม 14 นัด ชนะ 5 นัด เสมอ 2 นัด แพ้ 7 นัด ยิงประตูรวมได้ถึง 15 ประตู เสียถึง 16 ประตู (ประตูได้เสีย -1)

ในขณะที่เมื่อใช้บริการกุนซือต่างชาติ มีค่าเฉลี่ย ชนะ 20% เสมอ 30% แพ้ 50% จากการลงเล่นรวม 10 นัด ชนะ 2 นัด เสมอ 3 นัด แพ้ 5 นัด และยิงประตูรวมได้เพียง 9 ประตู และเสียประตูมากถึง 16 ประตู (ประตูได้เสีย -7)

ซึ่งหากถามว่า เหตุใด "กุนซือเชื้อสายญี่ปุ่น" จึงสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่า “ผู้จัดการทีมต่างชาติ” นั้น “คำตอบ” ที่น่าจะพออธิบายในประเด็นนี้ได้คือ “ฟิลลิปป์ ทรุสซิเยร์” ซึ่งคลุกคลีอยู่กับนักเตะญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน โดย “พ่อมดขาว” เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า นักเตะญี่ปุ่นถือเป็นนักเตะที่ยึดถือระเบียบวินัยแบบ 100% เต็ม สั่งให้เล่นแบบไหน พวกเขาจะเล่นตามที่สั่งชนิดที่เรียกว่าไม่ออกนอกแถวแม้แต่เพียงมิลลิเมตรเดียว ซึ่งแตกต่างจากนักเตะชาติอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป หรือ อเมริกาใต้ ที่มักจะลงเล่นด้วยการแฝงเร้นไปด้วย “อีโก้” และไม่ค่อยทำตามคำสั่งของผู้จัดการทีมมากนัก

ซึ่งถึงแม้ว่า...ระเบียบวินัยของนักเตะญี่ปุ่น จะถือเป็นเรื่องที่ดี แต่...การทำเช่นนั้น ทำให้นักเตะไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนทุกๆ วินาทีในสนามได้ ซึ่งผิดกับนักเตะจากยุโรป หรือ อเมริกาใต้ ที่มีความกล้าที่จะ “แหกกฎ” เพื่อแก้ไขการเล่นที่เสียเปรียบในสนามได้ทันท่วงทีมากกว่า”

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะทัศนคติแบบนี้ก็เป็นได้ กุนซือชาติเดียวกันจึงมีความ “เข้าใจ” ในทัศนคติการเล่นฟุตบอลของนักเตะและสามารถ “ออกคำสั่ง” ที่ “เหมาะสม” กับ พฤติกรรมของนักเตะญี่ปุ่นได้มากกว่า!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก Anon Chantanant

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง