หลังการนำเสนอข่าวกรณีวัดแห่งหนึ่งใน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีคลิปเผยแพร่ใน “TikTok” ที่หญิงสาวหลายคนนุ่งผ้าถุงกระโจมอกทำพิธีรดน้ำมนต์ จนมีเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ล่าสุดสำนักพุทธฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเจ้าอาวาสวัดกุฎีประสิทธิ์ ได้สั่งให้พระรูปดังกล่าวยกเลิกการทำพิธีทุกกรณี หากมีการฝ่าฝืนจะถูกทำโทษร้ายแรงตามวินัยสงฆ์
พฤติกรรมของพระรูปดังกล่าวมีการตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมในโลกโซเชียล หลังการนำเสนอของ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” วันนี้ (24/11/65) “บุญเชิด กิตติธรางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบ และให้ข้อมูลว่า จากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ได้แสดงถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุ โดยได้เดินทางไปสอบถามเจ้าอาวาสที่วัดกุฎีประสิทธิ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับการยืนยันว่า ผู้ประกอบพิธีเป็นพระลูกวัด ขณะนี้ได้สั่งไม่ให้ทำพิธีอาบน้ำมนต์ทุกกรณี
ทางเจ้าคณะอำเภอได้เตือนถึงภาพคลิปวิดีโอที่ออกไปทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ จากการปรึกษากับท่านเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว ก็รู้สึกเสียใจที่พระลูกวัดแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม จึงมีคำสั่งให้ยุติพิธีกรรมความเชื่อทุกกรณี แต่ประชาชนผู้ศรัทธาทั่วไปสามารถเดินทางมากราบไหว้ ทำบุญถวายสังฆทานได้ตามปกติ
สำหรับชุดกระโจมอกรดน้ำมนต์ ที่เป็นประเด็นเกิดขึ้น ได้สอบถามพระที่ทำพิธีพบว่า ชุดผ้าถุงดังกล่าวญาติโยมเป็นผู้นำมาเอง โดยทางวัดเตรียมเพียงน้ำมนต์ไว้ให้อาบ ซึ่งการทำพิธีมีการนำเครื่องรางไปสัมผัสตามร่างกาย เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลพร้อมกับการรดน้ำมนต์ แต่ภาพที่ออกมาทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า พระอาจแสดงกิริยาไม่เหมาะสม และอาจสัมผัสกับร่างกายของสีกา
...
ด้วยภาพที่ออกมาทำให้สำนักพุทธฯ แจ้งแก่เจ้าอาวาสให้ยกเลิกพิธีกรรมทันที แต่ถ้าประชาชนผู้มีจิตศรัทธาต้องการเสริมสิริมงคล จะมีจุดให้ญาติโยมนำน้ำมนต์กลับไปอาบที่บ้าน หรือประพรมน้ำมนต์ตามความเหมาะสม ที่ผ่านมาทางวัดเองก็คาดไม่ถึงว่า พิธีกรรมที่ญาติโยมนำชุดมาเองในการอาบน้ำมนต์ จะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม และเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์
หากมีการกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีก ทางสำนักพุทธฯ และเจ้าคณะอำเภอ จะมีบทลงโทษร้ายแรงกว่าเดิม เพราะการทำผิดครั้งนี้ถือว่าเป็นการแจ้งเตือน โดยท่านเจ้าอาวาสได้รับทราบและรับปากว่าจะไม่มีพฤติกรรมเหล่านี้อีก เพราะท่านเองก็เป็นพระผู้ใหญ่ การกระทำผิดที่ไม่เหมาะสมของพระลูกวัด จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการลงโทษต่อจากนี้
“กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนที่พระภิกษุและสามเณร ที่จะประกอบพิธีกรรมให้อยู่ในหลักพระธรรมวินัย ไม่เกินเลยกว่าความเหมาะสม เพื่อรักษาความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนให้คงอยู่สืบไป”.