โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ต้องจับตาการย้ายพรรคใหม่ของเหล่า ส.ส. โดยเฉพาะปรากฏการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ ยุคจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ได้เกิดแรงกระเพื่อมหลายระลอกจากความคิดเห็นที่แตกแยกจนเลือดไหลไม่หยุด มีสมาชิกพรรคคนสำคัญลาออกไปตั้งพรรคใหม่ และขณะนี้มีหลายคนเตรียมตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

หรือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2489 และมีฐานเสียงอย่างเหนียวแน่นในภาคใต้ กำลังจะสิ้นมนตร์ขลัง ก้าวสู่ยุคร่วงโรย ปิดฉากพรรคแมลงสาบที่ฆ่าไม่ตายกำลังรอวันสูญพันธุ์ตายยกรังในไม่ช้า หรือกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก รอเสียบร่วมพรรครัฐบาล อย่างที่เคยเป็นมา แม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีการส่ง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่โปรไฟล์ดีเข้าชิงชัย ก็ยังถีบตัวไม่ขึ้น และการที่ วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ เข้ามาเสริมความแกร่งพื้นที่ กทม. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะยังห่างไกลเป้าหมายก็ได้

จากการวิเคราะห์ของ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเห็นได้จากการประสบปัญหาหลายอย่างทั้งการเมืองนอกพรรค จากการการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 จนเกิดปรากฏการณ์ "กรุงเทพฯสูญพันธ์ุ ภาคใต้ฟันหรอ" เพราะความนิยมของพรรคลดลง ส่วนการเมืองภายในพรรคก็มีปัญหา เพราะการที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งหัวหน้าพรรค อาจไม่ได้รับการยอมรับ เห็นได้จากการลงมติกฎหมายสำคัญๆ ในสภา ไม่ค่อยมีเอกภาพ และยังมีประเด็นวิวาทะกับพรรคภูมิใจไทย เป็นปัญหาที่พรรคต้องเผชิญ และไม่สามารถแก้ปัญหาให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

...

“ตรงข้ามกับพรรคภูมิใจไทย สามารถเก็บ ส.ส.จากผึ้งแตกรังได้ ทำให้ได้ ส.ส. 60 กว่าที่นั่ง ส่วนประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง ส.ส. 50 ต้นๆ จนส่งผลกระทบต่อพรรค และคนที่ไม่เคยคิดจะออกจากพรรค อย่างไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็เพิ่งประกาศลาออก น่าจะเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังมีแนวโน้มที่ ส.ส.อีกหลายคน จะตามไปด้วยร่วม 10 คน ถือเป็นวิกฤติและสิ่งน่ากังวลของพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องแก้โจทย์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะแก้ได้หรือไม่”

ขณะเดียวกัน จุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ไม่เคยนำทัพในศึกเลือกตั้ง และก่อนเลือกตั้งในปีหน้าก็คุมสมาชิกพรรคไม่อยู่ จนสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์จะเหลือบุคคลระดับแกนนำไม่กี่คน และอาจได้ ส.ส.ต่ำกว่า 30 ที่นั่ง ถือเป็นทิศทางที่ไม่ดีต่อพรรค แต่ยังไม่ถึงขั้นปิดตำนานพรรคแมลงสาบ เพราะได้ที่นั่ง ส.ส.ต่ำกว่า 30 ก็ถือว่าแย่แล้ว และหากถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยประสบปัญหาหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเคยมีการแตกตัวของสมาชิกพรรคกลุ่ม 10 มกราฯ แยกวงออกไปตั้งพรรคประชาชน สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในการเลือกตั้งปี 2531 กระทั่งมาเจอเหตุการณ์ล่าสุด แต่คงไม่ถึงขั้นสูญพันธุ์

หรือหากมีการเลือกตั้ง 2-3 ครั้ง แล้วไม่มีการปรับตัว ยังคงหวังพึ่งผู้อาวุโส แกนหลักของพรรคคงไม่ได้ เพราะก่อนหน้านั้นกลุ่มนิวเดม ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคหลายคน อาทิ ไอติม พริษฐ์ ได้เข้าไปสังกัดพรรคก้าวไกล เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ง่าย อย่างในอดีตที่เคยสร้างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาก่อน แต่สุดท้ายก็ต้องไปจากพรรค เพราะแสดงจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อ

“การทำงานในพรรคประชาธิปัตย์คล้ายๆ ระบบราชการ ใครที่จะเข้ามาจะต้องถูกหล่อหลอม หากไม่ทำก็ต้องออกไป ยิ่งเด็กรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง จะให้อยู่ในกรอบคงอยู่ไม่ได้ จึงไม่สามารถสร้างคนรุ่นใหม่ได้สักคน ให้มาแทนคนเก่าแก่ที่วันหนึ่งก็ต้องออกจากพรรค”

ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามองว่าอย่างไรแล้วพรรคประชาธิปัตย์ ต้องอยู่กับอำนาจรัฐ เพราะต้องการฟื้นฟูพรรคจากงบประมาณ จากกิจกรรมต่างๆ ที่มาจากระบบราชการ เพราะหากเป็นฝ่ายค้านคงไม่สามารถอยู่ได้ และที่ผ่านมาแม้ทางพรรคได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แทบไม่เห็นการเข้ามาแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงได้ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรของทางการ

...

ขณะที่เส้นทางการเมืองของจุรินทร์ ก็คงต้องอาศัยผู้ใหญ่ในพรรคคอยช่วยเหลือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว และในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงเห็นจุรินทร์ นั่งหัวหน้าพรรคอีกต่อไป เพราะไม่มีใครเป็นตัวเลือกในพรรคที่ดีกว่านี้แล้ว และยังไม่เห็นคนรุ่นใหม่เข้ามา แม้จะมี ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือการเข้ามาของมาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค เพราะไม่เคยเป็น ส.ส.เขต คงไม่สามารถดึงคะแนนนิยมของพรรคในพื้นที่ กทม. กลับมาได้อย่างที่คาดหวังไว้ แต่อาจได้เก้าอี้ ส.ส.ใน กทม.บ้าง 5-6 ที่นั่ง เพราะพื้นที่ กทม.มีตัวเลือกจากหลายพรรคการเมือง

ส่วนที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้ อาจได้เท่าเดิม หรือต่ำกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่บนปากเหว เพราะแม้แต่ไตรรงค์ ยังลาออก และคงมี ส.ส.ตามไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติอีก 10 คน จากเดิมที่มี ส.ส. 50 กว่าคน หรือเท่ากับว่ามี ส.ส.หายไปประมาณ 20% และคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้จะถูกเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ จะเลือก พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เช่นกัน

...

“เป็นการแยกกันเดิน เพราะบริบทการเมืองเอื้ออำนวย ไม่เชื่อว่า 2 ป.จะขัดแย้ง แต่ต้องพยายามรักษาโครงสร้างอำนาจระบบ คสช.เอาไว้ ไม่มีทางแตกคอกันแน่นอน และการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะถูกแซะก็ไม่มีทาง เพราะอยู่มหาดไทยมานาน 8 ปี จนสร้างฐานไว้แน่น แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติสามารถทำให้ทุกอย่างในการเมืองไทยเกิดขึ้นได้ตลอด อาจไม่มีเลือกตั้งก็ได้ หรืออาจยุบสภาหลังประชุมเอเปก ยืดเวลาให้ถึงเดือนมีนาคม เพื่อให้ได้เปรียบทางเทคนิค เท่ากับว่าระยะเวลารักษาการ 2 เดือน มีโอกาสเป็นไปได้มากสุดจะเกิดเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปีหน้า และการปรับ ครม.ในช่วงนี้ให้เลิกคิดไปเลย เพราะยากมาก”