ภารกิจว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของ โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ กลายเป็นดราม่าถูกวิจารณ์อย่างดุเดือด จนแฮชแท็ก #โตโน่ ขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ แม้นักร้องนักแสดงชื่อดังคนนี้มีเจตนาดีในการทุ่มแรงกายแรงใจ ต้องการระดมทุน 10 ล้านตามที่ตั้งเป้า จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลไทย และ สปป.ลาว ภายใต้โครงการ "One Man & The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้" ด้วยการว่ายน้ำตัวเปล่าในวันที่ 22 ต.ค. ระยะทาง 15 กิโลเมตร ไป-กลับจากลานองค์พญาศรีสัตตนาคราช เขตเทศบาลเมืองนครพนม จ.นครพนม กับวัดพระธาตุศรีโคตรบอง แขวงคำม่วน สปป.ลาว

แต่ด้วยช่วงนี้ฝนตกหนัก อาจมีพายุ และกระแสน้ำในแม่น้ำโขงเชี่ยวกราก ทำให้คนเป็นห่วง เกรงว่าจะเป็นอันตราย และหลายคนไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมนี้ อยากฝากให้คิดในการระดมทุนด้วยวิธีอื่นยังมีอีกหลายวิธี ไม่ต้องเอาชีวิตตัวเองมาเสี่ยงขนาดนี้ หรืองบสาธารณสุขไม่เพียงพอ เหตุผลใดที่ประชาชนต้องระดมทุนกันเอง เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อาจทำให้หมอ พยาบาล และทีมกู้ภัย เหนื่อยเปล่าๆ จากกิจกรรมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของโตโน่

...

คำวิจารณ์ด้านลบมากมาย หรือแม้แต่คนในครอบครัว และ “ณิชา” แฟนสาว ก็ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นห่วง แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อจิตใจโตโน่ ยังคงยืนยันจะทำสิ่งที่ท้าทายในชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยทุกๆ คน รวมถึง หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เหน็ดเหนื่อยทุ่มกำลังกายกำลังใจเพื่อช่วยแต่ละชีวิต

จุดว่ายน้ำของโตโน่ ข้ามแม่น้ำโขง
จุดว่ายน้ำของโตโน่ ข้ามแม่น้ำโขง

ในทางวิชาการ “ผศ.ดร.นิรอมลี มะกาเจ” หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระบุว่า การว่ายน้ำ 15 กิโลเมตร สามารถทำได้สำหรับคนที่มีร่างกายสมบรูณ์แข็งแรง แต่ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายให้ฟิต มีการซ้อมอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้มีความปลอดภัย เพราะการว่ายน้ำต้องใช้สมรรถนะทางร่างกายหลายส่วน ทั้งระบบเลือด กล้ามเนื้อต่างๆ แบบแอโรบิก มีการเคลื่อนไหวทุกส่วน โดยเฉพาะการว่ายน้ำในน้ำหลาก

“ต้องมีความเข้มข้นมากในเรื่องความพร้อมของร่างกาย ซึ่งการว่ายในแม่น้ำโขงต่างกับการว่ายในสระทั่วไป ถามว่าทำได้หรือไม่ ก็ทำได้ เคยมีคนว่ายน้ำต่อเนื่องระยะทาง 80 กิโลเมตรขึ้นไปมาแล้วในหนึ่งวัน แต่สมรรถนะทางร่างกายต้องฟิตมาก คิดว่าโตโน่ทำได้ เพราะเป็นคนออกกำลังกาย แต่ต้องซ้อมหนัก เพราะการว่ายน้ำใช้ทุกส่วนของร่างกาย”

ยกเว้นคนไม่เคยว่ายน้ำมาอย่างต่อเนื่องจะค่อนข้างยากและน่ากลัว เพราะกล้ามเนื้อจะล้า ทำให้เป็นตะคริวได้ง่าย โดยเฉพาะในน้ำหลาก มีโอกาสเป็นตะคริวได้มากกว่า ทำให้ไม่แน่ใจว่าโตโน่จะสามารถทำได้หรือไม่ ต้องผ่านการตรวจสมรรถภาพร่างกายทางวิทยาศาสตร์การกีฬา และต้องซ้อมอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ขึ้นไป ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำโขง ซึ่งไม่ใช่สระทั่วไป แม้แต่นักกีฬาว่ายน้ำทั่วไปยังหนักสำหรับการว่าย 15 กิโลเมตร หากไม่ซ้อมก็จะลำบาก

โตโน่ ว่ายน้ำทะเลข้ามเกาะ เมื่อปี 2563
โตโน่ ว่ายน้ำทะเลข้ามเกาะ เมื่อปี 2563

...

“ยอมรับก็กังวลอยู่ คิดว่าถ้าโตโน่จะว่ายน้ำในแม่น้ำโขงก็ต้องซ้อม ไม่เช่นนั้นอันตรายมาก ต้องมีทีมงานให้คำปรึกษาในการซ้อมและเช็กความฟิต เมื่อพร้อมทุกอย่างทำให้โตโน่ประกาศออกมาว่าจะทำกิจกรรมนี้ แต่มีสิ่งหนึ่งไม่แน่ใจว่าจะว่ายต่อเนื่องหรือไม่ อย่างตูน บอดี้สแลม ก็ไม่ได้วิ่งทีเดียวรวด น่าจะว่าย 5 กิโลฯ แล้วพักก่อนไปต่อ ยกเว้นซ้อมมาอย่างดี และมีทีมงานคอยดูแลความปลอดภัย”

นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานแล้ว บางคนอาจมีโรคประจำตัวเป็นโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคหัวใจ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับนักกีฬาหลายคนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งต้องตรวจอย่างละเอียด อีกทั้งแรงดันใต้น้ำ และน้ำไหลหลาก จะต้องสำรวจเส้นทางน้ำ เพราะบางจุดน้ำจะวน เช่นเดียวกับกีฬาเรือใบ หรือเรือพาย เพราะปัจจัยภายนอกบางครั้งควบคุมได้ยาก และอาจเกิดสิ่งคาดไม่ถึง ไม่เหมือนสระทั่วไป อยากให้ว่ายแบบเก็บสะสม ไม่ต้องว่ายในวันเดียวจะปลอดภัยกว่า

แต่ดูเหมือนโตโน่จะว่ายให้จบในวันเดียว เพราะเป็นความท้าทาย ทำให้อดเป็นกังวลไม่ได้ หากไม่เคยว่ายน้ำระยะทาง 15 กิโลเมตรมาก่อน เกรงว่าร่างกายจะปรับตัวไม่ได้ เหมือนรถไม่เคยขับไปบนภูเขาสูง ต่อให้เป็นรถใหม่อาจเครื่องรวนทำให้รถดับได้ อยากฝากไปถึงโตโน่ ว่ากิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม ทดสอบความฟิต อยากให้ฝึกซ้อมให้สามารถว่ายน้ำไปถึงเป้าหมาย เพราะขีดความสามารถของมนุษย์สามารถทำได้อยู่แล้ว

...

“ควรฝึกซ้อมในสภาพที่ใกล้เคียงกัน และเรื่องอาหารก็สำคัญต้องเตรียมเรื่องโภชนาการ ในการกินคาร์โบไฮเดรต เพื่อสร้างไกลโคเจน ใช้เป็นพลังงานเหมือนเชื้อเพลิง สำหรับการออกกำลังกายที่ใช้เวลานาน อย่างการวิ่งมาราธอนใช้เวลา 10 ชั่วโมงขึ้นไป และควรแบ่งช่วงการว่ายน้ำ ก็จะสร้างความสบายใจให้กับฝ่ายเชียร์และทีมดูแล”.