จากกรณีข่าว 8 ปียังไม่มีใครมารับ รถเบนซ์ 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ถูกจัดฉากให้สิบล้อชน กับของกลาง รถเบนซ์ 230 อี สีขาว ของกลางในคดีสุดอื้อฉาว สองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ถูกฆ่าแล้วจัดฉากให้สิบล้อชน โยงคดีเพชรซาอุฯ ถูกเก็บไว้ที่ชั้น 7 อาคารจอดรถกองปราบฯ รอเจ้าของมารับ แต่ 8 ปีแล้วไม่มีใครมา

ขณะที่ นายสันติ ทิมวังกุ่ม อายุ 60 ปี เจ้าหน้าที่ดูแลยานพาหนะ บก.ป. เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองบังคับการปราบปรามมีอาคารจอดรถใหม่ อยู่ด้านหลังอาคารประชาอารักษ์ นอกจากจอดรถทางราชการแล้ว ยังใช้เก็บรถของกลางในคดีต่างๆ ด้วยที่บริเวณชั้น 7 อาคารจอดรถ

ซึ่ง นายสันติ ยังเล่าด้วยว่า ที่ผ่านมามีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนงานก่อสร้าง คนขับรถสิบล้อ แต่ละคนเจอประสบการณ์แปลกๆ อย่างเช่นคนขับรถบรรทุกสิบล้อมาจอดนอนรอตอนกลางวันก็โดนเหมือนมีคนมาเขย่ารถ เพราะไปจอดขวางทางขึ้นรถเบนซ์เขา

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม เกี่ยวกับ “รถของกลาง” ที่ถูกจอดไว้ในกองปราบปราม ว่ามีมากน้อยเพียงไร และเพราะเหตุใดถึงไม่มีใครมารับ กับ พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผกก.1 บก.ป. เล่าให้ฟังว่า ตราบใดที่รถยนต์เหล่านี้ยังมีเจ้าของอยู่ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

สมมติว่าเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังมีทายาทอยู่ ก็ต้องเก็บไว้ให้เพราะถือเป็นมรดก ถึงแม้มันจะเก่าทรุดโทรมเพียงไรก็ตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะตามตัวบทกฎหมายไม่ได้ทิ้งทางออกไว้ให้จำหน่ายออกไป

พ.ต.อ.เผด็จ กล่าวว่า ส่วนทรัพย์สินของกลาง ที่สามารถจำหน่ายออกไปได้ จะมีลักษณะความผิดที่มีไว้แล้วไม่มีประโยชน์ เช่น ยาเสพติด ของละเมิดลิขสิทธิ์ หรือของที่ไม่มีเจ้าของ เช่นของหนีภาษี

...

แต่กรณี รถยนต์ของกลาง ใสคดี “ศรีธนะขัณฑ์” ถือเป็นของที่เจ้าของ เมื่อเราสืบสาวราวเรื่องไป ก็พบว่าแม้เจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว แต่อนุมานได้ว่า ยังมีทายาท อยู่

“ของแบบนี้จะคาไว้ วันเวลาผ่านไป 20-30 ปี จนกว่ารถจะพังเสียหายไป จากภัยธรรมชาติ เช่น อยู่ๆ น้ำท่วม กทม. แล้วมันได้รับผลกระทบเสียหาย ทรุดโทรมตามกาลเวลา”

เมื่อถามว่า รถแบบนี้มีเยอะหรือไม่ ผกก.1 กองปราบ บอกว่า ก็พอสมควร ของกอง1 ไม่เกิน 10 คัน ส่วนกองอื่นๆ ไม่ทราบ หน้าที่การรับผิดชอบของกลางนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละกองกำกับการ ส่วนของชิ้นใหญ่ เช่น รถยนต์ อาจจะเอามาเก็บรวมกัน อย่างเช่น เก็บไว้ในอาคารจอดรถยนต์ แต่ถ้ามีของกลางมากจริงๆ บางครั้งอาจจะจำเป็นต้องเสียเงินไปเช่าที่มาเก็บของกลาง

“สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะออกระเบียบออกมา ก็ทำไม่ได้ เพราะติดตัวกฎหมายใหญ่อยู่ คือ ป.วิอาญา ซึ่งปกติแล้ว การจัดการของกลาง จะต้องมีคำสั่งของอัยการ ให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิ์ โดยอัยการจะทำหนังสือแจ้งมายังพนักงานสอบสวน”

เมื่อถามว่า รถของกลางที่จอดอยู่ ส่วนใหญ่เป็นคดีประเภทไหน ผู้กำกับกอง 1 กองปราบ บอกว่า มีบ้างที่ “รถยนต์” เป็นที่เกิดเหตุ อย่างคดี 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ แต่ถ้าทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ฟอกเงิน หนีภาษี ซึ่งหากเป็นคดีลักษณะนี้ วันหนึ่งจะมีทางจำหน่ายออกไปได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ