• การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย หลังเผชิญกับวิกฤติโควิดมายาวนาน 3 ปี กระทั่งที่ประชุมครม. 25 ต.ค. 2565 ได้ไฟเขียวหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทยการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง

  • เดิมกำหนดระยะเวลาลงทุนของต่างชาติไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ฉบับใหม่ลดเหลือ 3 ปี ส่วนจำนวนเงินลงทุนยังคงเดิมไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น โดยฉบับใหม่รองรับเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท 1. ผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. ผู้เกษียณอายุ 3. ทำงานในไทย และ 4. ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

  • ขณะเดียวกันยังปรับปรุงเพิ่มประเภทการลงทุน อาทิ การลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลไทย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน หากถอนการลงทุนก่อน 3 ปี ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 60 วัน

...

ถือเป็นการปัดฝุ่นใหม่ด้วยการแก้ไขกฎกระทรวงในการถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ของชาวต่างชาติ โดยการดึงดูดกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนตามการคาดหวังของรัฐบาล หรืออาจเป็นกฎหมายขายชาติจากการตราหน้าของคนในสังคมจะต้องติดตามดู

ในความเห็นส่วนตัวของ "ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข" คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่า การแก้ระเบียบถือครองที่ดินของต่างชาติไม่มีนัยต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการให้ถือครองที่ดิน 1 ไร่ การกำหนดกลุ่มประเภทผู้ถือครอง หรือการให้ถือวีซ่าระยะยาว เพราะหากคนต่างชาติกลุ่มนี้จะเข้ามาเพื่อถือครองที่ดิน ก็แค่การกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีความจำเป็น แต่ควรมีมาตรการอื่นออกมาจะดีกว่า

หากมองแบบเป็นกลาง จะมีข้อดีในแง่ที่ว่ามีการวางเงื่อนไขให้คนที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษได้เข้ามา ซึ่งในต่างประเทศไม่สนใจว่าจะเชื้อชาติอะไร แต่สนใจว่ามีความสามารถอะไร อย่างนโยบายของสิงคโปร์ รวมทั้งเยอรมัน และอังกฤษ เพราะโลกที่จะเปลี่ยนในอนาคตเกิดจากคนเหล่านั้น แค่การให้ถือครองที่อยู่อาศัยนั้นไม่ใช่ แล้วจะเลือกมาอยู่ไทยหรือไม่ ยังไม่รวมถึงเศรษฐีมีทรัพย์สินพันล้าน ไม่เห็นสักคนจะเข้ามาอยู่ในไทย เพราะการจะใช้ชีวิตอยู่ที่ใดไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินก็ได้

“มาตรการนี้อาจได้ผลบ้างจากกฎหมายของเรา ยอมให้ต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านอยู่แตกต่างกับคนไทย แต่ให้สิทธิเท่ากัน อาจทำให้คนไทยเกิดคำถามว่าเราอยากได้อะไรบ้างจากต่างชาติ เพราะเงินลงทุน 40 ล้านนั้นจิ๊บจ๊อยมากไม่ใช่เฉพาะต่างชาติ คนไทยยังมองว่าจิ๊บจ๊อย ทำให้กลัวว่าเงินลงทุน 40 ล้าน จะกลายเป็นว่าฝรั่งที่ไม่รวยมาก อาจอยากมาอยู่ในไทยใช้ชีวิตอย่างราชา และจะรู้ได้อย่างไรจะไม่เอารัดเอาเปรียบดูแคลนพวกเรา จะต้องมีกฎหมายกำกับดูแล เพราะเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ไทยจะได้อะไรหรือไม่ หรือหากเข้ามาอาจสร้างความเดือดร้อน แล้วตำรวจไทยจะกล้าจับหรือไม่”

ที่ผ่านมาไทยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย อาจปรับปรุงกฎหมายการลงทุนที่มีอยู่นำมาใช้ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังโชคดีกว่าหลายประเทศ ควรหานโยบายอย่างอื่นมาใช้จะดีกว่า และการที่ออกมาพูดในเรื่องนี้ไม่ได้รังเกียจต่างชาติ แต่เกรงว่าอาจมีกลุ่มที่มีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและค้าอาวุธ เข้ามาฟอกเงินในไทย อยากเสนอให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขคนเข้ามาในประเทศ เพราะการที่ต่างชาติจะเป็นเจ้าของที่ดินไม่ใช่สิ่งสำคัญ ไม่เหมือนกับคนไทยที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และมีต่างชาติจำนวนมากไม่ต้องการแบบนี้

...

หวั่นปัญหาลุกลาม เข้าทางคนจีน บีบคนไทยไปอยู่ชายขอบ

สิ่งที่คิดเข้าใจว่า กฎกระทรวงนี้น่าจะชั่วคราว เพราะจะหวังประสิทธิภาพจากเป้าหมายคงไม่ได้ และเกรงว่าจะเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โต กลายเป็นว่าคนไทยต้องไปอาศัยอยู่ชายขอบหรือชานเมืองที่ห่างไกล ส่วนต่างชาติมาถือครองที่ดินใจกลางกรุง เช่น ย่านสุขุมวิท จนสร้างความไม่พอใจเกิดความวุ่นวายขึ้นมา จะต้องระมัดระวังในการให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดิน กลายเป็นว่าพวกเราสร้างรถไฟฟ้าให้ต่างชาติใช้ และสุดท้ายคนไทยลำบากกลายเป็นคนเก็บขยะ กวาดถนน

“คิดในแง่ดีหากต้องการให้เขามาลงทุน ควรต้องมีระยะเวลากำกับการถือครองที่ดินประมาณ 30 ปี หากอยากให้ไปลงทุนสร้างโรงงานมูลค่าพันล้าน ก็ต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุน นอกจากการให้ที่อยู่อาศัย โดยมีกฎหมายควบคุมให้ตั้งโรงงานได้ 20-30 ปี ก็น่าจะคุ้ม เพราะถ้าไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนคงไม่มีใครมาซื้อที่ดิน ยกเว้นให้สัญชาติไทยกับเขา อาจทำให้อยากซื้อที่ดินก็ได้”

นอกจากนี้อยากเสนอให้กทม.พัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้มีความสมบูรณ์ เพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาอยู่และเก็บภาษีให้เป็นรายได้ของกทม. เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อต่างชาติมาซื้อบ้านและลงทุนในไทยไม่ต้องเสียภาษีหรือไม่ หากไม่ต้องเสียภาษีควรหาช่องทางอื่นให้ไทยได้ประโยชน์จริงๆ จะดีกว่า และคาดว่าเศรษฐีจีนจะหอบเงินมาซื้อที่ดินในไทยอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถซื้อที่ดินในประเทศจีนได้ และยิ่งวีซ่าเข้าไทยของ่ายยิ่งเอื้อให้กับคนจีน อาจกระทบคนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง จากราคาที่ดินแพงขึ้น

“สถานการณ์เงินเฟ้อขณะนี้แทนที่คนจีนจะถือเงินหยวนเอาไว้ ก็จะหอบเงินมาซื้อที่ดินในไทย เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากสุด แม้ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเจอต่างชาติแห่เข้ามาเยอะหรือไม่ เพราะมีคนเข้าเงื่อนไขนี้มีพอสมควร คิดว่าน่าจะเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการขายชาติอย่างที่หลายคนคิด แต่อาจเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมามากกว่า”.

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา