• เงินหนา เส้นใหญ่ มีโอกาสได้ขึ้นเป็นผู้กำกับโรงพัก สะท้อนวงจรร้ายของระบบตำรวจ ที่ถูกระบบเงินและอำนาจทางการเมืองแทรกแซง จนทำให้การดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาล้มเหลวมาแล้วหลายราย

  • มีการเสนอให้วางเกณฑ์การคัดเลือกผู้กำกับสถานีตำรวจ ต้องเคยนั่งเก้าอี้รองผู้กำกับในพื้นที่เดียวกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และต้องรู้งานสอบสวน จราจร เพื่อเข้าใจการทำงานของลูกน้อง

  • ที่สำคัญต้องเคยทำงานในโรงพักมาแล้ว 6-8 ปี เพราะตำรวจเก่งต้องเชี่ยวชาญงานป้องกันในพื้นที่ ไม่ใช่ไล่จับคนร้ายสร้างผลงาน ซึ่งนายที่ดีต้องเป็นแบบอย่างให้ผู้ใต้บังคับบัญชีมีความสุข 


มีการตั้งข้อสงสัยจากเหตุอดีตตำรวจที่กราดยิงใน จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อาจมาจากความเคียดแค้นหลังถูกให้ออกจากราชการ และยังมีเป็นประเด็นคาราคาซังมานานในวงการสีกากี คือ ระบบการแต่งตั้ง โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้กำกับที่ดูแลโรงพัก ซึ่งต้องมีการทำงานใกล้ชิดกับประชาชน แต่หลายครั้งที่ผ่านมามักถูกตั้งคำถาม

“กินงบ รบช้า ลีลาเยอะ ใจไม่ถึงพึ่งลำบาก หาตัวยาก แต่อยากเป็น” เป็นวลีเด็ดของ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” หรือ "บิ๊กต่อ" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บนเวทีการมอบนโยบายด้านการป้องกันปราบปรามให้แก่ตำรวจทั่วประเทศ ทำให้ผู้กำกับโรงพักบางแห่งหนาวๆ ร้อนๆ

...

บันไดสู่ผู้กำกับต้องเคยทำงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3 ปี

“ผู้การ วิสุทธิ์ วานิชบุตร” อดีตนายตำรวจมือปราบชื่อดัง เล่าถึงปัญหาการแต่งตั้งของวงการสีกากี ว่า การทำงานของผู้กำกับสถานีตำรวจมีความสำคัญ เพราะอยู่ใกล้ชิดในพื้นที่ สามารถให้คุณและโทษกับประชาชน แต่ที่ผ่านมาในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจ กลับมีระบบอุปถัมภ์โดยใช้เส้นสายและเงินในการแทรกแซงเพื่อให้ได้ตำแหน่ง โดยระบบนี้จะมีการแบ่งพื้นที่โรงพักเป็นระดับเกรดต่างๆ

“ในวงการมีการคุยกันว่า ถ้าอยากอยู่โรงพักเกรดเอ ต้องมีเงินอย่างต่ำ 5 ล้านบาท แต่ถ้ามีเส้นฝากมาด้วยอาจลดเหลือ 2-3 ล้านบาท เมื่อได้รับตำแหน่งก็ต้องไปถอนทุนคืน คนที่ใช้เส้นบางรายจะให้ผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ เมื่อถึงช่วงเวลาการเลือกตั้ง กลุ่มเหล่านี้จะเอื้อผลประโยชน์ระหว่างกัน การแต่งตั้งที่ผ่านมาจึงค่อนข้างมีปัญหา เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ความเหมาะสม”

ที่ผ่านมาการแต่งตั้งผู้กำกับประจำสถานีตำรวจ มักมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมีการออกกฎหมายว่า ต้องเคยทำหน้าที่รองผู้กำกับในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นสารวัตรในจังหวัดไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เคยถูกร้องเรียนในกรณีต่างๆ ขณะเดียวกันต้องเคยดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวน หรืออยู่ในกองบัญชาการดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี

การวางหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งผู้กำกับ เป็นสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องทบทวน โดยไม่ควรมีการแต่งตั้งโยกย้ายนอกพื้นที่ เช่น พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ต้องมีการแต่งตั้งภายในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในการดูแล เพื่อเปิดโอกาสให้นายตำรวจคนนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่หลากหลายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และอนาคตจะทำให้นายตำรวจคนนั้นเป็นผู้กำกับที่จะเข้าใจการทำงานทุกอย่างในโรงพัก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงเข้าใจความรู้สึกของประชาชนในท้องถิ่นนั้น

“ตัวอย่างเช่นการแต่งตั้งตำรวจในสหรัฐอเมริกา จะมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจให้อยู่ในมลรัฐเดียวกัน ไม่ได้เหมือนไทยที่แต่งตั้งไปอยู่เหนือ อีสาน ใต้ มั่วกันไปหมด ทำให้ไม่รู้ถึงสภาพของพื้นที่ และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ทำให้การทำงานจะไกลจากชุมชน และไม่ได้รับความร่วมมือกับคนในพื้นที่”

การเป็นผู้กำกับของโรงพัก ต้องเข้าใจงานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น งานปราบปราม งานจราจร ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการคัดเลือกคนดีเข้ามาทำงาน สิ่งสำคัญหลักเกณฑ์การแต่งตั้งไม่ควรมีข้อยกเว้น

“ที่ผ่านมาเมื่อเขียนระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง จะมีการระบุต่อท้ายถึงข้อยกเว้น ที่เป็นปัญหาให้เกิดระบบเส้นสาย ตัวอย่างเช่น ระบุว่า ถึงอย่างไรก็ตามจะมีข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์ทางราชการ จึงให้พิจารณาไปตามความเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งการระบุข้อความในลักษณะนี้ถือเป็นช่องว่างให้พวกคนมีเงิน มีเส้นสาย อาศัยผลประโยชน์กับสิ่งนี้”

ตำรวจเก่งต้องทำงานป้องกันดี ไม่ใช่ไล่จับคนร้าย

“ผู้การวิสุทธิ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการพิจารณาแต่งตั้งผู้กำกับจะต้องมีการสอบถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เพื่อให้ร่วมออกความเห็นถึงความเหมาะสม และจะเป็นข้อมูลประกอบการแต่งตั้ง เพื่อให้มีการคัดสรรที่รับฟังความเห็นของคนทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น

สิ่งสำคัญของคนที่เป็นผู้กำกับได้ ต้องมีประสบการณ์ทำงานในโรงพักไม่น้อยกว่า 6-8 ปี เพราะจะได้เข้าใจการทำงาน และเข้าใจถึงหัวอกของลูกน้องในตำแหน่งต่างๆ แต่ที่ผ่านมามีบางกรณีที่เป็นเด็กติดตาม พอนายจะเกษียณก็เร่งแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับ ทั้งที่ไม่เคยทำงานโรงพัก ทำแต่งานเอกสารในกองบัญชาการ เลยทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเจ้านายไม่เคยรู้เรื่องงานสอบสวน หรืองานจราจรมาก่อน

...

“ตำรวจที่มีความสามารถต้องเก่งในเรื่องงานป้องกันปราบปราม ไม่ใช่เก่งแต่จับคนร้ายหลังเกิดเหตุ ซึ่งผู้กำกับโรงพักที่ดีต้องมีประสบการณ์ ไม่ใช่ว่ามัวแต่ฟังลูกน้องใกล้ชิดอย่างเดียว”

การดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาประกอบด้วยหลักทางกฎหมายและหลักปฏิบัติ แต่ถ้าผู้กำกับขาดหลักคุณธรรมและจริยธรรม ก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดตามไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ตามมา

“รุ่นน้องที่กำลังก้าวมาสู่การเป็นผู้กำกับ ควรจะต้องปฏิบัติตัวให้ประชาชนอุ่นใจ ไม่ใช่ให้ประชาชนหวาดกลัว สีกากีบนเครื่องแบบที่ใส่คือสีของแผ่นดิน ที่ควรจะต้องทำงานเพื่อประชาชนในแผ่นดินนี้ ปกครองลูกน้องทุกคนอย่างเป็นธรรม ซึ่งถ้าผู้กำกับไม่ทำชั่ว รีดไถประชาชน พวกลูกน้องก็ไม่กล้าทำผิด”

ภาพความเครียด คลั่ง แค้น ที่สะเทือนวงการสีกากี หลายกรณีย่อมทำให้ผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องนำมาขบคิดเพื่อแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง.

ผู้เขียน : ปักหมุด