• ในที่สุด กสทช.ได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ภายหลังเสียงเห็นชอบและคัดค้าน เสมอกัน 2 ต่อ 2 และของดออกเสียง 1 เสียง ทำให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุม กสทช. ออกเสียงอีกครั้งหนึ่งเพื่อชี้ขาดสนับสนุนการควบรวม ทำให้มติออกมาเป็น 3 ต่อ 2

  • ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นว่า การควบรวมธุรกิจในกรณีนี้ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นว่า เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลด หรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่ง ศ.พิรงรอง รามสูต หนึ่งใน กสทช. เสียงข้างน้อย เห็นว่า แม้ กสทช.จะออกมาตรการมีการกำกับดูแล แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และกังวลจะเกิดกลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม

  • ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 3 บริษัท “เอไอเอส-ทรู-ดีแทค” รวม 80 ล้านเลขหมาย หากการควบรวมเกิดขึ้น จะทำให้มีผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย อาจทำให้สัดส่วนแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น จาก 220 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 235-480 บาทต่อเดือน ล่าสุดสภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่รอช้าเตรียมยื่นขอให้ศาลปกครองคุ้มครองฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการควบรวม และร้อง ป.ป.ช. ดำเนินการกับ กสทช. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

...

มติ กสทช.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 หลังมีการพิจารณายาวนาน 11 ชั่วโมง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? “นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” อดีต กสทช. กล่าวว่า มติ กสทช. เสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ถือว่ามีผลตามกฎหมายในการรับทราบการควบรวมธุรกิจ และเป็นประกาศชัดว่า กสทช.ไม่มีอำนาจชี้ขาด หรือเปิดไฟเขียวให้ควบรวม เพราะเป็นการใช้อำนาจในการกำหนดเงื่อนไขมาตรการเฉพาะก่อนการควบรวมธุรกิจ เช่น การจัดส่งแผนการควบรวมให้ กสทช.พิจารณาก่อน

“ถือว่าขณะนี้ยังติดไฟเหลืองอยู่ เพราะต้องดูว่าเอกชนรับเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดได้หรือไม่ อาทิ ห้ามควบรวมกิจการอย่างน้อย 3 ปี ห้ามใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน ยกเว้นเป็นไปตามประกาศ กสทช. ห้ามประกอบกิจการโดยใช้คลื่นความถี่ที่เป็นสิทธิเฉพาะตัว และยังเปลี่ยนมือไม่ได้”

นอกจากนี้ กสทช. พยายามจะทำให้ประโยชน์ของการควบรวมมาตกถึงมือผู้บริโภค ดูได้จากมาตรการกำกับราคาเฉลี่ยในอนาคต รวมถึงการเฉลี่ยต้นทุน ข้อกำหนดโปรโมชันราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย และหลังจากควบรวมสำเร็จ จะมีการปฏิรูปสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเพียง 2 ราย ทาง กสทช.ต้องออกเงื่อนไขใหม่เพื่อให้อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน

ยื่นศาลขอคุ้มครองชั่วคราว ซัด กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ รู้สึกผิดหวังที่ กสทช.ไม่ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ และมีมติรับทราบแบบมีเงื่อนไข ทั้งที่ศาลปกครองและสำนักงานกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยว่ากรณีนี้อยู่ในอำนาจของ กสทช. ถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเป็นต้องเร่งฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ให้ไต่สวนเป็นการฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษา และร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ กสทช. ส่วนการที่ กสทช. กำหนดเงื่อนไขและมาตรการก่อนการควบรวมนั้น เห็นว่าควรออกมาตรการเพื่อป้องกันปัญหามากกว่า ด้วยการไม่พิจารณาให้ควบรวมตั้งแต่แรก

“กสทช. อย่างน้อย 2 ท่าน ที่ลงมติรับทราบ ถือว่าเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ผู้เสียหายทั้งหลายสามารถมาร่วมได้ ใครที่เป็นลูกค้าของทั้งทรู หรือดีแทค เพียงมีใบเสร็จก็สามารถมาร่วมฟ้องคดีได้ สามารถติดต่อมาได้เลย เพราะมติของ กสทช. เป็นที่สุด อุทธรณ์ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องตรงไปที่ศาลปกครองเลย”

...

ควบรวม ยิ่งผูกขาดมากขึ้น ผลลบต่อผู้บริโภค-ระบบเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านั้น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เห็นว่า การควบรวมจะทำให้โครงสร้างตลาดโทรศัพท์มือถือ และโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น จากจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และเมื่อตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้ว ไม่น่าจะมีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการได้อีก

เมื่อพิจารณาเงื่อนไข และมาตรการเฉพาะของ กสทช. เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้น พบว่า มาตรการส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต แต่เมื่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยอิ่มตัวแล้ว จึงไม่สามารถทำให้ตลาดกลับไปมีผู้ประกอบการ 3 รายได้อีก ส่วนมาตรการไม่ให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากขึ้น เป็นมาตรการที่ กสทช.ประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ากำกับดูแลได้จริง และไม่อาจคาดหวังได้ว่าเมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ยิ่งทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นไปด้วย

"มาตรการ 14 ข้อที่ออกมา จึงไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน และน่าจะกลายเป็นเพียงการเล่นกล เพื่อแสดงให้เห็นได้ว่าการควบรวมจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถควบรวมได้ตามที่ต้องการเท่านั้น".

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา